รถไฟฟ้าเชื่อม3สนามบินเดือด !เจ้าสัวเปรมชัยโผล่ร่วมแจม ขณะประชัยลั่นพร้อมสู้ยิบตา

0
211
 “เจ้าสัวเปรมชัย” โผล่แล้่ว ออกจากป่าทุ่งใหญ่ฯกระโดดจับรถไฟ “ไฮสปีดเทรน”ทันที ประกาศพร้อมร่วมแจมประมูลรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ขณะเจ้าสัวประชัย-ซีพี ไม่ยอมน้อยหน้าเปิดหน้าตักพร้อมทุกด้าน ส่วนรถไฟเตรียมนำทัพเอกชนลงพื้นที่ดูเส้นทางก่อสร้างย้ำ 12 พ.ย.นี้ ชิงเดือด 3 – 4 กลุ่มแน่ 
ผู้สื่อข่าวรายงานจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ว่าเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เป็นประธานประชุมชี้แจงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา)ครั้งที่ 1 เพื่อให้ข้อมูลโครงการและเปิดเวทีให้ผู้ซื้อเอกสารประัมูลได้ซักถามข้อสงสัย โดยมีเอกชน 31 รายเข้าร่วมรับฟัง ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมนายวรวุฒิกล่าวว่า รฟท.มีกำหนดพาเอกชนลงพื้นที่เพื่อชมสถานที่ก่อสร้างโครงการ ในวันที่ 24 และ 26 ก.ค. 2561 โดยในวันที่ 24ก.ค. จะมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ เช่น การก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต การจัดการพื้นที่ของสถานีกลางบางซื่อ การสำรวจพื้นที่สถานีมักกะสัน ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองตัน (เดปโป้) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนในวันที่ 26 ก.ค. 2561 จะเดินทางไปดูสถานที่จริงตามแนวเส้นทางและจุดสำคัญต่างๆ ของโครงการ
นอกจากนี้ รฟท. จะเปิดให้ผู้ซื้อเอกสารส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชนตลอดจนตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการได้ถึงวันที่ 9 ต.ค.2561 และกำหนดรับซองข้อเสนอในวันจันทร์ที่ 12 พ.ย. 2561 เวลา 09.00 – 15.00 น.โดยมั่นใจว่าจะสามารถเร่งรัดขั้นตอนเปิดประมูลดังกล่าว พิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นซองแล้วเสร็จ พร้อมประกาศรายชื่อผู้ชนะประมูลโครงการภายในเดือน ม.ค.- ก.พ. 2562 เพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการในกลางปี 2562 แล้วเสร็จเปิดให้บริการในกลางปี 2567
นายวรวุฒิกล่าวอีกว่า โครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน นอกจากเอกชนจะได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าแล้วยังจะได้รับสิทธิ์ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งวันลงนามสัญญาจะมอบพื้นที่จำนวน 125 ไร่ คือ พื้นที่บริเวณสถานีมักกะสัน ประมาณ 100 ไร่ และพื้นที่สถานีศรีราชา 25 ไร่ให้เอกชนที่ชนะการประมูลเพื่อนำไปพัฒนา อีกทั้ง รฟท.อยู่ในขั้นตอนออกพระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) เวนคืนที่ดินบริเวณบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อรองรับการพัฒนาเป็นเดปโป้ เนื่องจากปัจจุบันเป็นพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 300 ไร่ คาดว่าจะเริ่มเวนคืนที่ดินในปี 2562 โดยจะใช้งบประมาณปี 2562 ประมาณ 3,000 ล้านบาท
“โครงการนี้ถือเป็นโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางระบบหลัก เชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่อีอีซี และเชื่อมโยงการเดินทางของผู้โดยสาร 3 ท่าอากาศยานเข้าสู่พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่ท่องเที่ยว ให้เดินทางถึงกันได้อย่างสะดวกรวดเร็วในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง รวมทั้งเชื่อมโยงกับการคมนาคมขนส่งทางถนน และทางเรือได้อย่างครอบคลุม ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก”
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)เผยภายหลังร่วมรับฟังชี้แจงข้อมูลโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินว่า มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการนี้ ซึ่งปัจจุบันได้เจรจาร่วมกับพันธมิตรหลายรายอาทิ ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน รวมทั้งไทย โดยส่วนใหญ่เป็นเอกชนที่มีความถนัดด้านการวางระบบรถไฟฟ้าและตัวรถ เนื่องจากทีพีไอมีความตั้งใจจะเข้าไปประมูลในส่วนของงานก่อสร้าง และงานโยธา เพราะมีพื้นฐานเป็นบริษัทวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างอยู่แล้ว และมั่นใจว่าโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน จะเป็นโครงการที่มีการตอบรับดี สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เพราะส่วนตัวประเมินว่าไทยเป็นประเทศที่กำลังเจริญ ดังนั้นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ จะเติบโตไปพร้อมกับความเจริญ และมั่นใจว่าจะสามารถสร้างกำไรได้มหาศาล
“เรามีความพร้อมด้านการเงินสามารถลงทุนเองได้ ซึ่งแน่นอนว่าการเข้าร่วมประมูลคร้ังนี้ทีพีไอเราจะเป็นแกนหลัก ถือหุ้นอย่างต่ำ 25% หากใครจะเข้ามาร่วมก็ยินดีแต่งานโยธาเราจะทำเอง เพราะเรามีพันธมิตรก่อสร้างเยอะ สามารถแบ่งงานให้ซับคอนแทรค (ผู้รับเหมาช่วง)ได้ ส่วนงานเดินรถมองว่าต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ต่างชาติ เพราะมีความถนัดเรื่องงานระบบอยู่แล้ว คาดว่าการจัดกลุ่มพาร์ทเนอร์ทั้งหมดน่าจะแล้วเสร็จหลังเดือน ส.ค.นี้”
ด้านนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่ผ่านมาได้เจรจาร่วมกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างชาติ เนื่องจากเป้าหมายของบริษัทฯ คือการเข้ามารับงานส่วนก่อสร้างงานโยธา โดยไม่ได้เน้นหลักเป็นแกนหลักหรือลีดเดอร์คาดว่าอีกประมาณ 1 – 2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุปการเจรจาร่วมทุนในโครงการนี้
ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญทุกด้าน โดยส่วนใหญ่ที่ทำการหารือเป็นเอกชนจากต่างประเทศ ได้แก่ งานระบบราง งานเดินรถ และงานรับเหมาก่อสร้าง ส่วนงานพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ยังต้องดูกันอีกครั้ง ขณะที่ประเด็นของการจัดหาเงินลงทุน มองว่าไม่มีปัญหาสำหรับซีพี ที่จะเป็นแกนหลักในการรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อยื่นประมูลโครงการนี้