นายกสมาคมฯTTLA ค้าน“สิบล้อ…รอเที่ยงคืน-ตี 4” ซัดแก้ปัญหาไม่ตรงจุด!

0
1229

ยังเป็นปมร้อนกระแทกหัวอกสิงห์รถบรรทุกเมืองไทยหลังรมว.คมนาคมไฟแรง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เตรียมบังคับห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ากรุง-ปริมณฑลช่วงกลางวันและอนุญาตให้วิ่งได้เฉพาะเที่ยงคืนถึงตี 4 เท่านั้นหวังแก้ปัญหารถติดในเมืองหลวง

ล่าสุด ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย (TTLA)ออกโรงค้านนโยบายห้ามสิบล้อวิ่งผ่านกรุงช่วงกลางวันหั่นเวลาวิ่งได้แค่เที่ยงคืน-ตี 4 ซัดแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ย้ำต่อให้สิบล้อหยุดวิ่งก็แก้รถติดไม่ได้ ซัดแนวคิดใช้เรือแพขนสิบล้อหนีรถติดเส้นพระราม 2 แค่“นโยบายขายฝัน” ชี้เคยมีเอกชนทำมาแล้วแต่ “เจ๊ง”

ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย(TTLA) สะท้อนมุมมองต่อนโยบายห้ามรถบรรทุกขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลและจะอนุญาตให้วิ่งเฉพาะเวลา 00.00-04.00 น.ว่า เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

“เราไม่เชื่อมั่นว่าการห้ามรถบรรทุกวิ่งแล้วรถจะไม่ติด ซึ่งนโยบายดังกล่าวไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการรองรับให้เชื่อได้ว่าจะช่วยให้ปัญหารถติดน้อยลง แต่เป็นการแก้ไขปัญหาด้วยใช้ความรู้สึก ถ้าจะแก้ก็ต้องไปดูว่าจะรณรงค์ยังไงให้คนหันมาใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว และการบริการจัดการพื้นที่ก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆให้ได้ประสิทธิภาพ ทำยังไงให้ผู้รับเหมาใช้พื้นผิวจราจรให้น้อยที่สุด”

ดร.ชุมพล เล่าต่ออีกว่า 2 ปัจจัยหลักที่ทำให้รถติดในเมืองหลวง คือจำนวนรถเล็กมีสัดส่วนที่มากและมากขึ้นทุกปี การจะมาแก้ปัญหาที่รถบรรทุกซึ่งมีสัดส่วนน้อยมาก มันเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ต่อให้รถบรรทุกคันหยุดวิ่งก็ไม่สามารถแก้ปัญหารถติดได้ ปัจจัยหลักต่อมาคือการก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ตรงนี้ต้องไปแก้ที่การบริหารจัดการพื้นที่ก่อสร้างต่างๆอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

“อย่าลืมว่ารถบรรทุกขนส่งสินค้าเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ไปหล่อเลี่ยงระบบเศรษฐกิจ ทุกๆเที่ยวที่เราวิ่งเป็นการตอบโจทย์ลูกค้าและเศรษฐกิจ ไม่ได้เอารถเปล่าไปวิ่งเล่นๆ หากห้ามวิ่งย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมแน่นอน ที่เห็นได้ชัดคือการนำเข้า-ส่งออก บรรดาเครื่องบินและเรือขนส่งสินค้าต่างๆ เขาไม่รอรถบรรทุกหรอก”

อีกทั้งยังส่งกระทบต่อสินค้าเกษตรย่อมเน่าเสียได้ง่ายมากยิ่งขึ้น รวมถึงสินค้าจำเป็นเร่งด่วน เช่น เวชภัณฑ์ เป็นต้น อีกอย่างเมื่อชั่วโมงวิ่งน้อยลงเราก็ต้องเพิ่มจำนวนรถวิ่งให้มากขึ้นเพื่อวิ่งงานให้ทัน ก็กลายเป็นว่าต้องเพิ่มปริมาณรถเข้าไปในถนนมากขึ้นอีก จากเดิมเราสามารถวิ่งได้ตั้งแต่ 3 ทุ่มถึงตี 5 และจาก 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 พอจำกัดเที่ยงคืนถึงตี 4  ชม.วิ่งงานเราก็น้อยลงเราก็ยิ่งเพิ่มจำนวนรถมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการขนส่ง ตามมาด้วยผลกระทบต่อผู้นำเข้า-ส่งออกและโรงงานต่างๆ จากเดิมที่เคยปล่อยสินค้าให้เราวิ่งได้ตลอดเวลา ก็ต้องมีช่วงเวลาสั้นๆให้รถเราวิ่งขึ้นของ เขาก็ต้องขยายโกดังและเพิ่มสต๊อกสินค้ามากขึ้น ยังไม่รวมต้นทุนแรงงานที่ต้องเพิ่มเข้าไปด้วย

ส่วนประเด็นแนวคิดการใช้แพขนานยนต์ขนาดใหญ่บรรทุกรถบรรทุกสินค้าจากท่าเรือบางสะพาน(ประจวบฯ)ผ่านอ่าวไทยถึงท่าเรือแหลมฉบัง(ชลบุรี)เลี่ยงจราจรติดขัดถนนพระราม 2 นั้น ดร.ชุมพล สะท้อนมุมมองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะในอดีตก็มีเอกชนเคยทำแต่ก็เจ๊งไป

“แม้โดยหลักการจะเป็นแนวคิดที่ดี เพราะการขนส่งทางน้ำต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 50 สต./กม. ขณะที่ทางรางอยู่ประมาณ 80 สต./กม. ส่วนทางถนนอยู่ที่ 2 บาท/กม. ถ้าเรานำรถมาลงเรือก็ย้ายจากต้นทุน 2 บาทให้เหลือ 50 สต.ต้นทุนขนส่งมันก็ถูกลง แต่ความเป็นจริงแม้จะประหยัดแต่ถึงปลายทางช้า ซึ่งไม่ตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากได้สินค้าเร็วๆ ผู้ประกอบการขนส่งก็จำเป็นต้องใช้รถวิ่งทางถนนมากกว่าใช้เรือ สุดท้ายแล้วก็ไม่มีคนใช้บริการจึงไปไม่รอด”

อย่างไรก็ดี ดร.ชุมพล ย้ำปิดท้ายว่าการที่ภาครัฐออกแนวคิดนี้มา ผมมองว่าเป็นไอเดียขายฝัน เพราะด้วยเหตุผลที่ว่าเรื่องนี้เคยมีคนทำมาแล้วและก็พิสูจน์แล้วเจ๊งไม่เป็นท่า ผมมองว่ากระทรวงฯเองก่อนจะออกนโยบายอะไรออกมาก็ควรศึกษารายละเอียดให้รอบด้าน อย่าเพิ่งไปหยิบเรื่องโน้นนี้มาผสมปนเปแต่ขาดข้อเท็จจริงมารองรับ