สรท.จับมือแบงก์ชาติช่วยเหลือผู้ส่งออกฝ่าวิกฤติค่าเงินบาทแข็งค่า

0
162

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ร่วมกับคุณวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. คุณมานะผล ภู่สมบุญ รองประธาน สรท.ดร.ชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สรท. และคุณคงฤทธิ์จันทริกผู้อำนวยการบริหาร สรท. ได้เข้าพบเพื่อมอบหนังสือข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนต่อภาคการส่งออกของไทย และหารือกับ ดร.วีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม 2561 ณ ห้องวิิวัฒน์ชัย ธนาคารแห่งประเทศไทยโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

โดยได้ชี้แจงเหตุผลซึ่งทำให้ค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าเป็นอย่างมากว่าเกิดจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจภายในสหรัฐอเมริกาเอง แต่ทิศทางของค่าเงินบาท ซึ่งแข็งค่าขึ้น 11.4% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2560 ถึงปัจจุบัน เป็นไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่น อาทิ เงินยูโรแข็งค่าขึ้น 12.7% เงินโคเรียนวอนแข็งค่าขึ้น 12.7% เงินมาเลเซียนริงกิตแข็งค่าขึ้น 12.1% เงินปอนด์สเตอริงแข็งค่าขึ้น 9.6% เงินดอลลาร์ไต้หวันแข็งค่าขึ้น 9.0% เงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น 8.4% และเงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าขึ้น 8.2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกัน และอีกประการหนึ่งเกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2559 เกินดุลเท่ากับ 48,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2560 คาดว่าเกินดุล 48,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของไทยและเป็นแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาผู้ส่งออก เห็นพ้องให้ร่วมมือกันพัฒนาผู้ส่งออกไทยให้มีความเข้าใจถึงความเสี่ยงการประเมินความเสี่ยง และการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การกำหนดการซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Fx Forward) และการซื้อสิทธิในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Fx Option) ของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น โดยจะร่วมมือกันจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกของไทย รวมถึงการแนะนำโครงการบริหารความเสี่ยง FX ของผู้ประกอบการ SMEsภายใต้ความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในการบริหารความเสี่ยงค่าเงิน โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับสิทธิในการได้รับวงเงินค่าธรรมเนียมในการทำประกันความเสี่ยง 30,000 บาท (เทียบเท่ามูลค่าการน าเข้า/ส่งออก ประมาณ 3 ล้านบาท)
นอกจากนี้ สภาผู้ส่งออก จะผลักดันให้สมาชิกเลือก Invoicing แบบ Direct Exchange Rate และ Direct Forward โดยใช้สกุลเงินของคู่ค้า โดยไม่ต้องอ้างอิงเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะเงินสกุลที่แข็งค่าใกล้เคียงกับเงินบาท อาทิ อาทิ ยูโรปอนด์สเตอริง โคเรียนวอน เป็นต้น และใช้วิธีการท า Direct Quote ในสกุลเงินซึ่ง ธปท. มีการทำข้อตกลงให้ดำเนินการร่วมกัน อาทิ หยวน มาเลเซียนริงกิต อินโดนีเซียนรูเปียะห์ โดยที่สามารถแปลงค่าเงินเป็นเงินบาทได้ทันที ไม่ต้องแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อน และอยู่ระหว่างการเจรจาเพิ่มเติมในสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น รวมถึงให้เลือกใช้เงินสกุลท้องถิ่นสำหรับการค้ากับชาติสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้สามารถลดต้นทุนและความเสี่ยงจากจากการแลกเปลี่ยนผ่านเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะเดียวกัน ทั้งสององค์กรเห็นร่วมกันว่าภาคเอกชนควรใช้โอกาสในขณะที่เงินบาทแข็งค่า เร่งการลงทุนในปัจจัยทุน
พื้นฐานของธุรกิจ เช่น การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อลดต้นทุน รวมถึงเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซึ่งจะท าให้ผู้ประกอบการภายในประเทศมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้าเพิ่มขึ้น และสามารถรับมือกับการผันผวนของค่าเงินบาทได้ในระยะยาว.