การรถไฟฯทวงคืนพื้นที่กรรมสิทธิ์ เปิดทางก่อสร้างรถไฟสายสีแดง สัญญาที่ 1

0
133

การรถไฟฯสนธิกำลังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการลงพื้นที่การทวงคืนพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองการรถไฟฯ ในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ลั่นหากมีการขัดขวางการปฏิบัติการดังกล่าว จะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ย้ำไม่เคยมีสัญญาเช่ากับบุคคลหรือหน่วยงานใด

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กองบัญชาการตำรวจจราจร ๐๒ กองบังคับการตำรวจรถไฟ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ. บช.น) และสำนักงานเขตจตุจักร (กทม.) ร่วมสนธิกำลังดำเนินการปฏิบัติงานลงพื้นที่การทวงคืนพื้นที่ในกรรมสิทธิ์ครอบครองของการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต สัญญาที่ 1

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า พื้นที่ก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ – รังสิต สัญญาที่ 1 ในปัจจุบันใกล้จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกทั้งในพื้นที่บริเวณก่อสร้างยังมีผู้บุกรุกอยู่ในพื้นที่ของการรถไฟฯ ที่ยังไม่ได้มีการรื้อย้ายออกทำให้ผู้รับจ้างฯ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างได้ตามแผนงานที่กำหนด ก่อให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างฯ และผู้รับจ้างอาจถือเป็นเหตุขอขยายระยะเวลาสัญญาจ้าง ทำให้ภาครัฐเกิดความเสียหายอย่างยิ่ง

ดังนั้น การรถไฟฯ ต้องดำเนินการผลักดันผู้บุกรุกในพื้นที่การก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. พื้นที่งานสัญญาที่ 1 พื้นที่งานก่อสร้างโรงงานซ่อมบำรุงและเก็บรักษาขบวนรถไฟฟ้า ที่ผู้บุกรุก กีดขวางงานก่อสร้าง 2. พื้นที่งานก่อสร้างถนนและแนวรั้วรอบพื้นที่โครงการฯ สถานะผู้รับจ้างฯ ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ ดังนี้ พื้นที่บริเวณใต้ทางยกระดับเข้าออกสถานีกลางบางซื่อ,พื้นที่บริเวณสถานีบริการก๊าซ NGV เดิม ฝั่งถนนกำแพงเพชร 2 (พื้นที่ 35 ไร่) ,พื้นที่ห้องแถวชั้นเดียว 20 ห้อง ฝั่งถนนกำแพงเพชร 2 (พื้นที่ 35 ไร่) จ่ายค่ารื้อถอนแล้วผู้บุกรุกไม่ยอมรื้อถอนตามข้อตกลง ,พื้นที่บริเวณอาคารพักอาศัยอาคารโฮปเวลล์ 2 ชั้น จำนวน 2 อาคาร หลังสถานีบริการก๊าซ NGV เดิม

รวมถึงพื้นที่บริเวณริมถนน BS7 มีผู้บุกรุกรายใหม่เข้ามาประกอบธุรกิจและค้าขาย โดยไม่มีสัญญากับการรถไฟฯ ตามระเบียบที่กำหนดเงื่อนไขไว้ ผู้บุกรุกที่อยู่ในพื้นที่ในปัจจุบันเป็นผู้บุกรุกรายใหม่ที่การรถไฟฯ จะไม่จ่ายค่าชดเชยใด ๆ ทั้งสิ้น และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ก่อสร้างของโครงการฯ โดยพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมด เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และปัจจุบันการรถไฟฯ ไม่ได้มีการให้เข้าใช้พื้นที่บริเวณนี้กับบุคคลหรือหน่วยงานใด ๆ ทั้งสิ้น

การรถไฟฯ มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การก่อสร้างของโครงการฯ สามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากภายในเดือนตุลาคม 2562 นี้ การรถไฟฯ จะทำการขนย้ายขบวนรถไฟฟ้าของโครงการเข้ามาเก็บให้พื้นที่โรงงานซ่อมบำรุงในบริเวณใกล้เคียงกับผู้บุกรุกอยู่อาศัย ซึ่งขบวนรถไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น มีมูลค่าสูงและยังเป็นวัสดุปกรณ์ที่ต้องสั่งทำเฉพาะ หากเกิดความเสียหายหรือสูญเสียอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระยะเวลาเปิดการให้บริการเดินรถที่กำหนดไว้ด้วย

นายวรวุฒิกล่าวต่อว่า ในส่วนของปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่การรถไฟฯ และผู้เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ติดประกาศขับไล่ผู้บุกรุกได้มีกลุ่มบุคคลเข้าขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ด้วยวิธีการนำรถยนต์จอดปิดทาง เข้า – ออก พื้นที่สถานีบริการก๊าซ NGV เดิม เพื่อไม่ให้รถบัสร่วมบริการของ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ตลอดจนผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ 35 ไร่ ออกจากพื้นที่เพื่อกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ จึงมีความจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในวันนี้ หากมีการขัดขวางการปฏิบัติการดังกล่าว การรถไฟฯ จะขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และจะทำการขนย้ายรถยนต์ที่ผู้บุกรุกใช้ปิดกันพื้นที่เพื่อไม่ให้รถบัส รถตู้ หรือรถของประชาชนเข้า-ออกพื้นที่ดังกล่าว และจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้นั้น จนถึงที่สุด

ส่วนประเด็นที่ผู้บุกรุกพื้นที่ อ้างว่าการรถไฟเคยได้งบอนุมัติมาจำนวน 100 ล้านบาทเพื่อทำการจ่ายชดเชยให้ผู้เข้าพื้นที่ดำเนินการรื้อถอน แต่ไม่เคยจ่ายให้แก่ผู้เช่านั้น รักษาการผู้ว่าการ รฟท.ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากที่ผ่านมาคนที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นผู้ที่บุกรุก และการรถไฟไม่เคยมีสัญญาเช่าด้วย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่การรถไฟจะไปของบประมาณมาจ่ายชดเชยให้

ขณะที่ประเด็นที่ต้องเร่งรัดการรื้อย้ายนั้น ก็เนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและการรถไฟฯ ก็พยายามเร่งรัดแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดกรอบเวลาไว้