“คมนาคม”เร่งผลักดันอุตสาหกรรมการบิน หลังโควิดอ่อนแรง

0
62

“ศักดิ์สยาม” เร่งขับเคลื่อนประเทศไทยผ่านอุตสาหกรรมการบิน หลังโควิดซา มั่นใจ! สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 8.5 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือ 7.7%ของจีดีพี สร้างการจ้างงานในระบบกว่า 7 แสนตำแหน่ง ด้านไออาร์ต้า คาดการณ์ปี 74 ไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเข้าออกมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือ 200 ล้านคนต่อปี คมนาคมหวังสร้างรายได้เข้าประเทศ-ทำให้ไทยหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางทันที

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี64 ภายใต้หัวข้อ ทะยานสู่การบินบริบทใหม่ (Thai Aviation Industry Conference 2021 : flying to the new era of Thai aviation) ว่า อุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ7.7%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) และสามารถสร้างการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมการบินโดยรวมได้กว่า 700,000 ตำแหน่ง

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินโดยรวมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ที่มีเครือข่ายการบินครอบคลุมเชื่อมโยงไปทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทยมีสนามบินภูมิภาคกว่า 39 สนามบิน นอกจากนั้นยังพบว่าก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิดในปี 62 ประเทศไทยมีเส้นทางการบินกว่า 449 เส้นทาง แบ่งเป็น เส้นทางบินในประเทศ 67 เส้นทางบิน เส้นทางบินระหว่างประเทศ 380 เส้นทาง ประกอบกับสถานที่ที่ตั้งประเทศไทยเหมาะสมที่เป็นศูนย์กลางทางการบิน

นอกจากนั้นในช่วงที่ผ่านมาช่วงระหว่างปี 55-62 พบว่าอัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยสูงขึ้นในทุกๆปีเฉลี่ยประมาณ 9.4%ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณเที่ยวบินที่มีอัตราการเติบโตกว่า 7.62%ต่อปี โดยในปี 62 มีปริมาณผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยกว่า 165 ล้านคนต่อปี มีปริมาณเที่ยวบินกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน มีปริมาณการขนส่งสินค้ากว่า 1.5 ล้านตัน

ซึ่งเมื่อดูจากปัจจัยหลายๆด้านพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมการบิน และทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาร์ต้า ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 74 ประเทศไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเข้าออกมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือประมาณ 200 ล้านคนต่อปี ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามศักยภาพและปัจจัยที่มีสร้างรายได้เข้าประเทศ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง
นายศักดิ์สยาม ยังได้กล่าวต่อว่า และตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมาจากการแพร่ระบาดโรคโควิดทำให้มีการจำกัดการเดินทาง ส่งผลให้การเดินทางทางอากาศลดลงกว่า 64% ผู้โดยสารต่างประเทศลดลงกว่า 81% จากปี62 และจากการแพร่ระบาดยังมีอยู่ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.)คาดว่าปริมาณการเดินทางจะลดลงมากกว่า 62.1% ดังนั้นรัฐบาลจึงได้มีนโยบายเปิดประเทศ ควบคู่การดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุข ทำให้ในช่วง2เดือนของปี มีการฟื้นตัวด้านการเดินทางเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาล โดย คณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กบร.) และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน (ทย.),บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.)บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย( บวท.)และ กพท. กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินระยะที่ 4 เพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในช่วงปี 65-68

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นได้มอบนโยบายให้ ทย. ร่วมกับกรมการค้าภายใน(คน.)ในการนำสินค้าทางการเกษตรมาขายและให้ประชาชนสามารถขนขึ้นเครื่องได้ ,ให้ ทย.จัดตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอปในทุกสนามบิน นอกจากนั้นให้นโยบาย ทย. และ ทอ. ในการรับโอนย้ายสนามบินที่มีศักยภาพของ ทย. เช่น สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท. อย่างไรก็ตามการพัฒนาสนามบินให้มีศักยภาพต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้คมนาคมได้เร่งดำเนินการในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางบินในภูมิภาคด้วย