ESRI ชูเทคโนโลยี GIS ช่วย 4 ธุรกิจ‘รีเทล-ซัพพลายเชน-แบงก์กิ้ง-เฮลธ์แคร์’ยุค New Normal

0
239

อีเอสอาร์ไอ(ประเทศไทย)ในกลุ่มซีดีจีผู้นำด้าน Location Intelligence เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ระดับโลก แนะ 4 ธุรกิจ“ รีเทล-ซัพพลายเชน-แบงก์กิ้ง-เฮลธ์แคร์”ปรับวิกฤตเป็นโอกาส ใช้เทคโนโลยี GIS เครื่องมือจัดการ Location Intelligence ตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และช่วยให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ

นางสาวธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากรายงานของ Forbes ระบุร้อยละ 53 ของผู้ประกอบการมีความเห็นตรงกันว่า Location Intelligence จะมีบทบาทสำคัญในการปรับกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายปี 2563 ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาสพาธุรกิจเดินหน้า แนะ 4 ธุรกิจ ได้แก่ รีเทล ซัพพลายเชน แบงก์กิ้ง และเฮลธ์แคร์ ตั้งรับ New Normal โดยใช้ GIS เทคโนโลยีที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงพื้นที่และแสดงผลที่เข้าใจง่าย โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย ทั้งวิเคราะห์ที่ตั้งสาขา ดูตำแหน่งและพฤติกรรมของผู้บริโภค จัดการเส้นทางขนส่ง เปรียบเทียบข้อมูลอดีตและปัจจุบัน รวมถึงคาดคะเนสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยลดค่าใช้จ่ายหรือกระบวนการที่ซ้ำซ้อน เป็นเครื่องมือตอบโจทย์ธุรกิจยุคหลังวิกฤต

“New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 ทุกธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ถ้าเรานำ Technology ที่มีประสิทธิภาพในการทำ Location Intelligence จะช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เห็นมุมมองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว โดย Location Intelligence จะไม่เพียงแค่ตอบคำถามว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป (What’s Next) แต่ยังหาคำตอบได้มากกว่าเดิมว่าเกิดขึ้นที่ไหน (Where’s Next) นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ รวมทั้งจุดแข็ง และจุดอ่อนของธุรกิจได้เร็วขึ้น” นางสาวธนพรกล่าว

นางสาวธนพรกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจทุกประเภทสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี GIS ปรับกลยุทธ์เชิงรุก แนะ 4 ธุรกิจหลัก คือ

1.ธุรกิจค้าปลีก (Retails) จะเห็นได้ว่าธุรกิจนี้มีการปรับตัวค่อนข้างมากในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แต่ความต้องการซื้อสินค้ายังมีอยู่ ทำให้ธุรกิจเริ่มขยายการให้บริการขายสินค้าทางออนไลน์ (E-commerce) และ Delivery มากยิ่งขึ้น ธุรกิจจึงต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์พื้นที่การบริการของสาขาที่มีอยู่ร่วมกับข้อมูลยอดขาย GIS จะช่วยวิเคราะห์การจัดสรรสินค้าและเลือกที่ตั้งสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนการขนส่ง มีสาขาครอบคลุมความต้องการและจัดสินค้าได้ตรงกับกลุ่มผู้บริโภคในพื้นที่

2.Supply Chain หรือห่วงโซ่อุปทาน GIS เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานแบบ End to End ตั้งแต่ตำแหน่งของแหล่งวัตถุดิบไปจนถึงตำแหน่งลูกค้าปลายทาง เพื่อติดตามสถานะแบบเรียลไทม์ ทั้งยังช่วยวิเคราะห์จัดเส้นทางการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ (Route Optimization) และช่วยธุรกิจให้สามารถเลือกศูนย์กระจายสินค้าได้อย่างเหมาะสมตามปริมาณความต้องการของผู้บริโภคในแต่       ละพื้นที่เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง

3.ธุรกิจธนาคาร (Banking) Digital Platform จะมีบทบาทมากยิ่งขึ้น ในยุคหลังจากวิกฤตโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายผ่านทางสมาร์ทโฟนหรือ QR code เพื่อลดการสัมผัสเงินโดยตรง ปรับเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มากยิ่งขึ้น โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ จะต้องมีการปรับตัว เมื่อคนใช้ Digital Platform มากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องเดินทางมาที่สาขาธนาคารเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินลดลง ธนาคารจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการตั้งสาขา เทคโนโลยี GIS สามารถช่วยวิเคราะห์การเปิดปิดสาขาที่เหมาะสม   แปรผันตามจำนวนผู้มาใช้บริการในพื้นที่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการให้ตรงกับรูปแบบการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้น

4.ธุรกิจด้านสุขภาพ (Healthcare) จากสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนต่างให้ความสำคัญในด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น เทคโนโลยี GIS เข้ามามีส่วนช่วยอย่างมากตั้งแต่การติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ทราบการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อในพื้นที่ สามารถนำสถิติการติดเชื้อที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์คาดการณ์การแพร่ระบาดรายวัน และแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ร่วมกับการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดการแพร่ระบาด โดยอาศัยข้อมูลกลุ่มประชากรในพื้นที่ ทำให้หน่วยงานสามารถนำข้อมูลจากการวิเคราะห์มาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์ ประเมินความพร้อมในการให้บริการของโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยี GIS สนับสนุนการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19  เป็นการร่วมกันพัฒนาระบบติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อให้เห็นข้อมูลเชิงลึก และเตรียมการณ์รับมือได้อย่างทันท่วงที หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลง การนำเทคโนโลยี GIS มาใช้วิเคราะห์และช่วยวางแผนการทำงานจะเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้นกับภาคธุรกิจ เมื่อธุรกิจรู้ “พิกัด” กลุ่มเป้าหมาย Where’s Next จะสามารถรู้ไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมทั้งบริบทโดยรอบ การมีข้อมูลเชิงลึกที่มีความถูกต้องและสามารถใช้ได้จริงแบบเรียลไทม์นี้ จะเป็นเครื่องมือที่จะนำไปใช้ขับเคลื่อนทุกธุรกิจให้ก้าวต่อได้อย่างรวดเร็ว” นางสาวธนพร กล่าวปิดท้าย