คนกรุงกระเป๋าฉีก! ขนส่งมวลแห่ปรับขี้นราคากราวรูด

0
144

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ประจักษ์สายตาตามหน้าสื่อก็เห็นแต่บรรดาท่านขุนพลเศรษฐกิจออกโรงให้ข่าวรายวันเศรษฐกิจไทยปีไก่จะเชิดหน้าโก่งคอขันกระต๊ากลั่นไต่ระดับความดังที่ 3.6-3.9 % พร้อมยิ้มหน้าบานเป็นจานดาวเทียมรับปีหน้าฟ้าใหม่จะสดใสไฉไลกว่าเดิมทะยานขึ้นที่ระดับกว่า 4 %

เสพข่าวสารจนสมองอิ่มเอมแล้ว ปีศาจขนส่ง ก็อดรู้สึกดี๊ดีพลางเคลิบเคลิ้มตามไม่ได้ แต่ไฉนแล้วพอคลำดูกระเป๋าตังค์กลับไม่ได้ฟู่ฟ่องละอองดาวพราวแสงตามเลย ยังมี“เงินเข้าเท่าเดิม”แต่ที่เพิ่มเติมก็ตรงที่ต้องมีค่าใช้จ่ายตามไหล่ทางอีกบานตะไท ขณะที่รายรับก็ยังเท่าเดิมสูตรเดิม หรือคงจะจริงแท้ตามสูตร“รวยกระจุกจนกระจาย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าเดินทางในระบบขนส่งมวลชนทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็น “ทางบก-ราง-น้ำ-อากาศ”ร่วมกันแห่กฐินสามัคคีปรับขึ้นราคากราวรูด ยิ่งเป็นมนุษย์กรุงเทพฯแล้วล่ะก็เตรียมกระเป๋าฉีกกันได้เลยครับพระเดชพระคุณท่าน

ไล่ดะจากระบบขนส่งมวลชนทางน้ำที่กรมเจ้าท่าประกาศปรับอัตราค่าโดยสารทางเรือในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีก 50 สตางค์ถึง 1 บาท ซึ่งเป็นการปรับราคาหลังราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มสูงกว่าเพดานเกินกว่า 10 วัน

ขณะที่ระบบรางไล่เรียงจาก “รถไฟฟ้า BTS” ระบบขนส่งมวลชนยอดฮิตคนกรุงที่แห่กันขึ้นในเวลาเร่งด่วนจนแน่นแออัดถึงขนาดจะยัดเยียดความเป็นผัวเมียให้กันซะแล้ว ประกาศปรับขึ้นราคาอีก 1 – 3 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาเป็นต้นมา ในเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร จากราคา 15 – 42 บาท เป็น 16 – 44 บาท

ฟากฝั่งองค์กรม้าเหล็กไทยที่จะถึงก็ช่างไม่ถึงช่างอย่าง“รถไฟ” ระบบขนส่งอันเป็นที่พึ่งของประชาชนฐานรากอย่างแท้จริง ก็ไม่ยอมน้อยหน้าระบบอื่นๆเช่นกัน โดยมีการประกาศปรับขึ้นราคาค่าโดยสารเมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยได้ปรับขึ้นค่าโดยสารรถรุ่นใหม่ 115 คัน จำนวน 8 ขบวน ในอัตรา 15 – 20% หรือเพิ่มขึ้นราว 150 – 200 บาทต่อเที่ยว ใน 4 เส้นทาง

ขณะที่คนกรุงอยากจะขึ้นทางพิเศษเพื่อคนพิเศษอย่างคุณ ก็ต้องเตรียมทำใจควักกระเป๋าจ่ายเงินเพิ่มเช่นกัน เพราะ “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)” เตรียมพิจารณาปรับขึ้นค่าผ่านทางพิเศษ (ทางด่วน) จำนวน 2 เส้นทางในปีหน้าที่จะถึงนี้ ได้แก่ ทางด่วนอุดรรัถยา สายบางปะอิน-ปากเกร็ด และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) อีกช่วงละ 5 บาท ซึ่งเป็นไปตามสัญญาที่ต้องปรับค่าผ่านทาง ทุกๆ 5 ปี บนพื้นฐานอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อ)

หรือแม่แต่ผู้จะเหินฟ้าไปต่างประเทศก็ต้องจ่ายค่าโดยเพิ่มเช่นกัน โดยการบินไทยสายการบินแห่งชาติก็ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้้อเพลิงรวม 59 เส้นทาง ส่งผลกระทบราคาบัตรโดยสารปรับเพิ่มขึ้น สูงสุดเป็นเส้นทางยุโรปเพิ่มใบละ 2,244 บาท มีผลบังคับใช้กับบัตรที่ออกตั้งแต่ 19 ก.ย.นี้เป็นต้นมา

บริบทสุดท้ายแล้วคนกรุงก็ยากที่จะปฏิเสธกับการทนแบกรับภาระค่าครองชีพที่บรรจงถีบตัวสูงขึ้น เพราะยังไงวงจรชีวิตแต่ละวันก็ต้องดำเนินไปอยู่ดี และต้องยอมจำนนต่อฟ้าก้มหน้าก้มตารับชะตากรรมควักกระเป๋าจ่าย “ค่าโดยสาร-ค่าผ่านทาง” ที่ขยับปรับเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางเลือก

แต่หากจ่ายแพงขึ้นแล้ว คุณภาพและบริการก็ขอบิณฑบาตให้มันดีดตัวดียิ่งขึ้นตามไปด้วยล่ะกันคุณโยม!