ศึกรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ คมนาคมกางแผนรับมือ 4 ด้าน

0
44

คมนาคมเรียกประชุมหน่วยงานในสังกัดรับมือสถานการณ์สู้รบรัสเซีย-ยูเครน โดยได้ติดตามผลกระทบราคาน้ำมันแพง พร้อมกำชับเร่งหามาตรการรองรับด้านพลังงานและโลจิสติกส์

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาผลกระทบต่อภาคคมนาคมขนส่งจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหพันธรัฐรัสเซีย – ประเทศยูเครน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 น. ณ ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และผู้แทนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม ที่ประชุมได้ติดตามผลกระทบและมาตรการรองรับในด้านพลังงานและด้านโลจิสติกส์ ดังนี้

1.ด้านการขนส่งทางถนน จากสถานการณ์ด้านพลังงานปรับราคาสูงขึ้นอาจทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งที่เกิดจากเชื้อเพลิงได้รับผลกระทบทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นได้ ทำให้อาจมีผลกระทบต่อกลไกการตลาดได้ รวมถึงผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบคือรถที่ใช้น้ำมันในการเดินทาง ซึ่งเป็นประเภทการเดินทางระยะไกล รวมทั้งต้นทุนในวัสดุราคาก่อสร้างต่าง ๆ ที่สูงขึ้น และการเตรียมรองรับสถานการณ์เดินรถให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถโดยสารสาธารณะของประชาชน

2.ด้านการขนส่งทางรางได้เตรียมการรองรับปริมาณผู้โดยสารที่อาจเปลี่ยนมาใช้ระบบรางเพิ่มขึ้น โดยมีแนวทางสนับสนุนให้ผู้โดยสารเข้ามาใช้ระบบรางในการเดินทางเพิ่มขึ้น เช่น ความพร้อมของสถานี ความสะดวกในการชำระค่าโดยสาร มาตรการทางการตลาดเพื่อเชิญชวนผู้โดยสาร และมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ

3.ด้านการขนส่งทางน้ำ ผู้ประกอบการเดินเรือระหว่างประเทศและภายในประเทศได้รับผลกระทบต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการเดินเรือระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่สงคราม โดยส่งผลให้ค่าขนส่งสูงขึ้นตามราคากลไกตลาด พร้อมกันนี้ได้มีการติดตามสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและเส้นทางการเดินเรืออย่างใกล้ชิด

4.ด้านการขนส่งทางอากาศ เกิดผลกระทบต่อราคาบัตรโดยสารและต้นทุนของสายการบิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณเที่ยวบิน และจำนวนผู้โดยสารจากยุโรปมีแนวโน้มปรับลดลง ทั้งนี้เที่ยวบินจากไทย ไป-กลับ ยุโรป ยังไม่ได้รับผลกระทบ

ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์จัดทำสรุปรายงานผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวในด้านคมนาคมขนส่งที่มีต่อประชาชน ทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ทั้งในระยะสั้น และในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นคือ ระยะกลาง ระยะยาว โดยเน้นในเรื่องความปลอดภัย การให้บริการ แนวโน้มผลกระทบที่มีต่อการปรับราคาในภาคคมนาคมต่าง ๆ รายงานผลการดำเนินการรับมือผลกระทบที่หน่วยงานได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การดูแลและประชาสัมพันธ์ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งวางแผนพิจารณามาตรการรับมือเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคคมนาคมขนส่ง เช่น การปรับใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รณรงค์ให้ลดการใช้พลังงานโดยหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ โดยให้ สนข. รวบรวมรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พิจารณานำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป