สรท.เผยส่งออกครึ่งปีแรกทรงยังดี คาดทั้งปีโต 10%วอนเร่งฉีดวัคซีนภาคส่งออกพยุงเศรษฐกิจประเทศ

0
62

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) แถลงข่าวร่วมกับ นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ที่ปรึกษา สรท. นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. และนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. ระบุว่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมิถุนายน 2564 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,699 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 43.82% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 738,135.34 ล้านบาท ขยายตัว 41.48% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนมิถุนายนขยายตัว 41.56% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,754.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 53.75% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 718,651.32 ล้านบาท ขยายตัว 51.33% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนมิถุนายน 2564 เกินดุลเท่ากับ 945.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 19,484.02 ล้านบาท

ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.53% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 4,017,545.69 ล้านบาท ขยายตัว 12.59% เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในครึ่งปีแรกนี้ขยายตัว 20.84% ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 129,895.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 26.15% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 3,998,661.75 ล้านบาท ขยายตัว 23.10% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 เกินดุลเท่ากับ 945.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 18,883.94 ล้านบาท

ทั้งนี้ สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตร้อยละ 10 (ณ เดือนสิงหาคม 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก 1.1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ 1.2) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (World PMI index) ที่อยู่ระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแข็งแกร่ง 2) ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าใกล้เคียง 33 บาทต่อดอลลาสหรัฐ จากปัจจัยความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศไทยที่มีความรุนแรงซึ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2564 ประกอบกับการแข็งค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์สหรัฐ จากการเผชิญแรงกดดัน หลังประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณไม่รีบคุมเข้มนโยบายการเงิน แม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะขยับสูงขึ้น 3) ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และ

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1) สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ 1.1) จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด–19 ภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อน 1.2) กรณีการติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิต และการส่งมอบสินค้า ทำให้การส่งออกเติบโตได้เพียง 10% จากที่คาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% ประกอบกับมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งโรงงานขนาด SMEs ส่วนใหญ่ อาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ขณะเดียวกันภาครัฐไม่สามารถอำนวยความสะดวกและสนับสนุนได้ทั้งหมด 2) ปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ปริมาณการหมุนเวียนของตู้สินค้ายังไม่เพียงพอ ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น 2.1) ค่าระวางการขนส่งสินค้าทางทะเลยังมีการปรับขึ้นในเกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางยุโรป และสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

ข้อเสนอแนะและความเห็นของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (1) สรท. ไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Fully Lockdownโดยขอ “ยกเว้น” ให้ภาคการผลิตและกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า อาทิ การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ ยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง เพราะมีผลต่อสัญญาการค้าระหว่างประเทศ และหลายธุรกิจมีสัดส่วนการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศ หากมีการหยุดประกอบการ จะส่งผลให้เกิดปัญหาการขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคภายในประเทศตามมาในที่สุด (2) สรท. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งบริหารจัดการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนโดยเฉพาะแรงงานภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกให้เร็วที่สุด (3) สรท. เรียกร้องให้มีการปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลางเพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง (4) สรท. เรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์ (e-Document) และการขออนุญาต/ใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ