กบร.ไฟเขียวหั่นเพดานบินโลว์คอสต์

0
108

กบร.ไฟเขียวหั่นเพดานราคาโลว์คอสต์ เก็บสูงสุดไม่เกิน 9.40 บาท ผู้โดยสารซื้อตั๋วแบบด่วนราคาถูกลง มีผล ก.ย.นี้ พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการฯ บริหารจัดการห้วงอากาศ เพิ่มทางบินมากขึ้นเวลาบินลดลง ขณะที่เอโอซี ก.ย.นี้ออกครบ 20 สายการบิน ลุยสายการบินในประเทศต่อ สั่ง กพท.ถกไอเคโอหวั่นออกเอโอแอลแบบเสรีกระทบICVM

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ซึ่งมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกรอบเพดานค่าโดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ(โลว์คอสต์)อัตราใหม่ สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ โดยกำหนดให้เก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร(กม.) ลดลงจากเดิมที่ กบร. เคยอนุมัติไว้ว่าค่าโดยสารสูงสุดต้องไม่เกิน 13 บาทต่อกม. โดยหลังจากนี้จะมีการออกเป็นประกาศกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ อัตราค่าโดยสาร และค่าระวางการขนส่งภายในประเทศ คาดว่า รมว.คมนาคมจะลงนามในเดือน ก.ย.61 และมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งจะทำให้ผู้โดยสารที่ต้องซื้อบัตรโดยสารแบบใกล้เวลาเดินทางโดยเฉพาะช่วงเทศกาลต่างๆ จะได้รับประโยชน์ ซื้อบัตรโดยสารในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
ทั้งนี้ สายการบินที่เสนอเก็บค่าโดยสารเกินราคา 9.40 บาทต่อกม. มาที่ กพท. ก่อนหน้านี้ ต้องมายื่นขอเปลี่ยนแปลงราคาที่ กพท.ด้วย แต่ทั้งนี้ได้ยกเว้นว่าหากมีบริการที่เหนือกว่าชั้นประหยัด เช่น ชั้นพรีเมี่ยม ให้เก็บค่าโดยสารสูงสุดเพิ่มได้ไม่เกิน 30% ของ 9.40 บาทต่อกม. ส่วนสายการบินให้บริการเต็มรูปแบบ (ฟูลเซอร์วิส) ยังคงเก็บค่าโดยสารตามกรอบเพดานเดิมสูงสุดไม่เกิน 13 บาทต่อกม. ทั้งนี้สายการบินที่จะเก็บในอัตราไม่เกิน 13 บาทต่อกม.ได้ ต้องมีการบริการครบ 3 อย่างให้แก่ผู้โดยสาร ประกอบด้วย น้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ 20 กิโลกรัม, อาหารเครื่องดื่ม และกำหนดที่นั่งได้ ซึ่งบริการเหล่านี้ห้ามเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม ต้องรวมอยู่ในค่าโดยสารเลย
นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาการใช้ห้วงอากาศแบบยืดหยุ่น ระหว่างฝ่ายความมั่นคงและเชิงพาณิชย์ โดยจะมีการปรับโครงสร้างอากาศและเส้นทางบิน เพื่อรองรับการเติบโตของเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการ กบร. มีตนเป็นประธาน เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และรายละเอียดต่างๆ รวมทั้งให้จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ ที่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) โดยมีผู้แทนจากกองทัพอากาศ(ทอ.), บวท. และ กพท. อยู่ในศูนย์ดังกล่าว เพื่อพิจารณาตัดสินใจการใช้ห้วงอากาศ ซึ่งจะเสนอให้ รมว.คมนาคม ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กบร. ได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ และจะเริ่มใช้ห้วงอากาศแบบยืดหยุ่นได้ภายใน 30 วันหลังจากลงนาม
นายจุฬา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการทบทวนและออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (รีเอโอซี) ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ว่า ขณะนี้เหลืออีก 1 สายการบินคือ เอชเอส เอวิเอชั่น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่ 4.2 การตรวจสอบภาคอากาศแล้ว คาดว่าจะออกเอโอซีได้ในเดือน ก.ย.นี้ ถือเป็นรายที่ 20 และจบกระบวนการรีเอโอซีของสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามเวลานี้ กพท. กำลังเร่งดำเนินการรีเอโอซีให้กับเฮลิคอปเตอร์ คาดว่าจะแล้วเสร็จครบทั้ง 7 รายในเดือน ต.ค.นี้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการรีเอโอซีสำหรับสายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ ซึ่งมีประมาณ 20 สายการบินทันที คาดว่าแต่ละสายการบินน่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือนเป็นอย่างน้อย