รฟท.ผนึก CP เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เซ็นสัญญาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน

0
229

ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดย นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) โดย นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลอย่างรัดกุมของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนับเป็นครั้งแรกของรัฐบาลที่ได้ผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) ที่มีมูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท โดยที่ประเทศได้ประโยชน์สูงสุดจากข้อตกลงสัญญาสัมปทาน โดยมีกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 119,425 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ปรากฏว่ากลุ่มเอกชนเสนอกรอบวงเงินที่รัฐร่วมลงทุน 117,226 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ส่งผลให้รัฐประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,200 ล้านบาท ภายใต้สัญญาร่วมลงทุน 50 ปี อีกทั้งทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะผู้แทนกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และ พันธมิตร เปิดเผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โดยได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า ได้แก่ China Railway Construction Corporation Limited จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ บมจ. ช.การช่าง จัดตั้ง “บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด” หรือ “Eastern High-Speed Rail Linking Three Airports Co.,Ltd.” เป็นตัวแทนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน Public – Private – Partnership หรือ PPP ในครั้งนี้ โดยภายหลังการลงนามจะเร่งเข้าไปบริหารจัดการบริษัทรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินฯ เพื่อจะได้ดำเนินการลงพื้นที่สำรวจ/ออกแบบ เจรจากับผู้รับเหมาก่อสร้าง และ Suppliers ต่างๆ รวมถึงเร่งจัดทำแผนก่อสร้างและเดินหน้าทันที

“นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทยที่ภาคเอกชนได้ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุน PPP กับภาครัฐผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจ็คระดับนานาชาตินี้ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่เป็นกิจการร่วมค้า รวมทั้งพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ อาทิ ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (CDB) รวมทั้งได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงจากเอกอัครราชทูต 3 ประเทศ ประกอบด้วย นายหลู่ย์ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และ นายโลเรนโซ กาลันตี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนและร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการประวัติศาสตร์ที่เป็นความร่วมมือระดับโลกเพื่อพลิกโฉมหน้าประเทศไทยในครั้งนี้” นายศุภชัยกล่าว

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เกิดการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานี นำความเจริญสู่ชุมชน เกิดการกระจายรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีที่ค้าขาย มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท ถือเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการจ้างงานในช่วงก่อสร้างมากถึง 16,000 อัตรา และการจ้างงานในธุรกิจเกี่ยวเนื่องมากกว่า 100,000 อัตรา ใน 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทยได้เรียนรู้วิธีการทำงานในโครงการด้วยเทคโนโลยีสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงและมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้