กทพ.ใกล้คลอดแคมเปญสุ่มแจกเงินเข้าบัตร Easy pass 500 บาท 1,000 รางวัล จูงใจใช้ระบบฟรีโฟลว์

0
138

กทพ.ใกล้คลอดแคมเปญสุ่มแจกเงินเข้าบัตร Easy pass  500 บาท 1,000 รางวัลจากฐาน 2 ล้านบัญชี สร้างแรงจูงใจลูกค้าอัพเดทข้อมูลเข้าระบบฟรีโฟลว์ไม่มีไม้กั้น เนำร่อง 3 ด่าน “จตุรโชติ -สุขาภิบาล 5/ 1-2” เริ่มเปิดบริการในเดือนก.ค.64 ต่อจากทล.ที่นำร่องในเดือนมี.ค.64

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เปิดเผยถึงโครงการนำร่องการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (ฟรีโฟลว์)ว่า กทพ.ได้ตั้งเป้าหมายจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2564 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม หรือเป็นการเปิดต่อจากการนำร่องในโครงการดังกล่าวของกรมทางหลวง (ทล. ) ที่จะนำร่องใช้ระบบ ฟรีโฟลว์ ไปก่อนในเดือนมีนาคมปีนี้ โดย กทพ. จะเริ่มใช้นำร่องใน 3 ด่านคือที่ด่านจตุรโชติ และด่าน สุขาภิบาล 5/ 1-2

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ใช้รถจะสามารถเริ่มใช้ระบบฟรีโฟลว์ได้นั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลของทะเบียนรถที่ใช้ระบบดังกล่าว ดังนั้น กทพ. จึงเตรียมออกแคมเปญ ในต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้ Easy-pass ซึ่งมีกว่า 2,000,000 บัญชี เข้ามาอัพเดทข้อมูลรถเตรียมเข้าระบบโครงการฟรีโฟลว์ โดยแคมเปญดังกล่าวหากลูกค้า เข้ามาอัพเดทข้อมูลทะเบียนรถแล้ว กทพ.จะมีการสุ่มแจกรางวัล มอบเงินเข้าบัตร Easy-pass  500 บาท จำนวน 1,000 รางวัล โดยลูกค้าที่ใช่  Easy-pass เตรียมติดตามเข้าร่วมแคมเปญดังกล่าวได้

“ ที่ผ่านมาลูกค้าที่ใช้บัตร Easy-pass ตั้งแต่ซื้อบัตร ก็จะมีการให้ข้อมูลเฉพาะในส่วนชื่อและเลขที่บัตรประชาชนเท่านั้น รวมทั้งมีผู้ใช้บางส่วนที่เปลี่ยน Easy-pass ไปมา กลับรถยนต์ที่ตัวเองใช้งาน แต่ระบบ ฟรีโฟลว์ จำเป็นที่ข้อมูลของรถที่ใช้ผ่านด่านจะต้องมีความแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการติดตามเรียกเก็บค่าผ่านทาง หรือทราบข้อมูลอื่นๆ จริงจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนให้แล้วเสร็จก่อนเริ่มการใช้งานโครงการ ฟรีโฟลว์ ของ กทพ.”นายสุรเชษฐกล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวย้ำว่าโครงการฟรีโฟลว์ถือเป็นการยกไม้กั้นที่ผ่านด่านออก เพื่อทำให้การผ่านด่านทางพิเศษ เกิดความคล่องตัว และเป็นการเก็บค่าผ่านทาง ที่แตกต่างจากระบบเดิม คือเก็บหลังจากผู้ใช้ทางผ่านด่านแล้ว( Post Paid ) ดังนั้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการติดตามเก็บค่าผ่านทางทั้งกรมทางหลวง และกทพ. จะมีการว่าจ้างเอกชน เพื่อมาติดตามเรียกเก็บค่าผ่านทาง โดยเอกชนจะต้องเป็นรายเดียว หรือ Single Platform ทำหน้าที่เรียกเก็บค่าผ่านทางร่วมกันทั้งในส่วนของระบบของกรมทางหลวง และกทพ. โดยเอกชนจะเป็นผู้รับความเสี่ยงในการติดตามเรียกเก็บเองในอนาคตด้วย