จับชีพจรสมรภูมิรถใหญ่ปี 64 รุ่งหรือร่วง?

0
558

แม้ปฏิทินกาลเวลาเพิ่งข้ามปีหนูไฟบรรลัยกัลป์ 2563 ปีแห่งความวิปโยคด้านเศรษฐกิจ-สังคมโลกต้องขวัญผวาและระทมขมขืนเพราะพิษร้ายไวรัสโควิด-19 ที่เล่นงานลากยาวตั้งต้นปีมาจนถึงปลายจนงอมพระรามท่ามกลางข่าวดีที่โลกรอคอยเมื่อช่วงปลายปีเมื่อโลกนี้มีวัคซีนป้องกันเจ้าไวรัสร้ายและเริ่มมีการฉีดวัคซีนกันแล้วในหลายประเทศยักษ์ใหญ่โลกเป็นแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์

พลันเปิดม่านฟ้าปีศักราชใหม่ 2564 แม้จะในหลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ก็ตาม ทว่า โดยรวมแล้วหมอกควันพิษไวรัสร้ายยังไม่อาจอนุญาตให้เปิดประเทศตัวเองร้อยเปอร์เซ็น มวลมนุษย์โลกยังมิอาจฉีกทิ้งวิถีชีวิตแบบ New Normal กลับมาใช้ชีวิตปกติสุขเดินทางไปมาหาสู่ผูกมิตรไมตรีสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโลกได้ โดยเฉพาะในประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนายังเฝ้ารอคิววัคซีนต่อไป คาดกันว่าปีนี้ทั้งปียังทั่วโลกยังตกซึมพิษโควิดตลอดทั้งปี

ขณะที่ประเทศไทยที่ต่างก็ได้รับผลพวงจากพิษโควิดกระทบหนักต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม โหมกระหน่ำซ้ำเติมหลายภาคธุรกิจจนโง่หัวไม่ขึ้นจากก้นเหวที่ดิ่งพสุธาจากพิษร้ายโควิดมฤตยู หลายบริษัทปิดตัวลงลอยแพพนักงาน ทุกสำนักพยากรณ์เศรษฐกิจคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 จ่อติดลบไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ส่วนธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก อัตราการเติบโตเศรษฐกิจจะหดตัวร้อยละ 5 ในปี 63

เช่นเดียวกับตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่เมืองไทยปีที่แล้วทุกค่ายล้วนกระอักพิษเจ้าไวรัสมฤตยูมืดตลอดทั้งปีแม้บางค่ายจะมีขยับตัวและเคลื่อนไหวทางการตลาดพร้อมเปิดตัวรถใหม่บ้างขณะที่บางค่ายแปลงร่างเป็น “เสือซุ่ม-เสือลำบาก”เก็บอาการเงียบกริบตลอดทั้งปี ส่งผลร้ายต่อยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์ร่วงกราวรูดอย่างน่าใจหาย

ทั้งนี้ จากสถิติยอดขายรวมทุกค่ายทุกสายพันธุ์รถเพื่อการพาณิชย์ขนาดใหญ่หลังผ่าน 11 เดือนแรกปี 2563 จากที่รวบรวมโดยบริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด พบยอดขายรวมทุกค่ายอยู่ที่ 22,266 คัน หดตัวลงถึง19.32% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้าที่ 27,600 คัน

หากแยกย่อยแต่ละค่ายอีซูซุพี่เบิ้มตลาดรถญี่ปุ่นที่ว่าแกร่งทั่วปฐพีก็ร่วง 18.48% ตามมาด้วยค่ายฮีโน่พี่รองร่วงด้วย 20.16% ส่วนยูดีแม้ทะยานโตช่วงต้นปีแต่แผ่วปลายปรับตัวลดลง 24.97% ฟากฟูโซ่แม้ช่วงต้นปีส่อโคม่าร่วงหนักแต่ตีตื่นได้บ้างช่วงปลายปีบาดเจ็บติดลบไป 16.10%

ฟากเวทียุโรปสาหัสไม่แพ้กัน สแกนเนียเจ้าของแชมป์เวทีรถใหญ่ยุโรป 4 ปีซ้อน(60-63)ร่วง 16.77% วอลโว่ ทรัคส์อาการน่าเป็นห่วงร่วงหนัก 56.51 % ส่วนพญาราชสีห์ MAN กลับแหกด่านมะขามเตี้ยเพียงค่ายเดียวโต 96.42% ส่วนค่ายเพื่อนบ้านอย่างดาวสามแฉกพราวแสงไม่ออกร่วง 51.05% เช่นกัน

Logistics Time ขอใช้พื้นนี้เป็นกระจกสะท้อนภาพรวมความเคลื่อนไหวของทุกค่ายทุกสายพันธุ์ที่เซิ้งการตลาดในไทยเมื่อปีที่แล้ว และเป็นกระจกเงาให้เห็นทิศทางการทำตลาดในปี 2564 นี้ ดังนี้ :

พี่ใหญ่-พี่รองร้องจ๊าก-ซ่าส์ไม่ออก

แม้เป็นที่ทราบกันดีทั้งป่าดงดิบสิบล้อเมืองไทยว่าค่ายรถใหญ่จากแดนซามูไรที่อยู่คู่สังคมไทยมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ ต้องหลีกทางให้ค่ายอีซูซุที่แต่ละปีไล่กะซวกยอดขายหลักกว่าหมื่นคันกินสัดส่วนตลาดหลัก 50 %  ทว่า ปีที่แล้วก็มิอาจหลีกหนีผลกระทบจากเจ้าไวรัสมหาประลัยโควิดแม้จะเป็นค่ายยักษ์ใหญ่แกร่งทั่วพสูธาก็ตตามก็ออกอาการเป๋ให้เห็นเหมือนกัน ยอดขายรวม 11 เดือนแรกกวาดได้เพียง 11,376 คันลดลงถึง 18.48%  เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 13,955 คัน และค่ายพี่ใหญ่อีซูซุไม่มีการเคลื่อนไหวกับการเปิดตัวใหม่แต่อย่างใด

ขณที่พี่รองอย่างค่ายฮีโน่คู่ปรับตลอดกาลไล่บี้ไล่เบียดความยิ่งใหญ่เคียงบ่าเคียงไหล่กับพี่ใหญ่อีซูซุได้สนุกสุดเหวี่ยงทุกปี ด้วยดีกรีความยิ่งใหญ่ก็ไม่น้อยหน้าค่ายอีซูซุเช่นกัน เพราะเล่นลุยสร้างความแข็งแกร่งและความไว้วางใจลูกค้าชาวไทยมาแล้วกว่า 5 ทศวรรษ แต่ก็มิวายเถูกพญามารไวรัสโควิดเล่นงานยอดขาย 11 เดือนแรกได้ 8,874 คัน ปรับตัวลดลง 20.16% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 11,115 คัน

ด้านการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เมื่อปีที่แล้วค่ายฮีโน่เดินหน้าท้าพิษโคดวิดปล่อยรถบรรทุก 4 ล้อรุ่นใหม่“Hino 300 Atom”ผ่านโลกออนไลน์ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เบาแบบมีระดับ บรรทุกหนักแบบมืออาชีพ”โชว์จุดเด่นจดทะเบียนพิกัด 2.2 ตันเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ปลดล็อกข้อจำกัดวิ่งได้ 24 ชม.ไม่ติดเวลา พัฒนาช่วงล่างให้แข็งแกร่งเพื่อรองรับทุกการบรรทุก มั่นใจกับประสิทธิภาพการยึดเกาะทุกสภาพถนน รับประกันนาน 5 ปี ไม่จำกัดระยะทาง

ยูดี แผ่วปลาย ฟูโซ่ไม่โก้หรูสมฐานะเดมเลอร์

ส่วนเบอร์สามของตลาดอย่างค่ายยูดี ทรัคส์ เป็นอีกหนึ่งค่ายที่เก็บตัวเงียบกริบเพราะพิษโควิด และแม้จะรักษาฟอร์มดีมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 3-4 ปี และปีที่แล้วก็ดูแรงดีไม่มีตกและทะยานโตสวนทิศทางตลาดไม่เกรงกลัวพิษโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรกก็ตาม ทว่า หลังเดินทางถึงครึ่งทางปีหนูไฟบรรลัยกัลป์จนถึงปลายปียอดขายรวมค่ายยูดี ทรัคส์ปรับหดตัวลงเมื่อเทียบกับค่ายรถญี่ปุ่นด้วยกัน ยอดขายรวม 11 เดือนปั้มยอดขายได้ 772 คันหดตัวลง 24.97% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 1,029 คัน

ส่วนเบอร์สี่อย่างค่ายฟูโซ่ภายใต้ชายคาหลังใหญ่และหรูหราสมฐานะเดมเลอร์อย่าง DCVT หลังโบยบินจากรังเก่าได้หลายปีก็ยังควานหาฟอร์มเจิดจ้าจรัสไม่เจอท่ามกลางมรสุมทั้งภายใน-นอกถาโถมใส่เล่นงานจนออกอ่าวทะลหวังไปตายเอาดาบหน้าโผล่อีกรอขึ้นฝั่งหายใจที่ดินแดนลอดช่องสิงคโปร์ และมีข่าวไม่ค่อยดีในแง่มุมการบริหารจัดการภายในองค์กรที่กุมบังเหียนโดย CEO และ CFO สายตรงจากเยอรมัน แต่จนแล้วจนรอดใช้บริการ CEO แล้ว 2 หน่อก็มิทราบได้ว่าบริหารกันอิท่าไหนองคาพยพนับวันยิ่งถอยหลังลงคลองไปไม่กลับหลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี

ขณะที่ยอดขายก็ไม่ได้ดังใจหวังสมน้ำสมเนื้อที่ดึงกลับมาโม่แป้งเองกับมือ ไม่หรูหราสมฐานเดมเลอร์ที่มีทุนหนาและบุคลากรระดับสมองเพชร ผ่านไป 11 เดือนแรกปีที่แล้วเก็บยอดขายได้ 323 คันหดตัวลง 16.10 %  ปี เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 385 คัน พลันเปิดปีศักราชใหม่ 2564 ทาง DCVT จะได้ฤกษ์ปลุกผีรถบรรทุกรุ่นใหม่ Thunderbolt ขุมกำลัง 401 แรงม้า ที่เคยเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ซ้ำยังเคยปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งเมื่อครั้งที่อยู่ในกำมือดิสทริบิวเตอร์รายเดิม ต้องติดตามดูว่าจะเร็วฝ่าผ่าหรือจะช้าเป็นเต่ากับการเปิดตัวใหม่

สแกนเนีย เจ้ายุโรป 4 ปีซ้อนกับห้วงเวลาการเปลี่ยนแปลง-ท้าทาย

ฟากเวทียุโรปปีที่แล้วถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ที่ทั้งค่ายสแกนเนียและวอลโว่ต่างต้องปรับขบวนทัพกันขนานใหญ่อันเป็นผลกระทบมาจากพิษไวรัสโควิดตั้งแต่ต้นปีผสมโรงด้วยแรงโน้มถ่วงเศรษฐกิจไทยช่วงขาลง ส่งผลกระทบต่อยอดขายในอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย 11 เดือนแรกปี 2563 ค่ายสแกนเนียแชมป์เวทีรถใหญ่ยุโรป 3 ซ้อน สะสมยอดขายได้ 354 คันปรับตัวลดลง 16.77% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 425 คัน

แม้ดูจากยอดขาย 11 เดือนแรกเมื่อเทียบกับค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ค่ายสแกนเนียมียอดขายห่างจากวอลโว่อยู่หลายช่วงตัว ถึงเวลานี้การันตีได้เลยว่าแชมป์เจ้ายุโรป 4 ซ้อน(2560-2563)อยู่ในกำมือแล้ว และเตรียมเถลิงบัลลังก์แชมป์พร้อมกับการหน้าฉลอง 35 ปีที่สแกนเนีสู้ศึกตลาดในไทยในปี2564 นี้อย่างชื่นมื่น

แม้ในมองมุมความสำเร็จที่สามารถครองแชมป์เจ้ายุโรปได้ 4 ปีติดๆ ทว่า ด้วยพิษโควิดนอกเหนือจากมีผลกระทบต่อยอดขายแล้วยังเกิดการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ โดยคุณสตีน่า เฟเกอร์แมน MD สแกนเนีย สยาม ออกแถลงการณ์ผ่านวีดิโอแจ้งลูกค้าทราบด้วยวิกฤตการณ์โควิดทำให้สแกนเนียต้องปรับลดขนาดองค์กรให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน และปิดโรงงานผลิตในไทยด้วย“ข้อจำกัด”สภาพตลาดในไทยและโอกาสการส่งออกในภูมิภาค อีกทั้งมิติซับซ้อนในข้อปฏิบัติ Free Zone กระทบต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

แต่ยืนยันไม่กระทบความมุ่งมั่นการทำตลาดในไทย ลั่นยังลุยต่อระยะยาวพร้อมรอฉลองใหญ่ครบรอบ 35 ปีในปีหน้า ย้ำไม่มีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจ-บริการ เดินหน้าเต็มกำลังเพื่อสนับสนุนลูกค้าที่มีอยู่และขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้นอย่างมีศักยภาพ พร้อมประกาศเพิ่มเครือข่ายใหม่ในเร็วๆนี้

“สแกนเนีย ยังคงวางแผนลงทุนเพิ่มศักยภาพทั้งผลิตภัณฑ์และงานบริการอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนผลกำไรให้ลูกค้า (Driving Profitability) ควบคู่กับการขับเคลื่อน เพื่อเปลี่ยนแปลงสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน (Driving the shift towards a sustainable transport) ซึ่งสแกนเนียได้ทำธุรกิจในประเทศไทยมายาวนาน ย่างเข้าสู่ปีที่ 35 ในปี พ.ศ.2564 นี้ มั่นใจได้กับความเป็นมืออาชีพ ประสบการณ์และความรู้ที่นำมาพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจขนส่งให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในระยะยาว”

ความตอนหนึ่งที่“คุณสตีน่า เฟเกอร์แมน”กรรมการผู้จัดการ บริษัท สแกนเนีย สยาม จำกัด ที่ได้สะท้อนออกถึงทิศทางการตลาดที่ชัดเจนตอกย้ำให้ลูกค้าในประเทศไทยได้มั่นใจกับการลุยการตลาดในประเทศไทยเพื่อการเติบโตในไทยระยะยาว ได้เริ่มแผนลงทุนสร้างศูนย์บริการสาขาสระบุรีใหม่ปักหมูดสาขาที่ 12 บนพื้นที่ 4 ไร่ ขยายกำลังรองรับการขนส่งที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตตามเส้นทางภาคกลาง-อีสาน ออกแบบ-ควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานการสร้างสแกนเนียทั่วโลก มีความพร้อมทั้งในส่วนพื้นที่รับ-ส่งรถ สำนักงาน ต้อนรับลูกค้า ห้องพักนักขับ ห้องเก็บอะไหล่ และโรงซ่อมถึง 6 ช่องบริการ ดูแลโดยพนักงานและช่างสแกนเนียที่มีประสบการณ์มืออาชีพ คาดเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาสสองของปีนี้

เกิดอะไรขึ้น?วอลโว่ ซุกใต้ปีกยูดี ทรัคส์

ฟากค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ค่ายคู่รักคู่แค้นของสแกนเนียที่ไล่บี้ไล่เบียดความยิ่งใหญ่บนแผ่นดินไทยมาอย่างยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ เปรียบเป็นมวยคู่เอกแห่งสังเวียนรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรป แม้จะเสียท่าให้ค่ายเพื่อนบ้านเดียวกัน 3 ปีติดๆ ถึงกระนั้น ค่ายวอลโว่ ทรัคส์ ยังปักหลักหนึ่งเดียวเป็นคู่ต่อกรค่ายคู่รักคู่แค้นเพื่อนบ้านเดียวกันอย่างสมศักดิ์ศรี

ทว่า ปี 63 ดูทวีความท้าทายมากยิ่งขึ้น ไหนจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจไทยในทิศทางขาลง ผนวกด้วยพิษวิกฤติโควิด-19 ทำเอายอดขายวอลโว่ ทรัคส์ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกันค่ายอื่นๆ โดยยอดขาย 11 ปีแรกปี 63 วอลโว่ ทรัคส์เก็บมาได้ 167 คันลดฮวบฮาบหนักถึง 56.51% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 384 คัน คัน

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปีที่ค่ายวอลโว่ไล่เบียดไล่แซงค่ายคู่ปรับตลอดกาลอย่างสแกนเนียไม่เป็นผลสำเร็จ ที่น่ากังขาไปกว่านั้นเกิดอะไรขึ้นกับค่ายยักษ์ใหญ่จากสวีเดนที่ครองเจ้าตลาดมาในไทยมาร่วม 3 ทศวรรษเมื่อทางวอลโว่ทรัคส์ออกหนังสือถึงลูกค้า-ซัพพลายเออร์บอกให้ทราบถึงการเปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิมคือ วอลโว่ ทรัคส์ (ประเทศไทย)จำกัด เป็นบริษัท ยูดี ทรัคส์ คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมกับย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่มีนัยสำคัญถึงการให้บริการ การขาย อะไหล่ที่ทางวอลโว่ ทรัคส์ในประเทศไทยจะดูแลลูกค้าคนไทย

“สร้างความมึนงงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อมกับข้อสงสัยที่ว่าจากเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะไม่มีชื่อวอลโว่ในประเทศไทยอีกต่อไปแล้วหรือ แล้วทำไมต้องเปลี่ยนเข้าไปอยู่ภายใต้ชายคายูดี ทรัคส์ที่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่นที่แต่เดิมแยกกันเป็นสัดส่วนภายใต้บ้านหลังใหญ่วอลโว่ กรุ๊ป(ประเทศไทย) เป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่อย่างไร มันมีอะไรที่มากกว่าเปลี่ยนชื่อหรือไม่อย่างไร”

จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อการทำตลาดวอลโว่ ทรัคส์ในประเทศไทยให้เป็นที่น่าเชื่อถือของลูกค้าคนไทยในอนาคตหรือไม่ อย่างไร? ยังต้องจับตาเป็นพิเศษถึงความเคลื่อนไหวและอัพเดทในรายละเอียดเรื่องนี้ต่อไป

เบนซ์ ซึมลึก พญาราชสีห์ MAN ได้เวลาคำราม

ฟาก 2 ค่ายรถใหญ่จากเยอรมัน“เมอร์เซเดส-เบนซ์”เจ้าแห่งโลโก้ดาวสามแฉกก็มิอาจสาดแสงเจิดจรัสแหวกม่านหมอกควันพิษโควิดไปได้ อีกทั้งยังดำผุดดำว่ายการตลาดหวังว่ายก้าวข้ามทะเลสีทันดรขึ้นฝั่งให้ได้ด้วยพลังดาวที่พราวแสง แต่ดูแล้วฉายแววไม่ค่อยออกสมฐานะอันอู้ฟู่ของเดมเลอร์เท่าไหร่นัก เพราะไล่เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน11เดือนแรกปี 63 ได้เพียง 39 คันหดตัวลงถึง 51.05%17 คัน เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 80 คัน

แม้ปี 63 หลายค่ายรถใหญ่ต่างก็เก็บตัวเงียบกริบไม่ไหวเอนให้เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก ทว่า ค่ายพญาราชสีห์ MAN (เอ็ม เอ เอ็น) ดูเหมือนราศีจะเจิดจรัสมากกว่าค่ายอื่นๆในแง่มุมโลกข่าวสารความเคลื่อนไหวทิศทางการทำตลาดและการจัดอีเว้นต์ขับเคลื่อนธุรกิจหวังสร้างการรับรู้และทิศทางการทำตลาดในไทยอย่างจริงจัง

เริ่มจากการประกาศแต่งตั้ง“จักรพงษ์ ศานติรัตน์”ขึ้นแท่นเป็นผู้อำนวยการประจำประเทศไทยคนใหม่ เป็น“ทัพหน้า”กุมบังเหียนด้านการบริหาร การตลาด การจำหน่ายและการให้บริการหลังการขายของ MAN Truck & Bus Thailand ทั้งหมด หวังพุ่งชนเป้าหมายนำพาแบรนด์ MAN ก้าวสู่การเป็นยี่ห้อรถบรรทุกเติบโตควบคู่ไปตลาดโลจิสติกส์ไทย โดยมีการเปิดตัวผู้บริหารหนุ่มต่อหน้าสื่อไปเมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ตามมาติดๆกับการเดินหน้าจัดบี๊กอีเว้นต์ด้วยแนวคิดSmart Drive To Success”ให้สุดฟิน-เต็มอิ่มกับทุกซอกทุกมุมทั้ง“กลยุทธ์การตลาด-บริการหลังการขาย-อะไหล่-ตัวรถ”อวดโฉมรถบรรทุก TGS 6×4 3 รุ่นย่อย ชูจุดขาย CBU 100 % จากเมืองเบียร์ลุยสู้ศึกตลาดรถใหญ่ยุโรปไทย อัดแน่นด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมประสิทธิภาพสูงสุดรอบคัน-ตอบโจทย์ทุกมิติการขนส่ง สยายปีกเพิ่ม Private Dealer ปักหมุด “เหนือ-ใต้-ตะวันออก”กรุยทางเติบโต-ชิงบัลลังก์“เจ้ายุโรป”ภายใน 3 ปีข้างหน้า และตั้งเป้ายอดขายปี 64 ไว้ที่ 100 คัน

และอีเว้นต์ส่งท้ายปลายปีกับการเปิดสนาม TPRO Training Center เมืองแปดริ้วให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ร่วมทดสอบเจ้าหัวลากสิงโตไฟ MAN TGS 3 รุ่นย่อย คือ TGS 6×4 360 แรงม้า 2.TGS 6×4 400 แรงม้า และ 3.TGS 6×4 440 แรงม้าการันตี CBU 100% จากแผ่นดินแม่เยอรมันได้สัมผัสและเปิดประสบการณ์ใหม่ร่วมทดสอบถึงความแข็งแรงทนทาน ล้ำด้วยเทคโนโลยี-ฟังก์ชั่นอัจฉริยะที่ช่วยให้ผู้ควบพวงมาลัยขับขี่ได้ง่าย มั่นใจในระบบความปลอดภัยของค่ายรถใหญ่ผู้นำยนตรกรรมระดับโลก

ขณะที่ยอดขายของค่ายพญาราชสีห์ MAN หลังเดินทางมาถึง 11 เดือนแรกปี 63  ก็ดูเปล่งปลั่งไม่แพ้การเคลื่อนไหวทางการตลาด แม้จะเป็นยอดขายที่ไม่เยอะหากเทียบกับค่ายรถยุโรปเจ้าตลาดในไทย ทว่า กลับกลายเป็นว่า MAN เป็นค่ายรถใหญ่หนึ่งเดียวที่แหวกม่านหมอกควันโควิดเติบโตในปีที่แล้วขณะที่ค่ายอื่นๆอัตราการเติบโตและยอดขายปรับตัวลดลง โดยค่าย MAN เก็บตกยอดขายไปได้ 55 คัน ทะยานโตถึง 96.42% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วที่ 35 คัน

น่าจับตา!ค่ายรถใหญ่จีน CP Foton

เมื่อกลางปีที่แล้วถือว่าเรียกเสียงฮือฮาพลางเขย่าวงการรถใหญ่เมืองไทยได้ตาลุกวาว เมื่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ ซี.พี.กรุ๊ปจากไทยบุกแดนมังกรดอดเซ็นสัญญาร่วมทุนกับ“โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป”มหาอำนาจอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายใต้แบรนด์“โฟตอน”ร่วมทุนจัดตั้งบริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ชั้นนำภายใต้แบรนด์“ซีพี โฟตอน”ในไทย หวังพุ่งชนเป้าหมายการผลิตและจำหน่ายรถโฟตอนให้เติบโตในไทย พ่วงพันธกิจต้องติด 1 ใน 3 ผู้นำตลาดสมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยเป็นเดิมพัน พร้อมสยายปีกครอบคุลมตลาดภูมิภาคอาเซียนในระยะยาวอีกด้วย

ภายใต้การร่วมทุน 2 ยักษ์ใหญ่ครั้งนี้ โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป จะให้การสนับสนุนด้านการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ด้านผลิตภัณฑ์พลังงานสำหรับยานยนต์ และเทคโนโลยีด้านการผลิต การเชื่อมโยงระบบการสื่อสารภายในตัวยานยนต์ อีกทั้งไฟเขียวให้ใช้แบรนด์สินค้า เครื่องหมายการค้า รวมถึงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันในการเซิ้งธุรกิจร่วมกัน

ฟากกลุ่มซี.พี.จะขันอาสารับผิดชอบด้านการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า การจัดหาแหล่งเงินทุน และการสร้างประสบการณ์ให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเกี่ยวกับรถบรรทุกขนาดกลาง รถบรรทุกขนาดหนัก รถบรรทุกเล็ก รถบัสโดยสาร และยานยนต์สมัยใหม่โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

โดบบริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ประกาศก้องมุ่งพัฒนา 3 มาตรฐาน “งานขาย-บริการหลังการขาย-อะไหล่”ทั้งระบบ เร่งขยายเครือข่ายดีลเลอร์ครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งเป้ายอดขายปี 63 ไว้ 450 คัน ปี 64 เพิ่ม 600-800 คัน ลั่นอีก 2-3 ปีตั้งโรงงานผลิต-ประกอบในไทย เปิดตัว 4 รุ่นใหม่แข่งในตลาดกล้ารับประกัน 6 ปี สูงสุด 8 แสนกม. มั่นใจดันพันธกิจกรุยทางผงาดติด 1 ใน 3 ผู้นำตลาดรถใหญ่เมืองไทย

แม้สมรภูมิรถใหญ่ปี 63 หลายคนอาจมองว่าถึงจุดต่ำสุดมาแล้ว พลันที่เปิดม่านฟ้าปีศักราชใหม่ 2564 กับทิศทางความสดใสกับข่าวดีต่างๆที่เกิดขึ้นกับการป้องกันไวรัสโควิด จะส่งผลดีช่วยดันให้ตลาดรถใหญ่เมืองไทยค่อยๆดีขึ้น หรือจะหนักกว่าเดิม หรือจะได้แค่ประคองตัวไปอีกหนึ่งปี งานนี้หนังม้วนยาว!