มหากาพย์กรุงไทย (ภาค 2)…ลับ ลวง พราง ขบวนการ(ปาหี่)ขายทอดตลาดทำเลทองสุวรรณภูมิ!

0
708

จ่อระอุแดดเป็น“ปรอทแตก” ขึ้นมาอีกระลอก!

กับมหากาพย์เงินกู้อื้อฉาว 8,300 ล้านของธนาคารกรุงไทยต่อบริษัทในเครือกฤษดามหานครในอดีตที่ยังคงตามล้างตามเช็ดกันไม่สะเด็ดน้ำเสียที!

หลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาจำคุกอดีตกรรมการ ผู้บริหารธนาคาร เจ้าหน้าที่สินเชื่อตลอดจนผู้บริหารกลุ่มกฤษดามหานครที่เป็นลูกหนี้ไปนับสิบรายตั้งแต่ปลายปี 2558 คนละ12-18 ปีฐานทุจริตปล่อยเงินกู้และสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตปล่อยเงินกู้จนทำให้รัฐเสียหาย และยังให้ร่วมกันชดใช้มูลละเมิดอีกนับ 10,000 ล้านบาทให้แก่ธนาคารด้วย

วันนี้ยังคงมีควันหลงให้ต้องตามล้างตามเช็คกันมาอีกไม่หยุดหย่อน ล่าสุดรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาแถลงข่าวส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ “ดีเอสไอ” เร่งติดตามตัวเลขานุการส่วนตัว“คุณหญิงอ้อ”และสามีมารับทราบข้อกล่าวหาร่วมฟอกเงินและสมคบฟอกเงินอีกชุด หลังจากก่อนหน้านี้อัยการสูงสุดได้ส่งฟ้อง นายพานทองแท้  ชินวัตร บุตรชายของอดีตนายกฯทักษิณ ข้อหาฟอกเงินต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางไปแล้ว

เรื่องของคดีความอาญาที่เป็นควันหลงจากกรณีเงินกู้อื้อฉาวกรุงไทยในอดีตเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่ยังคงตามล้างตามเช็ดกันไม่สะเด็ดน้ำอยู่นั้นจะลงเอยอย่างไร เหตุใดคดีการปล่อยเงินกู้ที่เป็นแค่คดีแพ่งจึงไปลงเอยด้วยคดีอาญาด้วยนั้น ประชาชนคนไทยคงได้แต่เฝ้าติดตามผลที่จะออกมาเท่านั้น เพราะไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางอะไรด้วย

แต่ที่จ่อระอุแดดเป็น“ปรอทแตก” ขึ้นมาล่าสุดก็คือ กรณีการขายที่ดิน 215 แปลงเนื้อที่กว่า 4,400 ไร่ที่เป็นทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ก้อนนี้ ซึ่งธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้ร่วมกับสำนักงานบังคับคดี จังหวัดสมุทรปราการเพิ่งนำออกประมูลขายทอดตลาดไปเมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมาหลังจากต้องเลื่อนกำหนดขายทอดตลาดมานับปี โดยมี บริษัท ทีเออาร์ แลนด์ จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม“เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ เป็นผู้ชนะประมูลไปในราคา 8,914 ล้านบาท

หลายฝ่ายพลอยตื่นเต้นไปกับการขายทอดตลาดทำเลทองผืนงามดังกล่าว เพราะถือเป็นที่ดินแปลงใหญ่ เป็นที่หมายปองของนักลงทุน นักพัฒนาที่ดินหรือแลนด์ลอร์ดทั้งหลาย เมื่อเจ้าสัวเจริญคว้าเค้กก้อนยักษ์นี้ไป ทุกฝ่ายจึงคาดหวังคงจะมี “อภิมหาโปรเจ็กต์”สุดบิ๊กบึ้มตามมา

แต่…เส้นทางฮุบทำเลทองผืนงามดังกล่าวของ “เจ้าสัวเจริญ”นั้นจ่อจะเผชิญกับความยุ่งยาก เมื่อ“นายวิชัย กฤษดาธานนท์” จำเลยในคดีเงินกู้กรุงไทยและกลุ่มบริษัทครอบครัวกฤษดาธานนท์ได้ “แหกกรง” ออกมาร้องแรกแหกกระเชอคัดค้านการขายทอดตลาดทำเลทองผืนนี้สุดลิ่ม!พร้อมแฉโพยเบื้องหน้า-เบื้องหลังการประมูลขายทอดตลาดที่ดินผืนนี้ว่าเป็นไปโดยมิชอบ เต็มไปด้วยความฉ้อฉลที่ทำให้ลูกหนี้ต้องเสียสิทธิ์ยิ่งกว่าถูก “ปล้นสดมภ์”!!! จ่อจะกลายเป็นมหากาพย์เงินกู้กรุงไทย ภาค 2  ตามมา

อึ้ง! ทำเลทองสุวรรณภูมิไร่ละแค่ 2 ล้าน!

ทันทีที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดสมุทรปราการเคาะโต๊ะประมูลขายทอดตลาดที่ดิน 3 แปลงใหญ่ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหนี้ของธนาคารกรุงไทยให้แก่ บริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี และสวนอุตสาหกรรมโรจนะผู้ชนะประมูลรายเดียวไปในราคา 8,914 ล้านบาท เท่าราคาตั้งต้นประมูล

นายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยตามคำพิพากษาที่ยังคงถูกจองจำอยู่ในเรือนจำและกลุ่มบริษัทครอบครัวกฤษดาธานนท์ ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องร่วมชดใช้มูลละเมิดนับ  10,000 ล้านตามคำพิพากษาได้ออกโรงคัดค้านการขายทอดตลาดครั้งนี้อย่างหนัก  โดยระบุว่ามีราคาถูกจนผิดสังเกต และเป็นการขายหลักประกันหนี้โดยมิชอบ! 

ทั้งที่ ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงใหญ่ผืนสุดท้ายที่ตั้งอยู่ในโซนสีม่วงใกล้ทำเลทองสุวรรณภูมิ และยังเป็นประตูสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่กลับมีการตั้งราคาขายเอาไว้ต่ำสุดกู่ตรว.ละแค่ 5,000 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าราคาประเมินเมื่อครั้งที่กลุ่มกฤษดามหานครนำไปค้ำประกันเงินกู้กรุงไทยในปี 2543-44 ที่มีการประเมินไว้ไม่ต่ำกว่าวาละ 12,000 บาทหรือไร่ละกว่า 4.8 ล้านบาท หรือต่ำกว่าในอดีตเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนถึงวาละ 9,000 บาท ถือเป็นการขายในราคาที่ทำให้ลูกหนี้เสียสิทธิ์และถูกรอนสิทธิ์

“เป็นไปได้อย่างไรที่ที่ดินผืนใหญ่ในทำเลทองสุวรรณภูมิและเป็นที่ดินแปลงสุดท้ายที่อยู่ในโซนสีม่วงใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ อันเป็นที่หมายปองของนักลงทุน นักพัฒนาที่ดินและบรรดาแลนด์ลอร์ดทั้งหลาย แต่กลับมีการตั้งราคาประเมินกันไว้แค่วาละ 3,000-4,000 บาทตกไร่ละไม่ถึง 2 ล้านบาท ก่อนจะขายทอดตลาดออกไปในราคาตรว.ละแค่ 5,000 บาทหรือตกไร่ละแค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น ถูกกว่าที่ตาบอดหลังเขาในต่างจังหวัดเสียอีก

เหตุใดแบงก์กรุงไทยและกรมบังคับคดีถึงตั้งราคาขายต่ำติดดินเช่นนี้…

“วิโรจน์ นวลแข”แหกลูกกรงโวยไม่เป็นธรรม!

จากการตรวจสอบย้อนรอยราคาประเมินที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ กรมบังคับคดี ซึ่งดำเนินการประเมินราคาทรัพย์ผืนดังกล่าวประกอบการขายทอดตลาด ระบุว่ามีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 3,000-4,000 บาทเท่านั้น โดยอิงราคาประเมินที่ดินรายแปลงของกรมธนารักษ์ที่อ้างว่าเป็นการประเมินที่ดิน “รายแปลง”ที่แยกอิสระต่อกัน จากเดิมที่ประเมินเป็น “บล็อกโซน” 

จึงทำให้ที่ดินที่อยู่ติดกับด้านหน้าจะถูกตีเป็นที่ตาบอดเพราะไม่มีทางเข้า-ออก จึงเป็นมูลเหตุที่ทำให้ทำเลทองผืนงาม 215 แปลงเนื้อที่กว่า 4,400 ไร่กลายเป็นที่ดิน “ตาบอด”เสียเป็นส่วนใหญ่ที่ถูกประเมินราคาไว้แค่ ตรว.ละ 3,000-4,000 บาทก่อนที่คณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์จะตั้งราคาประมูลขายทอดตลาดไว้ที่วาละ 5,000 บาทเป็นราคาตั้งต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารแบงก์กรุงไทย จำเลยที่3 ที่ถูกจองจำตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องร่วมชดใช้มูลละเมิดหนี้กรุงไทยนี้ด้วย ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการประเมินราคาที่ดินเพื่อประกอบการขายทอดตลาดข้างต้น โดยได้ขอให้สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สมุทรปราการและกรมธนารักษ์ทบทวนการประเมินราคาที่ดินให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคู่มือการประเมินราคาที่ดินปี 2552 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

โดยระบุว่าการประเมินราคาที่ดินของคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์เพื่อใช้ประกอบการขายทอดตลาดที่ดินแปลงดังกล่าว โดยอ้างอิงราคาประเมินรายแปลงแยกอิสระไม่ใช่ที่ดินผืนเดียวกันทำให้ที่ดินเกือบทั้งหมดถูกประเมินว่าเป็นที่ตาบอดไม่มีทางเข้าออกนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์คู่มือตามประกาศของกรมธนารักษ์ปี 2552 เพราะในสภาพข้อเท็จจริงที่ดินทั้ง 215 แปลงเนื้อที่กว่า 4,400 ไร่ดังกล่าวเป็นที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เดียวกัน จึงต้องถือว่าเป็นที่ดินแปลงเดียวกันที่ต้องประเมินราคาเป็นแปลงเดียวกันทั้งโซน

อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องของอดีตผู้บริหารกรุงไทยที่เป็นคนอนุมัติปล่อยเงินกู้ที่ดินผืนดังกล่าว ดูจะไม่ได้รับการตอบสนองใดๆจากคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ก่อนที่สำนักงานบังคับคดีสมุทรปราการจะเดินหน้าเปิดประมูลขายทอดตลาดต่อไป

มุบมิบ “มัดตราสัง”ขายที่ดิน 3 ศาล

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าการประมูลขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 215 แปลง เนื้อที่กว่า 4,400 ไร่ครั้งนี้ยังพบพิรุธ เป็นการจงใจนำเอาที่ดินของลูกหนี้ 3 รายของแบงก์กรุงไทยที่มีคดีฟ้องร้องอยู่ต่างศาลมา “มัดตราสัง” รวมกันออกขายในครั้งเดียว ประกอบด้วยที่ดินของ บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยีอินดัสเทรียลพาร์คจำกัดจำนวน 2,557 ไร่ ติดถนนบางนา-ตราดซึ่งเป็นที่ดินที่มีคดีความอยู่กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลแพ่ง กับที่ดินของบริษัทเคแอนด์วีอาร์เอส การ์เด้นโฮม เนื้อที่ 1,924 ไร่ซึ่งมีคดีความอยู่กับศาลล้มละลาย

ทำให้เกิดคำถามว่าแบงก์กรุงไทยและสำนักงานบังคับคดีเอาอำนาจอะไรมายึดที่ดินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดไปพร้อมกัน ทั้งที่แต่ละแปลงยังคงมีคดีความคาราคาซังกันอยู่หลายศาล  

การที่กรมบังคับคดีและแบงก์มัดตราสังเอาที่ดินทั้ง 3 แปลงใหญ่มารวมกันขายทอดตลาดเท่ากับเป็นการล็อกสเปคคนเข้าร่วมประมูลไปในตัว เป็นการเปิดโอกาสให้ฮั้วราคากันอย่างเห็นได้ชัด จึงไม่แปลกใจที่ผู้เข้าประมูลอย่างน้อย 3 รายได้หันมาจับมือกันเข้าประมูลเจ้าเดียวและกดราคาออกมาต่ำสุดกู่ดั่งที่เห็น ถือเป็นการประมูลที่มีเหตุอันชวนสงสัยได้ว่าเอื้อประโยชน์ต่อใครโดยเฉพาะหรือไม่”

พิลึก ! จงใจทำให้แบงก์รัฐเสียหาย 

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาฐานราคาประเมินที่ดินเมื่อปี 2543-2546 ช่วงที่กลุ่มบริษัทกฤษดามหานครนำที่ดินทั้ง 215 แปลง 4,400 ไร่เศษไปขอรีไฟแนนซ์กับแบงก์กรุงไทย โดยธนาคารได้ดึงบริษัทประเมินหลักทรัพย์ที่ได้รับการรับรองจาก ก.ล.ต.ถึง 2 บริษัทมาประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน คือบริษัท อินชิคเนียบรุค(ประเทศไทย)จำกัด และบริษัท ซาลแมนน์(ฟาร์อิสต์) จำกัดนั้น

ทั้งสองบริษัทได้ประเมินมูลค่าหลักประกันในขณะนั้นไว้ที่ตรว.ละ 12,000 บาทขึ้นไป หรือรวมแล้วที่ดินแปลงนี้มีมูลค่ามากกว่า 14,000-16,000 ล้านบาท

แต่เมื่อคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ กรมที่ดินประเมินราคาที่ดินประกอบการขายทอดตลาดไว้ต่ำสุดกู่ ตรว.ละ 3,000-4,000 บาทและกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลขายทอดตลาดในราคาเพียงตรว.ละ 5,000 บาท โดยตั้งราคาประมูลตั้งต้นไว้รวม  8,914 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าหนี้ที่ถือหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้ดังกล่าว แทนที่จะดำเนินการทักท้วงการประเมินราคาหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้ที่ต่ำติดดินจนอาจทำให้แบงก์เสียประโยชน์ ก็กลับเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิ์คัดค้านหรือทักท้วงใดๆ ทั้งๆที่ธนาคารรับทราบข้อเท็จจริงมาโดยตลอดราคาประเมินที่ออกมานั้นต่ำกว่าสภาพความเป็นจริงของหลักประกันที่มีอยู่กับธนาคาร

ไม่แต่เท่านั้นธนาคารยังผ่าไปรับรองความถูกต้องและเห็นชอบกับราคาประเมินดังกล่าว ทั้งที่เห็นอยู่แล้วว่าอาจเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายจากส่วนต่างของเงินที่จะได้รับจากการประมูล

“จุดนี้ถือเป็นข้อพิรุธที่น่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นการรับใบสั่งจากใครหรือไม่ถึงมีความจงใจที่จะทำให้แบงก์รัฐเสียหาย จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เหตุที่ธนาคารกรุงไทยเพิกเฉยการทักท้วงการประเมินราคาหลักทรัพย์ขายทอดตลาด ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าต่ำกว่าสภาพข้อเท็จจริงนั้น เพราะหากมีการทักท้วงราคาประเมิน จนส่งผลต่อการประมูลและทำให้ราคาประมูลที่ได้  สูงกว่าที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) สรุปไว้ในอดีต ก็เท่ากับเป็นการตบหน้า คสช.-ป.ป.ช.และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอดีตนั่นเอง”

รัฐ-แบงก์กรุงไทยเสียหายนับพันล้าน!

เช่นเดียวกับนายวิชัย กฤษดาธานนท์ จำเลยตามคำพิพากษาในคดีเดียวกันที่ได้ยื่นเอกสารคัดค้านการขายทอดตลาดในครั้งนี้อย่างสุดลิ่ม ได้ชี้ให้เห็นว่า ที่ดินหลักประกันแปลงดังกล่าว แต่เดิมติดจำนองอยู่แบงก์กรุงเทพมีการประเมินราคาไว้สูงกว่า 14,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ก่อนที่บริษัทจะหอบแฟ้มมาขอรีไฟแนนซ์เงินกู้กับแบงก์กรุงไทย ซึ่งเมื่อแบงก์ได้ขอให้บริษัทประเมินหลักทรัพย์ที่น่าเชื่อถือถึง 2 บริษัทเข้ามาประเมินมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกัน ราคาประเมินที่ได้ในขณะนั้นเมื่อเกือบ20 ปีก่อนก็ออกมาสอดคล้องกันคือ14,000-16,000 ล้านบาท

แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวมีมูลค่าสูงกว่าวงเงินที่แบงก์ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ในเวลานั้นอยู่แล้ว อีกทั้งในการขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงไทยในอดีต นายวิชัยและครอบครัวกฤษดาธานนท์ยังได้รับการร้องจากฝ่ายบริหารให้ค้ำประกันส่วนตัวในการขอสินเชื่อโดยตรงอีกด้วย ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจของบริษัท แต่ก็ยินยอมดำเนินการตามเงื่อนไขของธนาคาร เพราะต้องการแสดงเจตจำนงอันบริสุทธิ์ในการขอสินเชื่อครั้งนี้

จากข้อเท็จจริงข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามูลค่าหลักประกันที่ธนาคารมีอยู่นั้น สูงกว่าวงเงินกู้ที่ธนาคารปล่อยไปอยู่แล้วคือ 8,368 ล้านบาทและแม้เวลาจะผ่านมานับ10 ปี แต่ธนาคารก็ไม่ได้เสียหายจากหลักประกันก้อนนี้แต่ประการใด ยิ่งหากพิจารณาถึงราคาประเมินที่ดินในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ที่  กรมธนารักษ์จะมีการ

ประเมินที่ดินรายแปลงใหม่ ในขณะที่ภาครัฐยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ไฮสปีดเทรน และเมืองใหม่รองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) หลักประกันที่แบงก์ถืออยู่จะยิ่งมีมูลค่าสูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว

“การที่แบงก์กลับเร่งรีบขายทอดตลาดในวันนี้จึงชี้ให้เห็นเลศนัยบางประการว่าเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ใครบางคนหรือไม่ เป็นมูลเหตุที่อาจทำให้แบงก์รัฐเสียหายหรือไม่”

บทสรุป : มหากาพย์เงินกู้กรุงไทย ภาค 2

การที่แบงก์กรุงไทยและเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะราคาขายทอดตลาดที่ดินที่ยังคงมีคดีความคาราคาซังกันอยู่ถึง 3 ศาลออกไปโดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงนั้น

ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะส่งผลให้แบงก์รัฐสูญเสียประโยชน์จากหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ถูกตีราคาต่ำติดดินนี้ไปนับหมื่นล้านบาท ในส่วนของภาครัฐเองก็ได้รับความเสียหายจากการขาดรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอน จดจำนอง ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไปอีกนับ 1,000 ล้านบาทด้วย ถือเป็นความเสียหายที่ประเทศชาติได้รับโดยตรง

ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือ รายงานของบริษัท “ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย” ล่าสุด ที่ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ทำเลทองย่านบางนา-ตราด-สุวรรณภูมิแห่งนี้ล่าสุดเมื่อต้นเดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่าที่ดินทำเลทองย่านนี้จะยังคงทะยานขึ้นไปปีละไม่ต่ำกว่า 7-10% ตลอดระยะ 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากมีนักพัฒนาที่ดินผุดโครงการขนาดใหญ่เข้ามาหลายราย และประการสำคัญยังมีโครงการลงทุนของรัฐทั้งรถไฟฟ้าสายบางนาตราด-สุวรรณภูมิ รถไฟความเร็วสูง และเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี

โดยไนท์แฟรงค์นั้นได้ประเมินที่ดินต้นถนนบางนา-ตราดเอาไว้สูงถึงตรว.ละ 400,000 บาท ขณะที่พื้นที่ไกลออกไปตกอยู่ในช่วง 200,000-300,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าแม้ทำเลทองผืนนี้จะอยู่ถึง กม.32 แต่ด้วยศักยภาพของพื้นที่ที่มีอนาคต  เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีราคาซื้อขายกันแค่วาละ 5,000 บาทหรือตกไร่ละแค่ 2 ล้านบาท ดังที่กรมบังคับคดี และธนาคารกรุงไทย “ดั้นเมฆ” ขายทอดตลาดออกไป

แม้ว่าการดำเนินการขายทอดตลาดครั้งนี้ ทั้งแบงก์กรุงไทยและกรมบังคับคดีจะอ้างว่าดำเนินการภายใต้คำสั่งศาลที่อนุโลมให้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวได้ ถือเป็น “เกราะกำบัง”ตัวเองได้ แต่ก็เชื่อแน่ว่า หากในอนาคตมีการรื้อฟื้นกรณีขายหลักทรัพย์ค้ำประกันมูลหนี้ก้อนนี้ขึ้นมาไล่เบี้ยผู้เกี่ยวข้อง จากการดั้นเมฆขายที่ดินทำเลทองไปในราคาต่ำติดดินเช่นนี้

ผู้บริหารแบงก์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับขบวนการมุบมิบขายทอดตลาดที่ดินทำเลทองผืนงาม 4,400 ไร่ในครั้งนี้คงไม่อาจรอดพ้นความรับผิดชอบไปได้อย่างแน่นอน!!!

*********

หมายเหตุ:

ย้อยรอยมหากาพย์เงินกู้อื้อฉาวกรุงไทย

กว่าทศวรรษที่คดีอนุมัติเงินกู้ของธนาคารกรุงไทยต่อกลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานครที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หยิบยกขึ้นมาดำเนินการไต่สวนเอาผิดผู้เกี่ยวข้องยกกระบิฐานทุจริตปล่อยกู้  โดยระบุว่าก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและทำให้แบงก์รัฐกรุงไทยเสียหายไปนับหมื่นล้าน  

ไม่มีใครตั้งข้อกังขากันเลยว่าเหตุใดการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยวงเงิน 9,900 ล้านบาทต่อลูกหนี้บริษัทโกลเด้น เทคโนโลยี อินดัสเทรียลพาร์คจำกัด ในกลุ่มกฤษดามหานครในอดีตเมื่อปี 2543-2544 ซึ่งเป็นเพียงการ ”รีไฟแนนซ์”หนี้เงินกู้จากแบงก์กรุงเทพนั้น จึงถูกลากเข้าสู่คดีการเมืองได้

ทั้งๆ ที่ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของธนาคารตลอดจนบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ไม่ได้เป็นนักการเมืองหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ จะมีก็แต่อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังสั่งการให้บอร์ดและฝ่ายบริหารกรุงไทยอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวให้เท่านั้น แต่ในชั้นพิจารณาคดีไปจนถึงคำพิพากษาที่ออกมาก็กลับไม่สามารถระบุได้ว่าจำเลยที่ 1 คืออดีตนายกฯทักษิณได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีได้อย่างไร

แตกต่างจากกรณีทุจริตในโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย “คลองด่าน” 23,000 ล้านบาทที่มีการยื่นฟ้องในห้วงเวลาเดียวกัน เพราะกรณีหลังนั้นมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่เริ่มจัดซื้อที่ดินลำรางสาธารณะ ไปจนถึงการสั่งการให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการ การดั้นเมฆลงนามในสัญญาทั้งที่รู้อยู่เต็มอกผู้ร่วมทุนที่เป็นมืออาชีพที่จะเข้ามารันโครงการได้ถอนตัวออกไปตั้งแต่แรก แต่ผู้เกี่ยวข้องกลับปกปิดดั้นเมฆดำเนินการไป

และแตกต่างจากควันหลงในคดีความอื่นๆ ซ่ึงล้วนแล้วแต่มีการนำคดีเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของศาลสถิตยุติธรรมปกติ แต่เมื่อเป็นคำพิพากษาของศาลทุกฝ่ายจึงได้แต่น้อมรับ แม้แต่นายวิชัยและนายรัชฎา กฤษดาธานนท์ สองผู้บริหารกลุ่มกฤษดามหานคร ลูกหนี้เงินกู้ที่ถูกลากเข้าไปเป็นจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดของฝ่ายบริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารรัฐ

ทั้งที่หากเป็นการยื่นขอกู้ปกติหรือหอบที่ดินผืนหนี้ไปรีไฟแนนซ์ยังแบงก์อื่นๆ เขาคงไม่ต้องเผชิญวิบากกรรมแสนสาหัสดั่งที่เป็นอยู่ เพราะแม้ลูกหนี้จะผิดนัดชำระอย่างไรอย่างมากก็ถูกฟ้องให้ชดใช้หนี้สินทางแพ่ง หรือยึดที่ดินหลักประกันไปขายทอดตลาดเท่านั้น!

ยิ่งเมื่อย้อนรอยกลับไปพิจารณาตัวผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในองค์คณะผู้พิพากษาคดีเงินกรุงไทยครั้งนี้ ทุกฝ่ายได้แต่ “อึ้งกิมกี่” เมื่อปรากฏว่าคือ นายศิริชัย  วัฒนโยธิน ผู้ที่คณะกรรมการตุลาการ มีมติ 14 :0 ไม่ผ่านบัญชีเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้เป็นประธานศาลฎีกาที่ถือเป็นตำแหน่งประมุขสูงสุดของฝ่ายตุลาการ ด้วยเหตุผลด้านคุณสมบัติและความประพฤติที่ “ไม่เหมาะสม”

จึงทำให้เกิดข้อกังขาต่อบทสรุปของสำนวนคดีเงินกู้อื้อฉาวกรุงไทยดังกล่าวด้วยว่า เหตุใดจึงถูกลากขั้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเอาได้ !!!