กรมชลฯ เอาอยู่ บริหารจัดการน้ำตามแผน

0
104

กรมชลประทานเอาอยู่บริหารน้ำใกล้เคียงแผนบริหารจัดการน้ำ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ บำรุงรักษาเครื่องจักร-เครื่องมือ ย้ำสำนักชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฝน

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ล่าสุด 30 เม.ย. 2565  ปริมาณน้ำในอ่างขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีปริมาณ 20,068 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 38% ของความจุอ่าง จากปริมาณน้ำต้นทุนเมื่อ 1 พ.ย.2564 มีปริมาณ 37,857 ล้าน ลบ.ม. มีการจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งในกิจกรรมต่างๆ ปริมาณ 22,998 ล้าน ลบ.ม. หรือ เกินแผนประมาณ 3% จากแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปีเพาะปลูก 2564/65 เริ่ม 1 พ.ย. 2564 กำหนดปริมาณน้ำใช้การได้ในฤดูแล้ง 22,280 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ในแต่ละปีกรมชลประทาน มีการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เหมาะสมกับการวางแผนเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แต่ในปีนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนกลับภูมิลำเนาและทำอาชีพเกษตรเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อการปลูกข้าวนาปรังในปีนี้ที่เกินแผนส่งเสริมเท่าตัว แต่ทางกลับกันพบว่ามีการใช้น้ำเกินแผนไปเล็กน้อย

สำหรับ ผลการเพาะปลูก ข้าวนาปรัง 2564/65 ทั่วประเทศ มีการปลูกข้าวไปแล้วจำนวน 8.11 ล้านไร่ เกินแผนประมาณ 26.5% จากแผน 6.41 ล้านไร่ ขณะนี้มีการเก็บเกี่ยว 5.22 ล้านไร่ ในจำนวนนี้ ลุ่มเจ้าพระยาถือว่าเพาะปลูกข้าวมากที่สุด 4.41 ล้านไร่ มากกว่าแผน 56.75% จากแผนที่วางไว้ 2.81 ล้านไร่ ถือเป็นพื้นที่ที่ทำนาปรังมากที่สุด สัดส่วนประมาณ 55% ของพื้นที่ทำนาปรังทั่วประเทศ

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า เพื่อรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง กรมชลประทานมอบหมายให้สำนักงานชลประทานทั่วประเทศ ประสานงานและตรวจสอบพื้นที่ที่มีการปรับปรุงอาคารชลประทานและทางน้ำที่อาจจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ พร้อมเตรียมแผนการแก้ไขบัญหาไว้ล่วงหน้า รวมไปถึงเน้นย้ำให้ดำเนินการปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม อีกทั้งเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ ติดตาม วิเคราะห์สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ แม่น้ำสายหลักต่าง ๆ

พร้อมกันนี้ได้ให้สำนักเครื่องจักรกล ดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือ ให้กับบุคลากรของหน่วยงานในทุกพื้นที่ ให้สามารถบำรุงรักษาและใช้งานเครื่องจักร เครื่องมือได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2565 รับทราบ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565

มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (เดือน มี.ค. 2565 เป็นต้นไป) โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในช่วงเดือนมี.ค. – ธ.ค.2565 และ ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติ และฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย. – ก.ค. 2565 เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง

มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ภายในเดือน ส.ค. 2565 โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำแก้มลิงเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ1ในช่วงฤดูน้ำหลาก บริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย

มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ภายในเดือน เม.ย.2565 และ ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม  จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง ในช่วงภาวะวิกฤติ

มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน ภายในเดือน ก.ค.2565 ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ

มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ภายในเดือน ก.ค.2565 สำรวจและจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และการปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ภายในเดือน ก.ค.2565 จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักร เครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และดำเนินการขุดลอกคูคลอง  ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดผักตบชวา

มาตรการที่ 7 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ภายในเดือน ก.ค.2565  เตรียมความพร้อมแผนป้องกัน  แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักร  พร้อมใช้งานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ฝนทิ้งช่วง สำหรับให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง  ปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง

มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด

มาตรการที่ 9 ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของคันกั้นน้ำ ทำนบ และพนังกั้นน้ำ และซ่อมแซม/ปรับปรุงให้มีสภาพดี

มาตรการที่ 10 จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ภายในเดือน พ.ค. 2565 จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับต่าง ๆ อย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่

มาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย ตลอดช่วงฤดูฝน

มาตรการที่ 12 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เครือข่ายต่าง ๆ และประชาชน และ

มาตรการที่ 13 ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดช่วงฤดูฝน