เลิกติดตั้ง “เครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์” วัวหาย…แล้วล้อมคอก(อีกแล้ว)

0
364

แหวกม่านฟ้าปีศักราชใหม่ 2561 กะจะสงบปากสงบคำเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับตัวเองซะหน่อย โดยไม่ไปกัดไปเห่าชาวบ้านชาวช่องเหมือนทุกการกระแทกแป้นพิมพ์ที่ผ่านมา แต่พอเหลือบเห็นข่าวขสมก.สั่งเลิกติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ หรือดัดจริตเปล่งเป็นภาษาประกิตว่าเครื่อง Cash Box หลังพบปัญหาสุดคลาสสิค “ใช้งานไม่ได้ ไม่เหมาะกับสภาพจริง”ก็เลยอดไม่ได้ที่จะปากสุนัขต้อนรับปีนักษัตรสุนัข

ที่สำคัญให้กับสมบทบาทสื่อมวลชนที่ชาวโลกมอบภารกิจให้เป็น “หมาเฝ้าบ้าน”!

เผือกร้อนการเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่อง E-Ticket ถือเป็นการยกระดับการบริการที่ขสมก.ภูมิใจนำเสนอเป็นที่สุด เพื่อการเป็นปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยสอดรับกับยุคดิจิทัล และเทรนด์สังคมไร้เงินสด พร้อมเข้าสู่โหมดปรับลดพนังงานเก็บเงินบนรถเมล์ และถูกสังคมจับตาเป็นพิเศษก่อนหน้านี้ถึงความพร้อมของขสมก.รวมถึงขั้นตอนและระยะเวลาของการเปลี่ยนแปลง

จนกระทั่งพบว่ามีปัญหาทางเทคนิคทำให้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน (Rush Hour) ที่อาจจะรองรับไม่ไหวจนทำให้เกิดปัญหาจราจรเพิ่ม ประกอบกับเทคโนโลยีจะพัฒนาไปเป็น E-Ticket และบัตรแมงมุม หรือตั๋วร่วมทั้งหมด ภายใน 2 ปีจะไม่มีการใช้เงินสดทุกอย่างจะใช้บัตรหมด ซึ่งประชาชนจะมีการปรับตัวแล้ว

ท้ายที่สุดประธานบอร์ดขสมก.“ณัฐชาติ จารุจินดา” ออกโรงสั่งบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ยุติการติดตั้งเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box บนรถโดยสารซึ่งตามสัญญาจะมีการติดตั้งบนรถเมล์ 2,600 คัน ซึ่งช.ทวีได้ดำเนินการติดตั้งล็อตแรกจำนวน 800 คันอยู่  และจะให้เดินหน้าทำให้เสร็จภายในวันที่12 ธ.ค. 2560 ตามสัญญาไปก่อน หากไม่เสร็จในส่วนนี้จะปรับส่วนที่เหลืออีก 1,800 คัน จากนั้นจะเร่งเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา

เท่านี้ยังไม่พอประธานบอร์ดเลยสวมบทบาทเล่นบทต่อได้เนียนตาเนียนใจว่าถ้าผมมาก่อนนี้จะไม่ให้ทำแน่นอน เพราะทราบว่ามีการทดลองจริงแต่บนรถ 1-2 คันเท่านั้น และเป็นรถที่จอดแล้วก็คิดว่าใช้ได้ ซึ่งมันน้อยไปควรทดลอง 40-50 คันและกำหนดพื้นที่ทดลองเวลา 3-6 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าใช้งานได้จริง แล้วค่อยประมูล

สิ่งที่ขสมก.ต้องตอบคำถามอย่างไร?กับสัญญาที่มีบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ในการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash box บนรถโดยสารจํานวน 2,600 คัน มูลค่าโครงการ 1,665,000,000 บาท ระยะสัมปทาน 5 ปี

เป็นการสะท้อนชัดถึงการบริหารจัดการของขสมก. “วัวหาย…แล้วล้อมคอก” อีกแล้วครับท่าน!