กทท.ลุยพัฒนาระบบประตูอัตโนมัติ เพิ่มความปลอดภัยยกระดับมาตรฐานสากล

0
130

กทท.ลุยพัฒนาระบบประตูอัตโนมัติท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ณ ประตูเข้า-ออกจุดต่างๆ ยกระดับการให้บริการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยทัดเทียมท่าเรือระดับโลก เติมเต็มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจท่าเรือ พร้อมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนงานดำเนินโครงการจ้างเหมาพัฒนาติดตั้งระบบประตูอัตโนมัติของท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ณ ประตูเข้า-ออกจุดต่างๆ ของ ทกท. เพื่อยกระดับการให้บริการ โดยพัฒนาระบบพื้นฐานในการปฏิบัติงานต่างๆของ ทกท.ให้ได้มาตรฐานสากล อีกทั้งเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับบุคคลและยานพาหนะที่เข้า-ออกภายในเขตรั้วศุลกากร ทกท. ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจท่าเรือ พร้อมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กร

ระบบประตูอัตโนมัติ (Gate Automation) ดังกล่าว เป็นระบบงานพื้นฐานของท่าเรือ ซึ่งจะติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ณ ประตูเข้า-ออกตามจุดต่างๆ ของ ทกท. ได้แก่ ประตูตรวจสอบสินค้าเขื่อนตะวันออก ประตูตรวจสอบสินค้าเขื่อนตะวันตก ประตูตรวจสอบท่าเทียบเรือตู้สินค้า 1 ประตูตรวจสอบท่าเทียบเรือตู้สินค้า 2 ประตูตรวจสอบลานบรรจุ และประตูตรวจสอบลานตู้สินค้าเปล่า เพื่อใช้ในการตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกภายในเขตรั้วศุลกากร ทกท. ตามมาตรฐานความปลอดภัย ISPS Code และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแผนวิสาหกิจของ กทท. ในการเป็นท่าเรือระดับโลก (World Class Port) อีกทั้งมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบต่างๆของ กทท. เช่น ระบบ e-Payment ระบบบริหารจัดการท่าเทียบเรือตู้สินค้า (CTMS) ระบบให้บริการด้านเรือ สินค้า คลังสินค้า และเครื่องมือทุ่นแรง (VCMS) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการในการตรวจสอบข้อมูลสินค้า/ตู้สินค้าที่มากับยานพาหนะ และตรวจสอบยานพาหนะที่เข้ามารับสินค้า/ตู้สินค้า ทำให้เกิดความรวดเร็วและลดข้อผิดพลาด ลดขั้นตอนและลดเวลาในการปฏิบัติงาน รวมถึงการตรวจสอบการชำระเงินค่ายานพาหนะผ่านท่า ค่าชั่งตู้สินค้า ค่าภาระสินค้า/ตู้สินค้าขาเข้า และขาออกโดยใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะมีการดำเนินการระหว่างปีงบประมาณ 2564-2565

ทั้งนี้ เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จจะช่วยให้การจราจรโดยรอบ ทกท. เกิดความคล่องตัว และลดมลพิษ  ทางอากาศ ลดเวลาในการคอยของรถบรรทุกที่เข้ามารับสินค้า และประหยัดเชื้อเพลิง อีกทั้ง ทกท. สามารถวางแผนบริหารจัดการเครื่องมือทุ่นแรงในการขนถ่ายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถป้องกันการขนตู้สินค้าและสินค้าผิดรายการ อันจะช่วยลดความเสียหายต่อสินค้ามูลค่าสูงได้เป็นอย่างดี