รฟท.แจงปมเหล็กปิดทางข้ามรถไฟซ.นันทกาญจน์เมืองกาญจน์ฯย้ำป้องกันสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน

0
61

การรถไฟฯ ชี้แจงกรณีนำเหล็กปิดกั้นทางบริเวณซอยนันทกาญจน์ กาญจนบุรี เนื่องจากเป็นจุดตัดทางลักผ่าน เน้นป้องกันและหลีกเลี่ยงความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน พร้อมขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม คำนึงถึงประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

ตามที่มีสื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย นำเหล็กมาปิดกั้นทางข้ามรถไฟบริเวณซอยนันทกาญจน์ หมู่ 3 ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อย่างถาวร ทำให้บ้านกว่า 100 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนมาเป็นเวลานานกว่า 4 ปี โดยมีนายปรีชา ใคร่ครวญ หรือครูปรีชา ตัวแทนชาวบ้าน ได้แจ้งว่า การรถไฟฯ นำเหล็กมาปิดกั้นทางข้ามทำให้ซอยนันทกาญจน์ถูกปิดตายทั้งซอย ส่วนตัวได้เข้ามาอยู่อาศัยพร้อมกับเปิดร้านอาหารมานานร่วม 2 ปีแล้ว ได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้อย่างสะดวก เนื่องจากเมื่อปิดกั้นทางข้ามรถไฟที่เชื่อมต่อกับถนนพัฒนากาญจน์เอาไว้ ทำให้ชาวบ้านต้องใช้เส้นทางเบี่ยงที่ค่อนข้างคับแคบ มักเกิดอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชนกันบ่อยครั้ง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายในชีวิตและทรัพย์สิน การมายื่นหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้จะขอให้นำเรื่องราวปัญหาความเดือดร้อนทั้งหมดไปติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ลงมาแก้ไขปัญหาบริเวณจุดนี้ให้เร็วที่สุดนั้น

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่า การรถไฟฯ ได้มีนโยบายดำเนินการปิดจุดตัดทางลักผ่านที่มักก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งและในแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก อาทิ กรณีการเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถบัสโดยสาร บริเวณป้ายหยุดรถคลองแขวงกลั่น-สถานีคลองบางพระ จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 18 ราย และได้รับบาดเจ็บ 44 ราย อุบัติเหตุในบริเวณจุดตัดทางลักผ่านมีเป็นจำนวนมากและบ่อยครั้ง ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อพี่น้องประชาชน การที่มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่มาทำทางเข้าออกเพื่อความสะดวกสบายนั้น หากปล่อยให้มีการใช้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายดังเช่นอบัติเหตุต่างๆตามที่กล่าวมา ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตาม โดยเสียสละต่อความสะดวกสบายส่วนตัวเพียงเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

“จุดที่เกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทางลักผ่าน ซึ่งชาวบ้านทำทางและเปิดใช้กันเอง ซึ่งไม่มีเครื่องกั้นถนน ลักษณะทางกายภาพของจุดตัดมีระยะมองเห็นรถไฟไม่เพียงพอ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาจุดตัดทางลักผ่านนี้มาโดยตลอด ซึ่งได้มีการประสานขอความร่วมมือกับหน่วยงานเจ้าของถนนที่ตัดกับทางรถไฟทุกจุดทั่วประเทศ สำรวจจุดตัดทางลักผ่าน จุดตัดที่มีระยะมองเห็นไม่ชัดเจนเพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องห้ามใช้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ สำหรับจุดตัดที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง ทางการรถไฟฯ ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบอาณัติสัญญาณ ป้ายเตือน ไฟกระพริบ และดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์กำจัดวัชพืช ต้นไม้ริมทางเพื่อไม่ให้บดบังทัศนวิสัยของผู้สัญจรผ่านบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางฯ เพื่อให้มีระยะมองเห็นที่ชัดเจน และยังรวมถึงการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ โดยใช้แนวทางการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ (Overpass) หรือทางลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ต่างๆ”

นายเอกรัช กล่าวว่า การรถไฟฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ และบริเวณจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือทางลักผ่านอย่างเข้มข้น โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาไปแล้วในหลายพื้นที่ โดยมีนโยบายปิดจุดตัดเสมอระดับทางฯ ที่ผิดกฎหมาย หรือทางลักผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งปัจจุบัน การรถไฟฯ ได้มีการปิดจุดตัดเสมอระดับทางฯ และทางลักผ่านเพื่อความปลอดภัยทั่วประเทศไปแล้ว จำนวน 122 แห่ง

นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหารือกับทางจังหวัด หน่วยงานท้องถิ่น กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อเร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการติดตั้งเครื่องกั้นถนนในบริเวณจุดตัดเสมอระดับทางฯ ซึ่งปัจจุบัน มีจุดตัดเสมอระดับทางทั่วประเทศมากถึง 2,630 แห่ง แบ่งออกเป็น จุดตัดเสมอระดับทางที่มีเครื่องกั้นถนน 1,409 แห่ง ป้ายจราจร 186 แห่ง คานยกของเอกชน 5 แห่ง Overpass  195 แห่ง Underpass  215 แห่ง ทางลักผ่าน 620 แห่ง

นายเอกรัชกล่าวว่า การรถไฟฯ ได้รณรงค์ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบจราจรแก่พี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาผ่านจุดตัดเสมอระดับทางรถไฟ-รถยนต์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุอีกทางหนึ่ง โดยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 62 ระบุว่า ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ถ้าปรากฏว่ามีเครื่องหมายหรือสัญญาณระวังรถไฟแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่านหรือมีสิ่งปิดกั้นหรือมีเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณแสดงว่ารถไฟกำลังจะผ่าน หรือมีเสียงสัญญาณของรถไฟหรือรถไฟกำลังแล่นผ่านเข้ามาใกล้อาจเกิดอันตราย ขอให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วของรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่ารถไฟผ่านไปแล้วและมีเครื่องหมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้

นอกจากนี้ ตามมาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่าน ไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่าห้าเมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้ขับรถผ่านไปได้ ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้พี่น้องประชาชนใช้ความระมัดระวังขณะขับขี่ยานพาหนะผ่านจุดตัดเสมอระดับทางฯ และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมถึงไม่ลักลอบเปิดจุดตัดรถไฟเป็นทางลักผ่านเพิ่มขึ้นมาเอง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุอย่างยั่งยืนต่อไป