“สินิตย์” ปลื้มช่างฝีมือไทยปรับตัว ครีเอทสไตล์งานศิลปหัตถกรรมไทยโดนใจวัยรุ่น

0
64

รมช.พาณิชย์ ส่งต่อ sacit ขับเคลื่อนงานเชิงรุกด้านสร้างความเข้มแข็งให้ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย เน้นย้ำการนำความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอด ควบคู่การผลิตที่ตอบโจทย์ตลาด พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยกระทบการตลาดและการผลิต เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนจากงานศิลปหัตถกรรมไทย

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกที่ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งในด้านการพัฒนากระบวนการผลิต ไปจนถึงการเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการส่งเสริมผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยก็นับเป็นอีกฟันเฟืองที่สำคัญกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ การนำสินค้าหรือบริการมาเพิ่มมูลค่าโดยผ่านการคิดอย่างสร้างสรรค์ และนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ๆ

รวมถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรม สังคมเข้ามาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันมักมีการเปลี่ยนแฟชั่นตามเทรนด์ตลอดเวลา จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยจะได้ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มคุณค่า สร้างมูลค่า และส่งเสริมความสามารถให้สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการแข่งขันอยู่แล้ว มาสร้างสรรค์ให้เกิดความแตกต่างเพื่อหลีกหนีการแข่งขันแบบเดิมๆ

รมช. พาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมไทยต่อยอดมูลค่าเชิงพาณิชย์ พร้อมมุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจในกลไกตลาดให้กับผู้ประกอบการ เพื่อปรับกลยุทธ์ทางการค้าและปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์ของตลาด โดยผ่านการดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit ที่ได้ขยายช่องทางการตลาดสร้างมูลค่าในงานศิลปหัตถกรรมไทย ในปีที่ผ่านมาสร้างรายได้มากกว่า 176 ล้านบาท

ด้าน นายพรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า sacit ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม ต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมเพื่อตอบโจทย์เทรนด์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการผลิตชิ้นงาน แต่ยังคงไว้ซึ่งทักษะเชิงช่าง ความประณีตที่สะท้อนคุณค่าความเป็นไทย โดยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในงานศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและเทรนด์ตลาด ดังเช่นผลงานของครูพิรุณ ศรีเอี่ยมสะอาด ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ประจำปี 2556 ที่เริ่มต้นจากการปั้นหุ่นกระบอกจิ๋ว จนประสบความสำเร็จจำหน่ายได้ทั้งในและต่างประเทศ ต่อมาเมื่อรู้ว่าความต้องการของตลาดเปลี่ยนแปลง ต้องปรับประยุกต์ไปตามความชอบ จึงนำเอาองค์ความรู้จากงานปั้นหุ่นกระบอกมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ต่างหู สร้อยคอ และอื่นๆ ที่มีดีไชน์ร่วมสมัย ภายใต้แบรนด์ Piroon เป็นผลิตภัณฑ์ที่เปิดให้เห็นมุมมองของงานศิลปหัตถกรรมไทยที่มีความสวยงาม แตกต่าง และลงตัวมากยิ่งขึ้น