“จุด”ตัดรถไฟ!“จุด”ใต้ตำตอการรถไฟฯ

0
387

กลายเป็นเกิดโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญและอารมณ์เศร้าสลดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ร้อนระอุในทุกช่องทางบนโลกข่าวสารยุคสื่อโซเชียลยึดครองเมืองมนุษย์เลยก็ว่าได้กรณีอุบัติเหตุรถไฟขนส่งตู้สินค้าพุ่งชนรถบัสแสวงบุญทอดกฐินจนมีผู้เสียชีวิตเกลื่อนมากถึง 18 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 42 ราย เมื่อช่วงเช้า 10 ต.ค.ที่ผ่านมา

โดยจุดเหตุเกิดที่สถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อรถไฟขนส่งตู้สินค้าพุ่งรถบัสเข้าอย่างจังในสภาพรถบัสแทบเละทั้งคัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และที่น่าสลดและสะเทือนอารมณ์มีผู้เสียชีวิตมากถึง 18 ราย ร่างผู้เสียชีวิตมีทั้งติดในซากรถบัส บางรายกระเด็นออกจากตัวรถบัสตกอยู่ตามรางรถไฟในสภาพศพบางรายมีอวัยวะร่างกายขาดวิ่นน่าสยดสยอง และบางรายที่ติดไปกับหัวรถจักร

สาเหตุการเกิดโศกนาฏกรรมหมู่ครั้งนี้ ตามรายงานข่าวรถบัสคันดังกล่าวกำลังพาผู้โดยสารกว่า 60 ชีวิตออกจากสำโรง จ.สมุทรปราการ เพื่อไปทอดกฐิน ณ วัดบางปลานัก จ.ฉะเชิงเทรา เหลืออีกไม่ถึง 3 กม.ก็จะถึงวัดอยู่รอมมะร่อแล้ว ทว่า พอมาถึงจุดเกิดเหตุซึ่งเป็นจุดตัดข้ามทางรถไฟที่ไม่มีไม้กั้นมีเพียงสัญญาณไฟเท่านั้น คาดว่าคนขับอาจไม่ชินเส้นทางและไม่ทันระมัดระวังหรือไม่เห็นว่ากำลังมีรถไฟวิ่งมาทางซ้ายมือ ตามรายงานข่าวพนักงานขับรถไฟพยายามถึงที่สุดแล้วทั้งเปิดหวูด-สัญญาณไฟเตือนใส่แต่ก็ไม่เป็นผล

และแม้คนขับรถบัสพยายามเร่งเครื่องสุดกำลังก็มามิอาจหลุดพ้น“จุดตัดมรณะ”ถูกม้าเหล็กกำลังวิ่งเข้าสถานีพอดีพุ่งชนเข้ากลางลำจนรถบัสไถลไปอีกหลาย 10 เมตร นำมาซึ่งเกิดเหตุสลดมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากดังกล่าว

จากโศกนาฎกรรมหมู่สุดสลดดังกล่าว นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันเผ็ดร้อนว่าสรุปแล้วเหตุนี้เป็นความผิดของใครบ้าง?และสะท้อนชัดถึงข้อบกพร่องของหน่วยงานไหนบ้าง?ที่ปล่อยให้เหตุการณ์สุดสะเทือนขวัญนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก!

คนแรกที่หนีไม่พ้นก็คือคนขับรถบัสมรณะซึ่งเป็น 1 ใน 18 ผู้สังเวยจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ที่แม้ผู้ตายมิอาจฟื้นขึ้นมาแก้ต่างได้ แต่ก็ถูกสังคมตั้งคำถามอื้ออึงว่าเขาขับรถด้วยความประมาทและไม่พึงระวังให้มากๆเมื่อต้องผ่านจุดตัดรถไฟที่ไม่มีไม้กั้นมีเพียงสัญญาณไฟเตือน โดยหลักปฏิบัติแล้วผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วรถและหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตรเมื่อเห็นว่ารถไฟผ่านไปแล้ว และมีเครื่องหมายหรือสัญญาณให้รถผ่านได้ผู้ขับขี่จึงจะขับรถผ่านไปได้

จากคลิปอุบัติเหตุครั้งนี้ เห็นได้ว่าคนขับรถบัสที่คาดว่าอาจไม่คุ้นชินเส้นทาง ไม่ทันระวัง และไม่ยอมชะลอความเร็วลงและหยุดรถเพื่อให้มั่นใจซะก่อนว่าปลอดภัยแล้วค่อยขับต่อไป แต่กลับดันทุรันขับผ่านจุดตัดมรณะแล้วไม่พ้นจนถูกรถไฟที่พุ่งชนอัดเข้าอย่างจังจนนำมาซึ่่งความสูญเสียครั้งใหญ่นี้

ต่อมาที่ไม่พูดถึงไม่ได้นั่นก็คือ“จุดตัดทางรถไฟ”ไม่มีไม้กั้นแต่อย่างใดมีเพียงสัญญาณไฟเตือนเท่านั้น ที่น่าอนาถหนักจุดดังกล่าวแม้จะมีสัญญาณไฟกระพริบแต่ดันมา“ขัดข้อง”ซะงั้น ต้องยอมรับว่า“จุดตัดทางรถไฟ”หรือ“จุดลักผ่าน” ถือเป็นจุดเกิดอุบัติเหตุที่การรถไฟฯก็รู้ดีว่ามีสถิติเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์มากที่สุดในแต่ละปี

ทว่า มีจุดลักผ่านทั่วประเทศกว่า 600 จุดรวมจุดดังกล่าวนี้ด้วยเป็นจุดตัดปัญหาที่ถกเถียงกันมานานและยังไร้ข้อสรุปว่าจุดลักผ่านบางจุดที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายว่าต้องมีเป็นจุดตัดที่ต้องมีไม้กั้นนั้น ต้องเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของใครที่จะต้องติดตั้งไม้กั้นกันแน่ระหว่างการรถไฟฯหรือเอกชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆ

ภาพจาก FB ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ “ทางลักผ่าน” ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นจุดตัดที่ต้องมีไม้กั้นเป็นทางตัดผ่านทางรถไฟที่เป็นทางเข้า-ออกประจำของเอกชนหรือผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้น ๆ ผู้ทำทางตัดผ่านอาจจะเป็นประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการคัดกรอง มีสถานะผิดกฎหมาย จึงเป็นทางตัดผ่านที่ไม่มีการควบคุมด้านความปลอดภัย ซึ่งปัจุบันมีมากกว่า 600 จุดทั่วประเทศและยากต่อการควบคุม

ถามว่าแล้วทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีการพูดคุยและร่วมกันหากทางออกในการแก้ไขปลดล็อคปัญหานี้ให้สะเด็ดน้ำ?ปล่อยให้เป็นปมปัญหาคาราคาซังที่กลายเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซากนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินในแต่ละปีได้อย่างไร?

ไม่ว่าผู้ว่ารถไฟกี่คนต่อกี่คนก็พยายามแก้จุดบอดนี้มาโดยตลอด แต่ไม่รู้ว่าแก้อิท่าไหนไม่ทราบได้ ทุกจุดตัดรถไฟเจ้าปัญหาก็ยังคาราคาซังและไร้ทางทางในการแก้ไขปัญหา ปล่อยให้เป็นจุดเสี่ยงจุดอันตรายของผู้ใช้รถถนนอยู่ร่ำไป

ขนาดนายใหญ่แห่งองค์กรม้าเหล็กไทยอย่างนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่เดินทางมาตรวจสอบที่เกิดเหตุดังกล่าวก็ยอมรับว่า“จุดตัดข้ามทางรถไฟดังกล่าว ไม่มีไม้กั้น เนื่องจากสถานีนี้ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นจุดตัดที่ต้องมีไม้กั้น ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูข้อเท็จจริงประกอบกันว่าจุดดังกล่าวมีสถานะเป็นอย่างไรกันแน่ ควรต้องมีไม้กั้นหรือไม่ รวมถึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของใครที่จะต้องติดตั้งไม้กั้น”

“จุด”ตัดรถไฟเจ้าปัญหากลายเป็น“จุด”ใต้ตำตอทิ่มแทงใจของการรถไฟฯที่รู้ดึถึงปัญหา แต่กลับก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ซะอย่างนั้น!

จริงอยู่แม้“ไม้กั้น”ไม่ใช่“ไม้กายสิทธิ์”ที่สามารถปิดทางการเกิดอุบัติเหตุได้ทุกกรณี แต่ก็เป็นด่านแรกช่วย“กั้นรถ-ดึงสติ”คนขับไม่ให้ผ่านไปได้โดยสะดวกในระดับหนึ่ง หากจุดนี้มี “ไม้กั้น”โศกนาฎกรรมหมู่สุดสลดครั้งนี้…อาจไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้!

มันถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ปมปัญหานี้ได้เบ็ดเสร็จเพื่อให้เกิดความปลอดภัยครอบคลุมทุกจุดตัดรถไฟเจ้าปัญหาซะที หรือจะรอให้เกิดอุบัติเหตุสุดสลดคร่าชีวิตประชาชนอีกกี่สิบศพ?องค์กรม้าเหล็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงจะ…ตื่นจากภวังค์?

สุดท้ายต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตกับโศกนาฎกรรมหมู่ครั้งนี้!และวิงวอนทุกภาคส่วนต้องนำมาเป็น“บทเรียนราคาแพง”เร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญ…ซ้ำซาก และไม่ควรปล่อยให้ “จุด”ตัดรถไฟเจ้าปัญหากลายเป็น“จุด”ใต้ตำตอที่รอพระเอกขี่ม้าขาวจากหน่วยงานไหนมารับผิดชอบอีกต่อไป

เพราะทุกชีวิตมีค่า…รอไม่ได้ซึ่งทุกความสูญเสีย!

:ปีศาจขนส่ง