นาโน-พิโก้ ไฟแนนซ์ แน่หรือ?

0
1692

สัปดาห์ก่อนเหลือบไปเห็นข่าว สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ออกมาตีปี๊บความสำเร็จในการแก้หนี้นอกระบบผ่านสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือ”พิโก้ ไฟแนนซ์”

 

โดยยอดแก้ไขหนี้นอกระบบ ณ สิ้นเดือน มกราคม 2561 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาต 441 รายใน 66 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ นครราชสีมา 45 ราย กรุงเทพฯ 34 ราย และร้อยเอ็ด 28 ราย มีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไปแล้ว 279 ราย เปิดดำเนินการ 159 รายใน 49 จังหวัด และเริ่มปล่อยสินเชื่อแล้ว 114 รายใน 45 จังหวัด ยอดสินเชื่อสะสม ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 60 จำนวน 8,561 บัญชี เป็นเงิน 218 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละ 25,577 บาท ประกอบด้วย สินเชื่อมีหลักประกัน 4,348 บัญชี เป็นเงิน 136 ล้านบาท คิดเป็น 62.18%  และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 4,213 บัญชี เป็นเงิน 82 ล้านบาท คิดเป็น 37.82% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัติ  ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างมีทั้งสิ้น 3,592 บัญชี เป็นเงิน 73 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน (เอ็นพีแอล) มี 42 บัญชี คิดเป็น 1.5 ล้านบาท

 

เรื่องของความสำเร็จในการแก้หนี้นอกระบบจะผ่านนาโน/พิโก้ไฟแนนซ์ อะไรนั้น เนตรทิพย์ ไม่ติดใจอะไรหรอกครับ แต่ให้น่าแปลก! ดูเหมือนกระทรวงการคลังจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของรายงานสินเชื่อ พิโก้ไฟแนนซ์ ที่แถลงออกมาล่าสุดนี้เลยว่า ข้อมูลที่ระบุว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อมีหลักประกัน 4,348 บัญชี เป็นเงิน 136 ล้านบาท คิดเป็น 62.18%  และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน 4,213 บัญชี เป็นเงิน 82 ล้านบาท คิดเป็น 37.82% ของจำนวนสินเชื่อที่อนุมัตินั้น

 

มันใช่สินเชื่อรายย่อยภายใต้เงื่อนไขใบอนุญาต พิโก้ไฟแนนซ์แน่หรือ?

 

นี่คลังกำลังบอกว่าปล่อยให้ผู้ประกอบการดำเนินการปล่อยสินเชื่อรายย่อยแบบ “มีหลักประกัน” ที่ไม่ใช่ Clean loan หรือ P loan ได้ด้วยอย่างนั้นหรือ? ปล่อยให้เขาโขกดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมได้สูงถึง 35-36% โดยไม่ตะขิดตะขวงใจอะไรบ้างเลยหรือ?

 

ขอโทษเถอะ! สินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับของ ธปท. ประเภทนี้ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ  นาโน ไฟแนนซ์ที่มีเงื่อนไขให้ปล่อยกู้ได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท หรือสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด พิโก้ไฟแนนซ์” ที่มีเงื่อนไขปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ได้รายละไม่เกิน 50,000บาทนั้น

 

ตามเงื่อนไขใบอนุญาตมันต้องเป็น P loan /Clean loan ไร้หลักประกันไม่ใช่หรือ รัฐถึงยอมให้ผู้ประกอบการประเภทนี้คิดดอกเบี้ยได้สูงถึง 36% เพราะถือเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยง ไม่ใช่ไปมั่วนิ่มทำสัญญาเงินกู้แบบมีหลักประกัน อย่างที่คลังกำลังแถลงหน้าตายอยู่นี้ 

 

เพราะหากไปทำสัญญาเงินกู้แบบ มีหลักประกัน ที่กำหนดให้ลูกหนี้จะต้องนำสินทรัพย์ใดๆ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมแล้ว มันหาใช่ การปล่อยกู้ภายใต้เงื่อนไขใบอนุญาต นาโน/พิโก้ ไฟแนนซ์ แต่ถือเป็นสัญญาเงินกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 654 ที่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมกันมาหลายครั้งล่าสุด คือ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ผู้ประกอบการจะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกิน 15% เท่านั้น   

 

เกินกว่านี้ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น ลูกหนี้มีสิทธิ์ฟ้องหัวไล่เบี้ยได้ครับ และมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกฎหมายังจัดหนักเป็น “รายกระทงด้วยครับ!!!

 

ลองกลับไปเปิดลิ้นชักดูสัญญาเช่าซื้อรถ สัญญาจำนำทะเบียนรถ หรือสินเชื่อเงินกู้ที่เราไปทำเอาไว้กับแบงก์ ไฟแนนซ์ ลิสซิ่งเช่าซื้อ เต็นท์รถทั้งหลาย หรือผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ จำนำทะเบียนรถทั้งหลายแหล่ จะเงินติดล้อ เถ้าแก่สั่งได้ คาร์ฟอร์แคช แคชฟอร์คาร์ เงินด่วนอะไรทั้งหลายแหล่กันดูครับว่าเข้าข่ายนี้ไหม

 

หากเข้าข่ายนี้ก็แจ้งให้คู่สัญญาแก้ไข หรือไม่ก็ฟ้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เลยครับ

 

บทความโดย เนตรทิพย์