ขนส่งฯลดภาษีแท็กซี่-สามล้อ-จยย.ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพบริการรถสาธารณะ

0
55

กรมการขนส่งทางบก เผยประกาศราชกิจจานุเบกษาฯ ลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถสาธารณะ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึง พระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ พ.ศ. 2565 ว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกอบอาชีพขับรถสาธารณะ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการออกมาตรการช่วยเหลือผู้ขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อไปว่า สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) รถยนต์สามล้อรับจ้าง รถยนต์สี่ล้อเล็กรับจ้าง และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่ครบกำหนดเสียภาษีประจำปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 ให้ปรับลดภาษีลงร้อยละ 90 จากอัตราที่กำหนดท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 เช่น รถยนต์รับจ้าง(แท็กซี่) น้ำหนักรถ 1,300 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 685 บาท ลดเหลือ 68.50 บาท/คัน หรือน้ำหนักรถ 2,100 กก. เดิมจัดเก็บภาษี 1,250 บาท/คัน ลดเหลือ 125 บาท/คัน รถยนต์สามล้อรับจ้างเดิมจัดเก็บภาษี 185 บาท/คัน ลดเหลือ 18.5 บาท/คัน รถจักรยานยนต์รับจ้าง เดิมจัดเก็บภาษี 100 บาท/คัน ลดเหลือ10 บาท/คัน เป็นต้น

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดและปัญหาเศรษฐกิจที่มีต่อรายได้ในการดำรงชีพของผู้ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างและรถจักรยานยนต์สาธารณะ และได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะก่อนหน้านี้ เช่น มอบเงินช่วยเหลือกลุ่มอาชีพผู้ขับรถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีอายุเกิน 65 ปี ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประกอบอาชีพ ขับรถอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (29 จังหวัด) เป็นต้น