“คนสิบล้อ”ขู่!‘หยุดวิ่ง’ขนส่งสินค้าทุกประเภท งัดข้อปมห้ามเข้ากรุงเซ่นฝุ่นพิษ PM2.5

0
4092

กลายเป็น Talk of the town กระแทกหัวอกคนขนส่ง-สิงห์รถบรรทุกไปเต็มเปากับมาตรการสกัดฝุ่น PM2.5ที่ผู้ว่าฯกทม.“อัศวิน ขวัญเมือง”เตรียมออกข้อบัญญัติควบคุมรถบรรทุก 6 ล้อขึ้นไปห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน(วงแหวนรัชดาภิเษก)และรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไปห้ามเข้าพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอก(วงแหวนกาญจนาภิเษก)ตั้งแต่ 06.00-21.00 น.ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้-28 ก.พ.64 หวังพุ่งขนเป้าหมายช่วยลด PM2.5ได้ถึง 27 %

เป็นแรงโน้มถ่วงเรียกแขก-เสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในแวดวงขนส่ง-รถบรรทุกรุมสวดยับ “รถบรรทุก”ไม่ใช่“ต้นเหตุ”ฝุ่นPM2.5 แต่เพียงผู้เดียว ซัดกลับทำไม?ไม่กล้าแตะ“รถเมล์ขสมก.-รถโดยสาร-กระบะ”โอดสิบล้อ “แพะรับบาป” ย้ำชัดแก้ปัญหาปลายเหตุ-ล้อมคอกปัญหาพอไปที แถมซ้ำเติมต้นทุนขนส่ง-กระทบชิ่งระบบโลจิสติกส์-ห่วงโซ่อื่นๆปั่นป่วน เหน็บเจ็บแสบใคร?รับผิดชอบความเดือดร้อน-ปัญหา-ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ล่าสุด สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยผนึก 10 สมาคมขนส่ง ตบเท้าตั้งโต๊ะแถลงข่าวปมร้อน“จับสิบล้อเซ่นฝุ่นพิษ PM2.5”ภายในงานประชุมใหญ่สมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสานที่ห้องประชุมอิมพีเรียล 2 โรงแรมอิมพีเรียล โคราช เมื่อ 20 พ.ย.63 ที่ผ่านมา ยันคัดค้านเต็มประตูพร้อมซัดกลับรัฐ-กทม.“เกาไม่ถูกที่คัน” ชี้รถบรรทุกไม่ใช่“ต้นเหตุ”ฝุ่นพิษ วอนรัฐสำเหนียกสิบล้อคือ“เส้นเลือด”หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจ-ปากท้องถูกตัดเมื่อไหร่ท่านก็ตายเมื่อนั้น ขู่หากยังดื้อดึงบังคับใช้พร้อมระดมพลคนสิบล้อยกระดับคัดค้านเดินหน้าฟ้องศาลปกครอง-ผนึกกำลัง“หยุดขนส่งสินค้า”ทุกประเภทเข้ากรุงทันที

ค้าน!รถบรรทุกไม่ใช่ “ต้นเหตุ

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าพวกเราสหพันธ์ฯพร้อมด้วย 10 สมาคมขนส่งฯที่มีสมาชิกอยู่กว่า 3 แสนคัน ยังยืนยันจุดยืนเดิมที่จะขอคัดค้านนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด อีกทั้งรถบรรทุกไม่ใช่ต้นเหตุปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างที่รัฐบาล-กทม.เข้าใจตามผลวิจัยและข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ปัญหาหลักเกิดจากการเผาในโล่งไม่ว่าจะเป็นหญ้า อ้อย และตอข้าวประกอบกับสภาพอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ.ไม่แปลกหรอกที่มันจะพัดมาถึงใจกลางกรุง

“หากรัฐบาล-กทม.ยังจะดื้อแพงบังคับใช้นโยบายนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจะส่งผลกลับไปหาพี่น้องประชาชนคนกรุงเทพฯจะไม่มีสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคได้จับจ่ายใช้สอยได้สะดวกและพอเพียง เพราะดีมานด์ซัพพลายมันจะขาดหายไปจากระบบทันที รถบรรทุกสินค้าเปรียบเสมือนสะพานลำเลียงสินค้าถ้าเกิดตัดสะพานลำเลียงการขนส่งออกไปคิดเอาเองล่ะกันจะเกิดอะไรขึ้น”

นายอภิชาติ ย้ำว่าถ้าจะห้ามรถบรรทุกเข้ากทม.ก็ต้องหาที่พักจอดให้พวกเราด้วย อยากให้รัฐบาลเพิ่งสำเหนียกด้วยว่าเราคือเส้นโลหิตเส้นหนึ่งหากมาตัดเส้นเลือดนี้ไปเมื่อไหร่ท่านก็ตายเมื่อนั้นแหล่ะ อย่ามองพวกผมในลักษณะที่อยากจะทำอะไรก็ได้ เรื่องแบบนี้เรายอมรับไม่ได้ และเวลาที่ท่านอยากประกาศใช้มาตรการอะไรออกมา ก็ไม่เคยเชิญพวกเราเข้าไปร่วมฟังและเสนอปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นบ้าง

“ไม่ใช่ไปนั่งเทียนเสร็จแล้วก็มาบอกจะบังคับใช้นโยบายโน่นนี่นั่น ถึงแม้เราจะเป็นแค่หยิบมือเดียวแต่เรามีพลังด้านโลจิสติกส์ที่มีประโยชน์มหาศาลต่อส่วนรวม หากกทม.และรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะประกาศใช้คำสั่งดังกล่าว ทางสหพันธ์ฯจะเดินหน้าไปฟ้องต่อศาลปกครองในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ และสหพันธ์ฯก็จะหยุดขนส่งสินค้าทุกประเภทเข้ากรุงเทพมหานครทันที  ดังนั้น ขอวอนให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบถึงผลกระทบที่จะตามมา”

ข้อมูลวิจัยฝุ่นพิษของ AIT ‘บิดเบี้ยว-ย้อนแย้ง

นายพีระพัชร์ จิระวัชรเอก นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าประเด็นที่กทม.กำหนดห้ามรถบรรทุกเกิน 6 ล้อวิ่งเข้าพื้นที่ชั้นกทม.นั้นก็สืบเนื่องจากข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่รวบรวมโดยสถาบัน AIT มีการวิจัยฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ.สาเหตุหลักมาจากรถบรรทุก 28 % ในจำนวน 72.5 % ของภาคคมนาคมขนส่ง

“ข้อมูลนี้ย้อนแย้งกับผลการวิจัยหลายสำนักทั้งจากหลายมหาวิทยาลัยรวมถึงสำนักวิจัยในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น Jica หรือ Nasa ชี้ชัดสาเหตุหลักการเกิดฝุ่นพิษ 50 % มาจากการเผาในที่โล่ง 30 % มาจากภาคอุตสาหกรรม 10 % มาจากภาคคมนาคมขนส่ง และอีก 10 % จากภาคอื่นๆ นี้คือผลการวิจัยที่ช่วยหักล้างสาเหตุหลักที่ภาครัฐยึดเอาจากกรมควบคุมมลพิษว่าสาเหตุหลักมาจากรถบรรทุก 28 % ในจำนวน 72.5 % ของภาคคมนาคมขนส่งได้เป็นอย่างดี”

นายพีระพัชน์ ระบุอีกว่าข้อมุลและผลวิจัยของกรมควบคุมมลพิษที่ผิดจากความเป็นจริงนั้น เราก็เพิ่งมาทราบว่าสถาบัน AIT เขาเอาข้อมูลประชากรรถบรรทุกที่จดทะเบียนในกทม.กว่า 3 แสนคันมาคำนวณ แต่ในความเป็นจริงแล้วรถบรรทุกทุกคันที่จดทะเบียนในกทม.ไม่ได้วิ่งในพื้นที่กทม.หมดทุกคัน จากตัวเลขของกรมขนส่งฯเป็นที่ชัดเจนรถบรรทุกที่วิ่งอยู่ในกทม.ทุกคันติด GPS ซึ่งสามารถ Track ได้ กรมขนส่งฯให้ตัวเลขชัดเจนในรอบ 24 ชม.วันมีรถบรรทุกวิ่งในกทม.แค่ 78,000 คัน เพราะฉะนั้น การที่ AIT ไปคำนวณจากฐานตัวเลขกว่า 3 แสนคันมันจึงเป็นที่มาว่าสาเหตุหลักฝุ่นพิษเกิดจากรถบรรทุก 28 % จาก 75.2 %ของภาคคมนาคมขนส่ง จึงเป็นข้อมูลที่ย้อนแย้งกับผลวิจัยของหน่วยงานอื่นๆ

“ที่น่าคิดไปกว่านั้นก็คือว่าในจำนวน 78,000 คันที่ว่านั้นมันมีทั้งจอดและวิ่ง เพราะเวลาที่รถบรรทุกวิ่งได้ในกทม.คือ 9 โมงช้าถึงบ่าย 3 และวิ่งอีกทีก็หลัง 3 ทุ่ม ดังนั้น เอาเข้าจริงแล้วตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 มีรถบรรทุกในกทม.จริงๆแค่ 3 หมื่นคันด้วยซ้ำไป จึงเป็นไม่ได้เลยว่ารถบรรทุกจะเป็นปัญหาหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 เมื่อที่เทียบกับรถทุกชนิดที่วิ่งในกทม.กว่า 5 ล้านคันในแต่ละวัน พวกเรารถบรรทุกเป็นแค่เศษเสี้ยวกระพี้เท่านั้นเองไม่ถึง 2 %”

ความเสียหายเดือนละ 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ นายพีระพัชน์ ยังสะท้อนถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ตามมาหากบังคับใช้นโยบายนี้ด้วยว่าคาดว่าวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้าน แล้ว 3 เดือนที่บังคับรวมแล้วก็เป็นแสนล้านที่เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เอาแค่ภาคอุตสาหกรรมหากเราวิ่งเข้าไม่ได้เขาก็ผลิตไม่ได้เพราะขาดวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงาน ภาคส่งออกที่ท่าเรือคลองเตยกลางวันเราเข้าไม่ได้แล้วสายเรือจะทำยังไง ไม่รวมถึงภาคก่อสร้างที่จะเกิดความเสียหายมหาศาล

“หากห้ามเราไม่เข้าไปถามหน่อยฝุ่นมันหายไปหรือไม่มันไม่หมดหรอก กลางวันไม่ให้เราเข้า 78,000 คัน แสดงว่าทุกคันต้องรอหลัง 3 ทุ่มเป็นต้นไป คิคดูล่ะกัน 78,000 คันจอดรอยู่รอบกทม.เกิดปริมาณรถบรรทุกจอดรอแออัดมหาศาลแน่นอน พอเข้าไปแล้วอาจออกไม่ได้จอดระเกะระกะมั่วไปทั่วมันจะสร้างเกิดปัญหาอีกมากมายกับนโยบายที่ออกมาแล้วก็ไม่รู้จริง หรืออาจจะรู้แต่แกล้งทำเป็นไม่รู้ การที่จะโยนบาปให้รถบรรทุกให้เหมือนตัวเองมีการแอคชั่นโชว์ผลงานอะไรบางในเรื่องฝุ่นPM2.5 ผมว่ามันไม่ถูกต้องและมันไม่เป็นธรรมกับพี่น้องรถบรรทุก ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปมันคุ้มหรือไม่กับการห้ามพวกเราวิ่งเข้ากรุง เรายอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งปัญหาเหมือนกับรถทุกคัน แต่รถบรรทุกเป็นกระพี้ปัญหาฝุ่นเท่านั้น”

กลัดกระดุมเม็ดแรก…ก็ผิดแล้ว!

ดร.ชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สะท้อนข้อคิดว่าเรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหากับทุกมหานครใหญ่ทั่วโลก แต่รูปแบบการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาของเมืองที่ใช้ได้ผล เขาจะทำการวิจัยจากสาเหตุที่เป็นจริงว่าเกิดจากอะไร และนำไปสู่การแก้ไขอย่างบูรณาการในแต่ละสาเหตุของเขา อย่างที่กรุงปักกิ่งเขาลงลึกรายละเอียดถึงภาคครัวเรือนบางพื้นที่การปิ้งย่างยังไม่สามารถทำได้เลย หากเกิดจากการเผาในที่โล่งเขาก็ย้ายออกไปเพาะปลูกในพื้นที่ห่างไกลและก็ห้ามเผาโดยเด็ดขาด โรงงานที่ก่อมลพิษเขาก็ย้ายออกไปหากเป็นภาคขนส่งเขาก็ปรับเป็นยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเขามีมาตรการบังคับและรองรับเด่นชัดในทุกปัญหาสาเหตุ

“วกกลับมาที่บ้านเราตั้งต้นข้อมูลแรกก็ผิดแล้ว กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยฯที่ได้ข้อมูลและผลการวิจัยจาก AIT ที่ชี้ประเด็นผิดว่าสาเหตุหลักฝุ่น PM2.5 เกิดจากรถบรรทุก ซึ่งข้อมูลและตัวเลขมันย้อนแย้งกับหน่วยงานวิจัยอื่นๆชัดเจน เราจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐทำผลการวิจัยให้ชัดเจน รอบด้าน และเชื่อถือได้ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตร อุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือน”

รถบรรทุก…ไม่ใช่แพะ!

ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหานี้ ดร.ชุมพล ระบุว่าอยากให้ทุกคนทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนรวมไม่เลือกปฏิบัติ เพราะประชากรกว่า 10 ล้านคนในกรุงเทพฯที่ได้รับผลกระทบก็เกิดจากหลายภาคส่วน ภาคขนส่งอาจมีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าภาครัฐมีมาตรการเฉพาะแค่ภาคขนส่ง เราไม่เห็นด้วยเพราะถือเป็นการเลือกปฏิบัติ การช่วยลดฝุ่นพิษในแง่มุมการบริหารจัดการ เวลานี้เรามีแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชั่นที่เราสามารถบริหารเส้นทางคมนาคมขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการแชร์โหลดระบบขนส่งร่วมกัน ทำให้ช่วยลดปริมาณรถเพื่อการขนส่งให้น้อยลง

“ในรูปแบบการใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆเพื่อบริหารจัดการงานด้านการาขนส่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้รถและลดจำนวนรถที่จะวิ่งลดลง ก็จะช่วยปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทยเราก็กำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศึกษาซิตี้โลจิสติกส์ หากในอนาคตกรุงเทพเป็นเมกะซิตี้ รูปแบบการบริหารจัดการรูปใหม่ที่เราได้จากวิจัยนี้ออกมาปรับใช้เพื่อช่วยลดรถบรรทุกขนส่งที่จะเข้า-ออกกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ลดน้อยลง”

“จากปมปัญหาดังกล่าวเราไม่อยากให้เกิดการแก้ปัญหาจากการตอบโต้แบบรุนแรงและไม่สร้างสร้างสรรค์ ถ้าแก้ไขปัญหานี้ในเชิงสร้างสรรค์ได้ ช่วยเอาข้อมูลและวิธีการที่ต่างประเทศเขาใช้ได้ผลแล้วมาบังคับใช้กันได้หรือไม่ ไม่ใช่เอะอะอะไรก็โทษแต่สิบล้อ เราคือรถบรรทุกนะครับเราไม่ใช่แพะ”

ต้นทุนพุ่ง-ระบบขนส่งและห่วงโซ่ป่วน

ดร.สุนทร ผจญ นายกสมาคมขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออก กล่าวเสริมว่าปัญหานี้ภาครัฐควรยกระดับให้เป็นปัญหาระดับชาติไม่ใช่ยกให้กทม.มาแก้ปัญหาแต่เพียงลำพัง เพราะปัญหานี้เกิดจากหลายสาเหตุทั้งจากภาคอุตสาหกรรม เกตรกรรม ภาคขนส่ง และการใช้พลังงาน จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาวิจัยอย่างท่องแท้นำไปสู่การแก้ปัญหาให้ตรงประเด็น

“ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคนำเข้าส่งออกมานี้แน่นอนอย่างการขนส่งที่ท่าเรือกรุงเทพในแต่ละวันมีรถบรรทุกสินค้าเข้า-ออกประมาณ 3 พันคัน และต้องใช้เวลาถึง 13 ชม.ตกชม.ละ230-250 คัน หากบังคับใช้นโยบายนี้ชม.การทำงานก็จะเหลือเวลานำรถเข้า-ออกท่าเรือเหลือแค่วันละ 9 ชม.นับรวมเวลาเตรียมการไม่ถึงด้วยซ้ำไป ก็จะเหลือรถบรรทุกสินค้าตกค้างอยู่ชม.ละกว่า 100 คันต่อวันนับเวลาทำงาน 9 ชม.ก็จะมีรถตกค้างอยู่วันละ 1 พันคัน ส่งผลกระทบต่อตู้สินค้าขาเข้าตกค้าง และบรรดาสายเรือก็ปั่นป่วนไม่สามารถเข้ามารับสินค้าได้ทันตามกรอบเวลา”

ดร.สุนทร ทิ้งท้ายว่าอีกทั้งยังจะเกิดปัญหาการจราจรแออัดภายในท่าเรือ ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น สุดท้ายแล้วต้นทุนก็จะไปตกอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม หรือผู้นำเข้า-ส่งออก คาดกันหากบังคับใช้นโยบายนี้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์โดยรวมภายในท่าเรือ-สายเรือที่เพิ่มขึ้นอาจตกอยู่ที่ 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน จึงอยากฝากไปถึงภาครัฐและกทม.คำนึงถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ กระทบถึงต้นทุนการขนส่งและทำให้ประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์การขนส่งระหว่างประเทศของประเทศไทยด้อยลง

สุดท้ายปมร้อนนี้จะลงเอ่ยอย่างไร?กทม.จะรับฟังเสียงเรียกร้องหรือดื้อแพ่งต่อ? แล้วพลพรรครถบรรทุกจะแก้เกมอย่างไร?เดินหน้าพึ่งศาลปกครองแล้วผลจะออกมาอย่างไร?และที่สำคัญสิงห์รถบรรทุกจะกล้า”หยุดวิ่ง”ขนส่งสินค้าทุกประเภทเข้ากรุงทันทีตามที่ประกาศไว้หรือไม่?

…ปูเสื่อรอ!

CR.ภาพ :สมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย