คมนาคมเคลียร์จราจรทางอากาศ- 131 หลุมจอด รับผู้นำประชุมเอเปค

0
70

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้า และขาออก และการเตรียมความพร้อมการอำนวยความสะดวก ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค โดยพบว่า ทุกขั้นตอนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบริหารจัดการได้ดี ไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งนี้ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1-1.2 แสนคนต่อวัน แบ่งเป็น ระหว่างประเทศ 8.7 หมื่นคน และในประเทศ 3 หมื่นคน ซึ่งสุวรรณภูมิยังมีขีดความสามารถในการรองรับได้อีกมาก โดยช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เมื่อปี 62 ผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 66 ผู้โดยสารจะกลับเข้าสู่ปกติ หรือมากกว่าเดิม โดยได้เร่งรัดให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท. เปิดการใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT 1) กลางปี 66 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 15 ล้านคนต่อปี อย่างไรก็ตามเนื่องจาก SAT 1 เป็นอาคารสำหรับให้เครื่องบินมาเทียบจอด ซึ่งผู้โดยสารที่เดินทางมากับเครื่องบิน ต้องนั่งรถไฟฟ้าไร้คนขับ (APM) เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) ที่อาคารผู้โดยสารหลัก ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้ ทอท. พิจารณาว่าจะสามารถจัดทำ ตม. ชั่วคราวได้ในพื้นที่ใดบ้าง ในระหว่างที่รอการเพิ่มช่อง ตม. ในอาคารผู้โดยสารหลัก

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า สนามบินสุวรรณภูมิมีช่อง ตม.119 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 7,140 คนต่อชั่วโมง(ชม.) แบ่งเป็น โซนตะวันออก 56 ช่องตรวจ สามารถระบายผู้โดยสารได้ 3,360 คน/ชม. โซนกลาง 20 ช่องตรวจ 1,200 คน/ชม. โซนตะวันตก 43 ช่องตรวจ 2,580 คน/ชม. นอกจากนี้มีเครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ 32 เครื่อง แบ่งเป็น ขาเข้า 16 เครื่อง และขาออก 16 เครื่อง อย่างไรก็ตามปัจจุบันทั้งช่วงเช้า บ่าย และเย็น จะมีสายการบินลงจอดที่สุวรรณภูมิพร้อมกันจำนวนมาก จึงทำให้เกิดความหนาแน่นในขั้นตอนตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริหารจัดการตารางบิน(สลอต) ให้สอดคล้องกับความสามารถในการให้บริการส่วนงานต่างๆ ของสนามบินด้วย

นอกจากนั้นทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) ยังยอมรับว่าขณะนี้อัตรากำลังไม่เพียงพอ ได้ทำเรื่องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เพื่อแจ้งถึงความจำเป็นที่ต้องขออัตรากำลังเพิ่มแล้ว ส่วนปัญหาเครื่องตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติไม่อ่านพาสปอร์ตรุ่นใหม่ของคนไทยนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่าได้แก้ไขด้วยการเชื่อมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามเบื้องต้นมอบให้จัดเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องดังกล่าวบางจุดไว้ด้วย เพราะหากเกิดปัญหาทางเจ้าหน้าที่จะได้เข้าช่วยแก้ไขปัญหาทันที สำหรับเรื่องอุปกรณ์เครื่องตรวจฯ อัตโนมัติที่ไม่เพียงพอ และมีการใช้งานมากว่า 10 ปีแล้วนั้น ได้แจ้ง สตม. ให้ประสาน ทอท. เพื่อ ทอท. จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการ และจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ได้เร่งรัดให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความแออัดในทุกเรื่องตามที่มอบหมายไป โดยจะต้องแล้วเสร็จภายใน 15 วันหลังจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตามได้มอบให้ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ซึ่งดูแลท่าอากาศยานในภูมิภาคเตรียมพร้อมรับผู้โดยสารที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกท่าอากาศยานมีความพร้อมแล้ว พร้อมกันนี้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดูการบริการรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอกับปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงตรวจเข้มเรื่องราคาค่าโดยสารด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงควบคุม และแก้ปัญหาต่างๆ โดยจะต้องรายงานให้กระทรวงคมนาคมรับทราบทุกวัน ขณะเดียวกันได้มอบให้ กพท. และ ทอท. จัดทำคลิปสั้น 3 นาทีเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย และประสานให้สายการบินนำคลิปดังกล่าวฉายบนเครื่องบินก่อนลงจอดที่สนามบิน

นอกจากนี้ได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อม และอำนวยความสะดวกด้านคมนาคมขนส่งให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดย ทสภ. ได้เพิ่มช่องตรวจอนุญาต 19 ช่องตรวจ เพื่อรองรับผู้ข้าร่วมประชุมฯ แบ่งเป็น โซนตะวันออก 8 ช่องตรวจ (AE1 – 8) โซนกลาง 4 ช่องตรวจ (AM17 – 20) และโซนตะวันตก 7 ช่องตรวจ (AW1 – 7) นอกจากนี้ได้เพิ่มหลุมจอดอากาศยานขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อรองรับอากาศยานของคณะประมุข และผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมฯ 120 หลุมจอด ทั้งนี้ยืนยันว่า สนามบินสุวรรณภูมิสามารถบริหารจัดการได้โดยไม่กระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์อื่นๆ และผู้โดยสาร ในส่วนสนามบินดอนเมืองได้เตรียมพร้อมหลุมจอดอากาศยานไว้ 101 หลุมจอด รวมทั้งจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยของหน่วยงานความมั่นคง ทั้งในกรณีปกติ และฉุกเฉิน.