สรท.คาดส่งออกปี 63 ติดลบ 6-7 % ชี้ไตรมาสแรกปี 64 ยังไม่ฟื้น

0
110

สรท.คาดส่งออกไทยปี 63 ติดลบ 6-7 % และคาดการณ์ปี 64 เติบโตร 3-4% % ปัจจัยหนุนจากสินค้ากลุ่มอาหาร -เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากระบาดโควิด-19 อีกระลอก ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงพิษโควิดกระทบประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ พร้อมเสนอแนะรัฐหนุนผู้ประกอบการสู้ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวการส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,932 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -3.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 585,911 ล้านบาท หดตัว -0.65% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2563 มีมูลค่า 18,880 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -0.99% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 592,369 ล้านบาท ขยายตัว 1.98% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนพฤศจิกายน 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 52.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 6,458 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือนพฤศจิกายนการส่งออกหดตัว -2.09%)

ภาพรวมช่วงเดือนม.ค.- พ.ย. ปี 2563 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 211,385 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -6.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) คิดเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่ 6,575,690 ล้านบาท หดตัว -6.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 187,872 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว -13.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่า 5,920,305 ล้านบาท หดตัว   -13.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ย. 2563 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 23,512 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 655,384 ล้านบาท (การส่งออกเมื่อหักทองคำและน้ำมันน้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัย เดือน ม.ค. – พ.ย. การส่งออกหดตัว -7.84%) การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว -2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้ สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป สินค้ากลุ่มที่หดตัว คือ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -2.9%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน โทรศัพท์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน สินค้ากลุ่มที่หดตัว อาทิ ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขณะที่การส่งออก 11 เดือน แรกของปี 2563 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร หดตัว -4% สินค้าอุตสาหกรรม หดตัว -6.6%

ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2563 หดตัวลดลงระหว่าง -7% ถึง -6% และคาดการณ์ ปี 2564 เติบโตระหว่าง 3% ถึง 4% (ณ เดือน ม.ค. 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ 1) สินค้ากลุ่มอาหาร และกลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาทิ ถุงมือยาง และกลุ่มสินค้า work from home ยังมีมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงทั่วโลกอีกครั้ง

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) การกลับมาระบาดครั้งใหม่ของโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าและภายในประเทศ สถานการณ์ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้าทั่วโลกกลับมามีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อโดยเฉพาะในสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร รวมถึงเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และภายในประเทศไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อกิจกรรมการผลิต จากการประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์และการหดตัวลงชองกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าทั่วโลก 1.1) การผลิตและการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของประเทศต่างๆทั่วโลก อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจนกว่าจะจัดสรรไปยังประเทศต่างๆ ในส่วนของไทยวัคซีนชุดแรกน่าจะมาถึงช่วงกลางปี 2564 หรือเร็วกว่านั้นเล็กน้อย ทั้งนี้จะมีการเริ่มวัคซีนให้ในกลุ่มที่จำเป็นก่อนและอาจต้องใช้เวลาในการให้วัคซีนครอบคลุมคนส่วนใหญ่ 1.2) แรงงานต่างด้าวขาดแคลน จากการระบาดในพื้นที่อุตสาหกรรมประมงแปรรูปขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรสาคร ระยอง ซึ่งอาจส่งผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอาหารที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวในภาคการผลิต ค่อนข้างมาก รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งไม่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวในช่วงเวลานี้ 2) ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร เนื่องจาก 2.1) สายเรือมีนโยบายจัดสรรระวางตู้สินค้า (Space Allocation) และจัดสรรตู้เปล่าหมุนเวียน (Container Allocation) กลับไปยังจีน และเวียดนามมาก เนื่องจากให้อัตราค่าระวางที่สูงกว่าไทย 2.2) การระบาดของ Covid-19 รอบ 2 ในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ทำให้ตู้สินค้าตกค้างที่ปลายทาง และทำให้ปริมาณตู้สินค้าที่ต้องหมุนเวียนกลับสู่ระบบหายไปเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบโดยตรงให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งสายเรือมีการเรียกเก็บค่า Container Imbalance Charge ในบางเส้นทาง 2.3) ตู้สินค้าประเภท Reefer จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบตู้สินค้าจากผลกระทบ COVID-19 ดังนั้นอาจมีการเก็บค่า Congestion Surcharge (CGD) เพิ่มเติมสำหรับสินค้า Reefer ไปยังท่าเรือบางแห่งในประเทศจีน และรวมถึงการงดรับจองระวางในบางเส้นทาง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนปลั๊กสำหรับตู้ควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น 3) ค่าเงินบาทที่มีทิศทางแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการที่ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มจับตาใกล้ชิด (Monitoring List) โดยเฉพาะประเด็นการเป็นประเทศที่อาจแทรกแซงค่าเงินจากรายงานด้านเศรษฐกิจและการค้าที่เกินดุลกับสหรัฐฯ ขณะที่ เวียดนามและสวิตเซอร์แลนด์ อยู่ในบัญชี Currency manipulator ทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าสู่ประเทศไทยและการอ่อนค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะยาว และ 4) ราคาน้ำมันที่อาจมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 2562 จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทั่วโลกที่กลับมารุนแรงอีกครั้งทั่วโลก ส่งผลต่ออุปสงค์ในการน้ำมันที่อาจชะลอตัวลงในการดำเนินกิจกรรมการผลิต การเดินทางระหว่างประเทศ และการชะลอตัวลงของการส่งออกในกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อาทิ พลาสติก เคมีภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

1.มาตรการเร่งด่วนภายใน 2 เดือน ได้แก่ 1.1) มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือต่ออายุมาตรการที่ออกมาในช่วงโควิด-19 ระบาดในรอบแรก อาทิ ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมในการติดต่อหน่วยงานราชการ ขยายระยะเวลาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ขยายระยะเวลาการชำระภาษี ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ปรับลดค่าสาธารณูปโภค (ค่าน้ำ ค่าไฟ) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิดรอบใหม่ รวมถึงขอให้ ธปท. เร่งออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยผู้ประกอบการ อาทิ ขอให้ ธปท. เพิ่มบทบาทธนาคารรัฐในการอนุมัติสินเชื่อมาตรการ Soft loan ให้กับผู้ประกอบการมากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนพรก. softloan ธปท.ได้มีต่ออายุมาตรการไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 18 เมษายน 2564 และการปรับปรุงกฎเกณฑ์บางส่วนในการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs มากขึ้น 1.2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน 1. เร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ 2. ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย 3. มีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น 4. อำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่ที่มีขนาด 400 เมตรเข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร 5. ตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศไทยซึ่งจัดเก็บในลานกองตู้ เพื่อหมุนเวียนใช้งานให้รวดเร็วมากขึ้น

2.มาตรการระยะยาว ได้แก่ 2.1) มาตรการรองรับสถานการณ์โควิดรอบใหม่ 1. รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีแรงงานว่างงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรง 2. เร่งรัดการพัฒนาไปประเทศไปสู่ Digital economy เช่น เร่งรัดและส่งเสริมการพัฒนาโครงการ National Digital Trade Platform (NDTP), การพัฒนา National Single Window (NSW) ให้เป็น Single submission หรือระบบกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว, การพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์สอดรับกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อเป็นปรับลดขั้นตอนในการติดต่อกับทางราชการ เช่น การออกใบรับรอง/ ใบอนุญาต ให้ใช้ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากที่สุด เพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนที่รับบริการ (Social distancing) 3. ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ถือเป็นโอกาสสำหรับการวางแผนธุรกิจและการลงทุนในรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มวัย รูปแบบการค้า การผลิต การขาย การบริการ ลงทุน จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่เรียกว่า New normal  และ 2.2) เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อ/ซ่อมตู้คอนเทนเนอร์