Twist Lock (ไม่)ล็อก!ปรับอ่วมทั้งเถ้าแก่-คนขับ

0
600

รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่ 1 กันยายน 2562 เป็นต้นมา กรมการขนส่งทางบกได้ออกโรงประกาศชัดว่ารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จดทะเบียนใหม่ทุกคันต้องติดตั้งอุปกรณ์“อุปกรณ์ยึดตรึงตู้คอนเทนเนอร์” หรือ Twist Lock และต้องติดตั้งไม่น้อยกว่า 4 จุดต่อ 1 ตู้บรรทุกสินค้า และต้องอยู่ในตำแหน่งที่ทำให้การกระจายน้ำหนักบรรทุกมีความเหมาะสม

อีกทั้งต้องติดแผ่นสะท้อนแสงสีเหลือง/ขาว และสีแดงที่ตัวอุปกรณ์ เมื่ออุปกรณ์สำหรับยึดตู้บรรทุกสินค้า (Twist-Lock) อยู่ในตำแหน่งการล็อก ต้องปรากฏสัญลักษณ์สีเหลืองหรือสีขาวตามแนวยาวของตัวรถ หากอุปกรณ์สำหรับยึดตู้บรรทุกสินค้า (Twist-Lock) อยู่ในตำแหน่งไม่ล็อก จะปรากฏสัญลักษณ์สีแดงตามแนวยาวของตัวรถอย่างชัดเจนเพื่อเป็นจุดสังเกตให้ผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมทางมองเห็นได้อย่างชัดเจน

ทว่า ประเด็นปัญหาที่ถกเถียงคอเป็นเอ็นในป่าดงดิบสิบล้อเมืองไทยกับ“อุปกรณ์ยึดตรึงตู้คอนเทนเนอร์”อะไรเทือกนั้น ที่แม้ตามกม.บังคับให้ผู้ขนส่ง-คนขับต้องตรวจสอบและใช้อุปกรณ์ Twist Lock ทุกครั้งเมื่อมีการบรรทุกสินค้าและขับออกไปยังท้องถนนพุ่งชนเป้าหมายการป้องกันและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ตาม

ถึงกระนั้น ในยุทธจักรนี้บรรดาเถ้าแก่-คนขับก็ต่างรู้ดีแก่ใจในข้อกม.แต่ในภาคปฏิบัติกันจริงๆแล้วก็ยังพบว่ามักจะเลี่ยงการ Twist Lock ตู้คอนเทนเนอร์วิ่งกันเกลื่อนเมือง ที่แม้จะย้อนแย้งกับกม.และถูกภาคสังคมก่นด่าว่ามักง่ายและเห็นแก่ตัวก็ตาม เพราะเหตุผลที่พวกเขาหยิบยกมาอ้างว่าหาก Twist Lock เวลาเกิดเหตุไม่คาดคิดบนท้องถนน ก็จะเกิดมหกรรม “เทกระจาด”ไปทั้งหัวลาก-หางลาก-ตู้คอนเทนเนอร์มัดรวมไปด้วยกันทั้งยวงมูลค่าเสียหายมากมายก่ายกอง

ตรงกันข้าม!!หากไม่ Twist Lock เวลาเกิดอุบัติเหตุก็จะมีเฉพาะส่วนตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้นที่จะตกหล่นไป มูลค่าเสียหายย่อมน้อยกว่ากรณีแรก

แต่ประเด็นคือตู้คอนเทนเนอร์ที่ตกหล่นไปเกิดไปทับ-อัดก๊อปปี้ผู้คนที่ใช้รถ-ถนนแล้วมีผู้ชีวิตนี้สิปัญหาใหญ่และความบรรลัยจะถามหา ซึ่งก็เคยมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญแล้วเมื่อปี 2562 ที่จ.พระนครศรีอยุธยา กับสาววัย 34 ปีที่ต้องมาจบชีวิตลงหลังถูกตู้คอนเทนเนอร์หล่นทับอัดก๊อปปี้เพราะมักง่ายที่ไม่มีการ Twist Lock ตู้คอนเทนเนอร์ของรถบรรทุกนี่เอง  

ทั้งนี้ ในบทลงโทษนั้นทางกรมฯได้เน้นย้ำและคุมเข้มผู้ประกอบการขนส่ง-คนขับต้องหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ยึดตู้บรรทุกสินค้า ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุตู้คอนเทนเนอร์หล่นจากตัวรถ หากเพิกเฉยไม่ล็อกตู้คอนเทนเนอร์จะถูกลงโทษตามกฎหมายสูงสุดทันที

โดยผู้ประกอบการมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 71 ประกอบมาตรา 148 อุปกรณ์และส่วนควบไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนผู้ขับรถมีความผิดตามมาตรา 102 (4) ประกอบมาตรา 127 ไม่ใช้เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนด ปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท

อีกทั้งต้องติดตั้ง GPS Tracking เพื่อการติดตามพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถด้วยระบบ GPS กรณีไม่ควบคุมพนักงานขับรถในสังกัด จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง หรือมีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บมีความผิดทั้งพนักงานขับรถและผู้ประกอบการขนส่งและต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทุกกรณี และหากพบเป็นการกระทำผิดซ้ำจะพิจารณาพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถ และใบอนุญาตประกอบการทันที

สุดท้ายแล้ว!การ Twist Lock ตู้คอนเทนเนอร์หากล็อกหรือไม่ล็อก?จะเป็นการล็อก“เป็น-ตาย”ใครในมุมไหนบ้าง? สังคมย่อมรู้ดีแก่ใจแต่ใครหน้าไหนจะลงมือปฏิบัติหรือไม่?เป็นอีกเรื่อง!

หน่วยงานภาครัฐต้องคุมเข้มด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อให้มาตรการด้านความปลอดภัยการใช้รถใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการ-คนขับรถบรรทุกก็ต้องเติมเต็ม“ต่อมสามัญสำนึก-ความรับผิดชอบ”ที่ดีต่อสังคมส่วนรวม เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนร่วมกัน

เพราะตราบใดที่ทุกภาคส่วนยัง“หย่อนยานในความรับผิดชอบ”มักง่าย-เห็นแก่ตัว และไร้วินัย-มโนสำนึกที่ดีต่อสังคมแล้วล่ะก็ อาจได้เห็นอุบัติเหตุสะเทือนขวัญผู้คนตายหงส์ตายห่านเกิดขึ้นซ้ำๆซากๆกระชากอารมณ์ร่วมของผู้คนให้“หดหู่-อดสูใจ”วนลูปไม่จบไม่สิ้น!จริงหรือจริง?…ลองถามใจท่านดู!

:จิ้งเหลนไฟ