ซมพิษโควิด!ทอท.ปรับประมาณการเที่ยวบินวูบ 33.4% คาดฟื้นตัวปี 67

0
89

ทอท.ซมพิษโควิดระลอกใหม่ ปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศใหม่ลดลง 33.4 % คาดฟื้นตัวปี 67 สอดคล้องกับการคาดการณ์ IATA และ S&P Global ย้ำเป็นตัวเลขบนข้อสมมติฐานการเปิดน่านฟ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข ชี้หากมีเงื่อนไขประเมินเงื่อนไขจากการเปิดประเทศเป็นปัจจัยเพิ่มเติมทางลบ (Downside Risk) จากตวเลขประมาณ

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด ทั้งที่ประเทศไทยและทั่วโลกทำให้ ทอท. ต้องปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศใหม่ โดยได้ปรับประมาณการผู้โดยสารรวมปี 2564 ลงจากประมาณการครั้งก่อน (พฤศจิกายน 2563) 33.4 % และปรับประมาณการปริมาณเที่ยวบินรวมลง 25.0 % คาดว่าจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารจะกลับมามีปริมาณเท่ากับปี 2562 (ก่อนเกิด COVID-19) ในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) และ S&P Global

นอกจากนั้น ยังได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารในภาพรวมที่เดินทางผ่านสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ด้วยได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมีนัย โดย ทอท.ได้ปรับประมาณการปริมาณการจราจรทางอากาศ ระหว่างปีงบประมาณ 2564 – 2567 คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 335,459 เที่ยวบินลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน (พฤศจิกายน 2563)  25.0 %และน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิด COVID-19) 62.6 %และมีผู้โดยสารรวม 31.90 ล้านคนลดลงจากการประมาณการครั้งก่อน (พฤศจิกายน 2563)  33.4 %และน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 (ก่อนเกิด COVID-19) 77.5 %ปีงบประมาณ 2565 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 547,226 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 73.17 ล้านคน ปีงบประมาณ 2566 จะมีปริมาณเที่ยวบินรวม 824,915 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 128.85 ล้านคน และปีงบประมาณ 2567 มีปริมาณเที่ยวบินรวม 923,925 เที่ยวบิน และผู้โดยสารรวม 146.40 ล้านคน หรือคาดว่าปริมาณการจราจรทางอากาศจะกลับสู่ระดับเดียวกับปี 2562 ในปี2567 ซึ่งประมาณการดังกล่าวสอดคล้องกับการคาดการณ์ IATA และ S&P Global

อย่างไรก็ตาม การประมาณการนี้ตั้งอยู่บนข้อสมมติฐานที่มีการเปิดน่านฟ้าอย่างไม่มีเงื่อนไข เช่น ไม่มีการกักกันตัว ในเดือนธันวาคม 2564 แต่หากมีการเปิดประเทศอย่างมีเงื่อนไข AOT จะต้องประเมินเงื่อนไขจากการเปิดประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเพิ่มเติมในทางลบ (Downside Risk) จากประมาณการนี้ต่อไป

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ทำให้ผู้โดยสารในภาพรวมที่เดินทางผ่านสนามบินทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ลดลงอย่างมากจากเดิมก่อนการระบาดระลอกใหม่ (เดือนพฤศจิกายน 2563) ที่มีผู้โดยสารภายในประเทศเฉลี่ยประมาณ 127,000 คนต่อวัน ขณะที่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 ผู้โดยสารลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณ 15,000 คนต่อวัน แม้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ผู้โดยสารเริ่มฟื้นตัวกลับมามีจำนวนประมาณ 37,000 คนต่อวันแล้วก็ตาม

นายนิตินัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการเปิดประเทศแล้ว แต่การจัดสรรตารางการบินฤดูหนาว 2564/65 ซึ่งเริ่มจัดสรรในเดือนพฤษภาคม 2564 จะไม่สมบูรณ์เนื่องจากผลกระทบข้างต้น ประกอบกับความเสียหายในห่วงโซ่อุปทาน   ทางการบิน(Supply Chain Damage) อาทิ การลดฝูงบิน หรือการเข้าแผนฟื้นฟูกิจการของหลายสายการบิน หรือ สายการบินที่ยังฟื้นตัวไม่ทัน เป็นต้น จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะปานกลาง (หลังปี 2565) ที่ต้องทำการประเมินอีกครั้งต่อไป