“ศักดิ์สยาม”ตอบปมร้อน ป้ายชื่อสถานีกลาง ชี้ 15 วันรู้ผล

0
37

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้สดนายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 33 ล้านบาท ในวันที่ 5 มกราคม 2566 ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือเลขที่ นร.0508/ท4784 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565 เรื่อง ขอพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) และสถานีกลางบางซื่อ สำนักพระราชวังแจ้งว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อดังนี้

  • พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ – ตลิ่งชัน) ระยะที่ 1 ว่า “นครวิถี”
  • พระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ – รังสิต) ระยะที่ 1 ว่า “ธานีรัถยา”
  • พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อ ว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์”

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 กระทรวงคมนาคมจึงได้สั่งการให้ รฟท. ติดตั้งป้ายชื่อพระราชทานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

สำหรับลักษณะป้ายชื่อพระราชทาน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” บริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก ประกอบด้วย

1) ตัวอักษรภาษาไทย “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ขนาดสูง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร หนา 40 เซนติเมตร

2) ตัวอักษรภาษาอังกฤษ “Krung Thep Aphiwat Central Terminal” ขนาดสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร หนา 40 เซนติเมตร ผลิตตัวอักษรด้วยอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง

รฟท. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดร่างขอบเขตของงานและราคากลาง โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 และคำสั่งใหม่ วันที่ 6 ธันวาคม 2565 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เป็นป้ายขนาดใหญ่ มีความยาวชื่อจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม ป้ายอักษรติดตั้งโดยมีเสารับน้ำหนักในตัวอาคาร และเจาะทะลุกระจกยึดตัวอักษรแต่ละตัว

ทั้งนี้ ตามที่มีกระแสข่าวปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมี รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก สภาวิศวกร และกรมบัญชีกลางร่วมเป็นกรรมการ

โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ปรากฏว่า มีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการฯ ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดทั้งพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน