คค.เร่งศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map เห็นชอบนำร่อง 4 เส้นทาง

0
358

คค.เผยคืบหน้าขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map ของทล.ปัจจุบันร่างแผนแม่บท MR-Map แล้วเสร็จ 10 เส้นทางระยะรวม 6,980 กม.ระบุที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่อง 4 เส้นทาง และเห็นด้วยเวนคืนพื้นที่เพื่อพัฒนา MR-Map ในคราวเดียว แต่ไม่ต้องก่อสร้างพร้อมกันขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน และสนับสนุนให้สร้างได้จริงรวมทั้งให้ดำเนินการโดยเร็ว

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าประชุมขับเคลื่อนการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-Map ผ่าน Video Conference ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่าที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าผลการดำเนินงานศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ของ ทล. โดยปัจจุบัน ทล. ได้จัดทำร่างแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) แล้วเสร็จ จำนวน 10 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 6,980 กิโลเมตร โดยมีเส้นทางที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบรางมีระยะทางทั้งหมด 4,760 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ – ใต้ จำนวน 3 เส้นทาง แนวตะวันออก – ตะวันตก จำนวน 6 เส้นทาง และแนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1 เส้นทาง ดังนี้

1. เส้นทาง MR1 เชียงราย – นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กิโลเมตร

2. เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ – ชลบุรี (แหลมฉบัง) – หนองคาย (ด่านหนองคาย) ระยะทาง 886 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 196 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 690 กิโลเมตร

3. เส้นทาง MR3 บึงกาฬ (ด่านบึงกาฬ) – สุรินทร์ (ด่านช่องจอม) ระยะทาง 470 กิโลเมตร

4. เส้นทาง MR4 ตาก (ด่านแม่สอด) – นครพนม (ด่านนครพนม) ระยะทาง 840 กิโลเมตร

5. เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ระยะทาง 832 กิโลเมตร

6. เส้นทาง MR6 กาญจนบุรี (ด่านพุน้ำร้อน) – สระแก้ว (ด่านอรัญประเทศ) ระยะทาง 390 กิโลเมตร โดยเป็นเส้นทางมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 96 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 294 กิโลเมตร

7. เส้นทาง MR7 กรุงเทพฯ – ระยอง (มาบตาพุด)/ตราด (ด่านคลองใหญ่) ระยะทาง 467 กิโลเมตร โดยเป็นมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ – พัทยา – มาบตาพุด ที่เปิดให้บริการแล้ว 181 กิโลเมตร และเส้นทางในแผนอนาคต 286 กิโลเมตร

8. เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง ระยะทาง 94 กิโลเมตร

9. เส้นทาง MR9 สุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต ระยะทาง 185 กิโลเมตร

10. เส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะทาง 648 กิโลเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) เปิดให้บริการแล้ว 168 กิโลเมตร ส่วนที่ 2 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (แผนในอนาคต) 455 กิโลเมตร และส่วนที่ 3 เส้นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ได้แก่ ช่วงบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 25 กิโลเมตร) ช่วงบ้านแพ้ว – ปากท่อ 54 กิโลเมตร และช่วงบางปะอิน – สุพรรณบุรี 55 กิโลเมตร

โดย ทล. ได้รายงานผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่อง จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง MR2 กรุงเทพฯ – ชลบุรี (แหลมฉบัง) – หนองคาย (ด่านหนองคาย) ช่วงนครราชสีมา – แหลมฉบัง เส้นทาง MR5 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์) – อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา – อุบลราชธานี เส้นทาง MR8 ชุมพร – ระนอง และเส้นทาง MR10 เชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 4 – 19 พฤศจิกายน 2564 โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการพัฒนา MR-Map และเห็นด้วยกับการเวนคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางพร้อมกันในคราวเดียว แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกันขึ้นอยู่กับแผนปฏิบัติการของหน่วยงาน และสนับสนุนให้สร้างได้จริงรวมทั้งให้ดำเนินการโดยเร็ว

ในส่วนของการบูรณาการโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช – นครนายก – สระบุรี และถนนวงแหวนรอบที่ 3 (MR10) นั้น กทพ. ดำเนินงานออกแบบรายละเอียด โดยมีการบูรณาการร่วมกับ MR-Map ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยโครงการทางพิเศษของ กทพ. (ช่วงจตุโชติ – วงแหวนรอบที่ 3) มีระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร จะเชื่อมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 (MR10) ของ ทล. ซึ่งมีการบูรณาการออกแบบที่ปรับรูปแบบจากเดิมทั้ง 2 โครงการจะมีทางขึ้น – ลงแยกกัน คนละตำแหน่ง เป็นก่อสร้างทางขึ้น – ลง บริเวณเดียวกันและใช้ทางแยกต่างระดับร่วมกัน (Combine Interchange) เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากการเวนคืนพื้นที่ และลดความสับสนในการเดินทางของผู้ใช้ทาง อีกทั้งทางแยกต่างระดับบริเวณดังกล่าว สามารถเชื่อมต่อกับแนว

สายทางโครงข่าย MR3 ของ ทล. ได้ในอนาคต สถานะปัจจุบัน กทพ. และ ทล. ได้บูรณาการร่วมกันจนได้ข้อยุติเรื่องรูปแบบแล้ว อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดของงานช่วงดังกล่าว ทั้งนี้การปรับรูปแบบตามแนวทางบูรณาการจำเป็นต้องมีการทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และทบทวนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดย กทพ. จะเร่งรัดการดำเนินงานในส่วนดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามแผนงานต่อไป

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มีข้อสั่งการให้ ทล. จัดทำแผนการขับเคลื่อนโครงการและ Action Plan ให้ชัดเจน เพื่อให้สาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ได้รับทราบข้อมูลและแผนการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในด้านต่าง ๆ อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังได้กำชับประเด็นการเชื่อมโยงกับ สปป. ลาว ผ่านทางจังหวัดหนองคายตามเส้นทาง MR2 โดยให้ รฟท. เร่งพัฒนาโครงการรถไฟช่วงขอนแก่น – หนองคาย ให้สามารถเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว – จีนได้อย่างต่อเนื่อง และเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ รวมถึงให้พิจารณาเส้นทาง MR8 (ชุมพร – ระนอง) เพื่อสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีเส้นทางที่สั้นที่สุดโดยพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ เช่น การพิจารณาเทคนิคทางวิศวกรรม เพื่อลดข้อจำกัดด้านกายภาพในการก่อสร้างท่าเรือ พร้อมทั้งเปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียในทางเลือกต่าง ๆ และในประเด็นการพัฒนาแผนแม่บท MR-Map ขอให้พิจารณากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับโครงการต่อไป

นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมยังได้ให้ กทพ. พิจารณาการพัฒนาจุดพักรถให้มีรูปแบบเป็นอาคารคร่อมบนทางพิเศษเพื่อลดปัญหาการใช้พื้นที่ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางทั้ง 2 ทิศทาง รวมถึงการใช้ระบบด่านเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น เพื่อลดปัญหาการติดขัดหน้าด่าน และพิจารณาแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงการในรูปแบบอื่น ๆ เช่น TFF หรือ PPP เพื่อลดภาระในการใช้งบประมาณของภาครัฐ รวมถึงให้พิจารณาการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการพัฒนาโครงการทางพิเศษ ตามแผน MR-Map เช่น ปัญหาที่จะเกิดขึ้นบริเวณจุดตัดบางปะอินในอนาคต เป็นต้น โดยเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนต่อไป