กรมชลฯ เจ๋ง! คิดสารละลายกำจัดผักตบชวา

0
68

กรมชลฯ คิดสารละลาย สวพ.62-RID No.1 กำจัดผักตบชวา ต้นทุนต่ำ ไร้สารตกค้าง ขจัดปัญหาขาดแคลนแรงงานคน “อบต.-เทศบาล” สนใจแห่ขอใช้ก่อนน้ำหลาก

นางธัญลักษณ์ แต่บรรพกุล หัวหน้าฝ่ายวัชพืช ส่วนวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของผักตบชวา (Eichhornia crassipes) สร้างปัญหาในระบบชลประทานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อาทิ การกีดขวางการไหลของน้ำ ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทางไม่เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ลดอัตราการไหลของกระแสน้ำทำให้เกษตรกรได้รับน้ำไม่ทั่วถึง อ่างเก็บน้ำตื้นเขินจุน้ำได้น้อยลง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในแหล่งน้ำ ที่กระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในระบบชลประทาน โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกัน กำจัดผักตบชวา ที่ในแต่ละปีมีการระบาดอย่างรวดเร็วมากกว่า 10 ล้านตัน ในแหล่งน้ำทั่วประทศ ที่อาจจะกีดขวางทางน้ำ กรมชลประทานจึงได้คิดค้นหาวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม เพื่อจำกัดผักตบชวาด้วยการใช้น้ำมันสกัดจากพืชตระกูลยูคาลิปตัส (1,8 -Cineole) ผสมสารกลุ่มฮอร์โมนพืช (growth hormone) ชนิด 2,4-D ในรูปของเกลือ และผสมสารกลีเซอรีนลดแรงตึงผิวเพื่อให้เข้าสู่ใบของผักตบชวาได้เร็วขึ้น สารผสมนี้ เรียกว่า สวพ. 62-RID No.1 ที่ผ่านมา ได้ใช้สารผสม สวพ. 62-RID No.1 ในภาคสนามผลวิเคราะห์คุณภาพน้ำทางเคมีไม่มีการเปลี่ยนแปลง และไม่มีผลตกค้างของสารละลายสวพ. 62-RID No.1 ปริมาณสาร 2,4-D ในน้ำอยู่ในเกณฑ์คุณภาพน้ำ เพื่อการคุ้มครองทรัพยากรสัตว์น้ำจืด สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ ฉบับที่ 2530 กรมประมง (สาร 2,4-D ระดับความเข้มข้นสูงสุดที่ยินยอมให้มีได้ค่า 45.0 มิลลิกรัม/ลิตร) สาร 1,8-Cineole และกลีเซอรีนเป็นสารชีวภาพจะมีการสลายตัวในธรรมชาติด้วยจุลินทรีย์ โดยการใช้ สารละลาย สวพ. 62-RID No.1 ในการควบคุมกำจัดผักตบชวาให้หมดไปจากพื้นที่ชลประทาน จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม

หน่วยงานที่ได้นำสาร สวพ. 62-RID No.1 ไปใช้มีหลายหน่วยงาน ยกตัวอย่างเช่น โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมลเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทุ่งฝั่งตะวันตกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา ได้นำสารสวพ. 62-RID No.1 ไปฉีดพ่นเพื่อควบคุมกำจัดผักตบชวาได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง เมื่อช่วงการแพร่ระบาดที่ผ่านมา ปัจจุบันสภาพคลองปราศจากผักตบชวาทำให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณตลอดริมฝั่งคลองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การส่งน้ำมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก

“หลังจากประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ เริ่มมี องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. เริ่มเข้ามาขอสารสวพ. 62-RID No.1 จากรมชลประทานเพื่อไปฉีดพ่นผักตบชวา จนไม่สามารถผลิตได้ทัน ส่วนหนึ่งมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงให้ อบต. หรือเทศบาลที่ต้องการนำสารที่เป็นส่วนผสมมาให้ทางสำนักวิจัยและพัฒนา เพื่อผสมสารตามสูตรที่คิดค้นได้ เพื่อส่งมอบสารที่ผสมแล้วคืนให้เทศบาล หรือ อบต.นำกลับไปใช้”

นางธัญลักษณ์ กล่าวว่า การควบคุมจำกัดผักตบชวา มีหลากหลายวิธี ดังนี้ คือ แรงคน เครื่องจักรกล สารเคมี และสาร สวพ.62 ซึ่งเป็นสารที่กรมชลประทานคิดค้นขึ้นมาเพื่อกำจัดผักตบชวา หากเทียบต้นทุนต่อหน่วยที่เท่าๆ กัน พบว่า พื้นที่ 1 ไร่ ที่มีความหนาแน่นของผักตบชวา 50 ตัน หากใช้แรงงานคน จะใช้คน 9 คน ค่าจ้าง 3,400 บาท และค่าขนไปทิ้งระยะ 1 กิโลเมตร 675 บาท (ค่าน้ำมัน 25.49 บาท/ลิตร) วิธีนี้ดีไม่มีสารตกค้าง ใช้เวลา 1 วันกำจัดหมด แต่ขณะนี้แรงงานคนค่อนข้างจำกัด ในการประกอบกิจกรรมต่างๆ เครื่องจักรกล  มีต้นทุนขนย้ายเครื่องจักรในการเก็บผักตบชวา มูลค่าประมาณ 35,000 บาท และค่าน้ำมันและค่าขนไปทิ้งระยะทาง 1 ก.ม. 675 บาท (ค่าน้ำมัน 25.49 บาท/ลิตร) วิธีนี้ดีไม่มีสารตกค้าง ใช้เวลา 1 วันกำจัดหมด , สารเคมี ต้นทุน 1,400 บาท มีสารตกค้าง 3 สัปดาห์ และใช้เวลา 60 วัน ผักตบชวาจะหมดไปจากพื้นที่ และการใช้สาร สวพ.62 มีต้นทุน 3,900 บาท ไม่มีสารเคมีตกค้าง ใช้เวลา 30 วัน ผักตบชวาก็หมดไปจากพื้นที่