ทช.แจงปมอภิปรายฯเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างถนนพาราแอสฟัลท์ติกฯเป็นแอสฟัลท์ติกฯ

0
51

กรมทางหลวงชนบท (ทช.)ชี้แจงการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ประเด็นเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (Para AC) เป็นผิวทางแบบแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (AC) โดยให้รายละเอียดว่า ได้มีการศึกษาแนวทางในการเพิ่มมูลค่ายางพาราภายในประเทศไทย โดยนำมาผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และเสาหลักนำทางยางพาราธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP)

โดยมีสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือด้านวิศวกรรมทั้งในและต่างประเทศให้การรับรอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างผิวทาง Para AC เป็นผิวทางแบบ AC มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ และมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม ประโยชน์สูงสุดของทางราชการ และประชาชนอย่างรอบครอบ ตามวินัยการเงินการคลัง โดยได้รายงาน ครม. เพื่อทราบและให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ

ทช.ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติให้ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงมอบให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งปรับปรุงเส้นทางคมนาคม โดยเน้นการใช้ยางพาราเป็นวัสดุในการก่อสร้าง หลังจากนั้น กระทรวงคมนาคมจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา เพื่อดำเนินการตามมติ ครม. โดยได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจระดับสูงและมีความคุ้มค่า รวมทั้งเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน และเกษตรกรชาวสวนยางพารา ดังนี้

1. ก่อนทราบผลการศึกษาด้านความปลอดภัยให้ กรมทางหลวง (ทล.) และ ทช. ส่งเสริมการใช้ยางพาราด้วยการก่อสร้างผิวทางแบบ Para AC

2. หลังทราบผลการศึกษา พบว่าการนำยางพารามาผลิตเป็นอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในงานทางได้มากขึ้นกว่าเดิม และสามารถนำมาประยุกต์เป็น RFB และ RGP เพื่ออำนวยความปลอดภัยทางถนน ดังนั้นงบประมาณปี พ.ศ. 2563 จึงขอแก้ไขสัญญาเปลี่ยนผิวทางจาก Para AC เป็น AC ซึ่งราคาต่ำกว่า และสามารถนำงบประมาณในส่วนที่เหลือมาดำเนินการ RFB ได้ ส่วนในด้านแนวทาง การแก้ไขสัญญา ทช.ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ซึ่งจากการวินิจฉัยปรากฎว่าอยู่ในดุลยพินิจที่พิจารณาดำเนินการได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นและไม่ทำให้ราชการเสียประโยชน์ รวมทั้งต้องคำนึงถึงการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอประกอบการพิจารณาแก้ไขสัญญาด้วย จากนั้นกระทรวงคมนาคมจึงเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อรับทราบแนวทางในการดำเนินการ โดย ครม. เห็นชอบให้ดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563

จากการศึกษาการดำเนินการนำยางพารามาผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ RFB และ RGP จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (RATRI) พบว่าสามารถลดอัตราการสูญเสีย เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง และยังพบว่ามีปริมาณการใช้ยางพาราสูงกว่าการก่อสร้างผิวทางแบบ

Para AC ซึ่งมีการศึกษามูลค่าผลประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ ดังนี้

– RFB ราคาต้นทุน 3,140 – 3,757 บาท/เมตร ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 2,189.63 – 2,798.10 บาท/เมตร คิดเป็นร้อยละ 70 – 74

– RGP ราคาต้นทุน 1,607 – 2,223 บาท/ต้น ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 1,162.58 – 1,778.18 บาท/ต้น คิดเป็นร้อยละ 72 – 80

– Para AC ราคาต้นทุน 294.93 บาท/ตารางเมตร ผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ 15.04 บาท/ตารางเมตร คิดเป็นร้อยละ 5.10

ซึ่งการดำเนินการจะต้องรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์โดยตรง

นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังได้ระบุประเด็นความปลอดภัยทางถนนไว้ในแผนแม่บท โดยกำหนดเป้าหมายระยะยาวลดการเสียชีวิตทางถนนลงเหลือ 12 จาก 100,000 ประชากร ภายในปี พ.ศ. 2570 และจากตัวเลขล่าสุด ปี พ.ศ. 2562 ปรากฏที่ 29.9 ต่อ 100,000 ประชากร ดังนั้นแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงคมนาคม จึงสนับสนุนให้ประเทศไทย ลดอัตราการเสียชีวิตลง การออกแบบและการติดตั้ง RFB และ RGP เป็นไปตามวิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย (Safe System Approach) ที่ทั่วโลกยอมรับ คือ มุ่งลดการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสบนถนนไทยให้เป็นศูนย์ในที่สุด และมีผลสัมฤทธิ์จากการติดตั้ง ซึ่งสามารถประเมินได้ว่าลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน ลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตของผู้ใช้ทางอย่างชัดเจน