Everlasting Battery “แบตเตอรี่”ปฏิวัติพลังงานอนาคต

0
717

ท่ามกลางเทรนด์พลังงานโลกที่กำลังเปลี่ยนถ่ายจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปกรุยทางสู่พลังงานสะอาดใช้เทคโนโลยีใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน ที่ประเทศทั่วโลกมิอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวหรือยากที่ทัดทานการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้สอดรับและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงอย่างไร้รอยต่อ โดย “แบตเตอรี่”จะเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

ปัจจุบันทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่มีความความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของขนาด ความมั่นคงระบบไฟฟ้า และการตอบสนองเมื่อระบบไฟฟ้าดับ ทำให้แบตเตอรี่กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญอุปกรณ์ต่างๆไปจนถึงยานพาหนะ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือไปจนถึงยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพเทียบเคียงหรือดีว่ารถยนต์สันดาปภายใน สามารถวิ่งได้ไกลกว่าต่อการชาร์จแต่ละครั้งโดยไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการใช้แบตเตอรี่ในรูปแบบต่างๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทยนี้เอง ทำให้การลงทุนเกี่ยวกับแบตเตอรี่กำลังเพิ่มขึ้น และแบตเตอรี่กำลังเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงธุรกิจพลังงาน และกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตของประเทศ ทำให้โอกาสที่พลังงานหมุนเวียนจะสามารถทดแทนสัดส่วนของการใช้พลังงานฟอสซิลเกิดขึ้นได้ในอนาคต

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เล็งเห็นถึงบทบาทของแบตเตอรี่ซึ่งกำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งกักเก็บพลังงานที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลกจากพลังงานฟอสซิล สู่พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน จึงได้จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ Everlasting Battery แบตเตอรี่ : ปฏิวัติพลังงานอนาคต” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับธุรกิจนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในระดับโลกและระดับประเทศตบเท้าร่วมบรรยายและเสวนาเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจแบตเตอรี่ในระดับโลกกันอย่างกับคับคั่ง

Logistics Time ขอใช้พื้นที่นี้ประมวลการสัมมนานี้ผ่านการการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งที่อัพเดตเทคโนโลยีและนวัตกรรมล่าสุดโดยมีเทคโนโลยีสุดล้ำ Solid State Battery เป็นไฮไลต์ รวมถึงนโยบายเกี่ยวกับแบตเตอรี่และบทบาทของแบตเตอรี่กับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในประเทศไทย

แบตเตอรี่ :ปฏิวัติพลังงานโลกครั้งสำคัญ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าเทคโนโลยีใหม่จะนำไปสู่พลังงานสะอาดที่แก้ไขภาวะโลกร้อน โดยจะพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าใหม่มาใช้ทั้งมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถไฟฟ้า เพื่อทดแทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน เห็นได้จากประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอย่างมาก อย่างทนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐได้ประกาศนโยบายลงทุน 4 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 13 ล้านล้านบาท ในการลงทุนด้านพลังงานสะอาด 10 ปี ซึ่งสหรัฐจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม 4 ล้านคัน และสร้างสถานีชาร์ตไฟฟ้าอีก 5 แสนแห่ง ภายในปี 2573 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็น 0% ภายในปี 2593

“ขณะที่จีนประกาศหยุดผลิตรถยนต์สันดาปภายในปี 2573 สหภาพยุโรป (อียู) หยุดขายรถยนต์สันดาปภายในปี 2583 ซึ่งแม้จะใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) สัดส่วนเพียง 0.4% ของรถยนต์ทั่วโลก แต่ลดการใช้น้ำมันได้ถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าปี 2593 สัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะสูงถึง 54% ส่วนรัฐบาลไทยกำหนดเป้าหมายผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในทุกรูปแบบตั้งแต่รถจักรยานยนต์ไปจนถึงรถบัสโดยสารขนาดใหญ่ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 30% หรือมีจำนวน 750,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 และในปี 2593 ทางกระทรวงคมนาคมและสภาอุตสาหกรรมได้คาดการร์ว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านคัน”

ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุต่อหัวใจหลักการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าซึ่งทางบีโอไอได้กำหนดแผนเพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับทางผู้ผลิตเพื่อให้เกิดการพัฒนาและการผลิตอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนก็คือแบตเตอรี่โดย 10 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาลิเทียมไอออนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาลดลงถึง 80% หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 18% ผลที่ตามมาทำให้สมรรถนะของยานยนต์อีวีดีขึ้นและมีประสิทธิภาพสูง เกิดการพัฒนาสมาร์ทยานยนต์ต่างๆ เช่น ยานยนต์ไร้คนขับ

“ด้วยทิศทางนี้ทำมีแนวโน้มที่ราคาจะลดต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อมีการพัฒนาและได้รับการสนับสนุนให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ภาพรวมทิศทางการเติบโตยานยนต์ไฟฟ้าจะไปได้ไกลมากไมว่าจะเป็นความจุไฟฟ้ามากขึ้นและระยะทางการวิ่งได้ไกลมากขึ้น ทำให้สร้างสถานีชาร์ตไฟฟ้ารองรับได้ รวมทั้งจะเกิดการแข่งขันธุรกิจด้านพลังงานใหม่สู่การปฏิวัติพลังงานครั้งสำคัญอย่างแท้จริง”

ดันแผนพีดีพี 2020 ครอบคลุมพัฒนาพลังงานทุกด้าน  

ในส่วนการปรับตัวของกระทรวงพลังงานนั้น ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่ากระทรวงฯได้ทำแผนพีดีพี 2020 ที่จะเริ่มทำปี 2564 ที่รองรับปัญหาโควิด และครอบคลุมแผนพัฒนาพลังงานทุกด้าน รวมทั้งการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า การพยากรณ์การใช้พลังงานในอนาคต จะนับรวมถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าทุกชนิด ระบบรางที่จะใช้รถไฟฟ้าสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการขยายตัวของสถานีชาร์ตไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะถูกโหลดรวมเข้ามาทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ควบคู่การใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมธรรมดา”

“รัฐบาลจะเร่งปรับกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคกับเทคโนโลยีใหม่และพลังงานไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งรวมถึงการกำหนดราคาไฟฟ้าสำหรับชาร์ตอีวีที่แยกจากราคาไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมมาเป็นการคิดราคาไฟฟ้าเพื่อรถอีวีโดยเฉพาะ รวมทั้งการปรับนโยบายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจผลิตไฟฟ้าที่แบตเตอรี่จะเข้ามาปฏิวัติพลังงานในอนาคต เพื่อกำหนดทิศทางสำหรับรถยนต์อีวี และการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง”

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนตอบโจทย์ทุกระดับ

ส่วนนายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดมุ่งหมายปลายทางการพัฒนาพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก คือการใช้พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งต้องพัฒนาเทคโนโลยีกรีนไฮโดรเจนที่ตอบโจทย์ของพลังงานโลก โดยช่วงรอยต่อ 30-40 ปีนี้ เทคโนโลยีแบตเตอรี่จะเข้ามาเชื่อมต่อช่องว่างนี้ เทคโนโลยีเก็บกักไฟฟ้าจะเข้ามาเติมเต็มให้กับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้มีความเสถียร จ่ายไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืนอย่างต่อเนื่อง เป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่สร้างมลพิษ และแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะมาตอบโจทย์ได้ในทุกระดับ ตั้งแต่การเก็บไฟฟ้าในมือถือไปจนถึงเก็บไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า

“ในจีนแก้ปัญหามลพิษโดยการกำหนดห้ามใช้รถจักรยานยนต์ภายในเมือง ให้ใช้แต่จักรยานยนต์ไฟฟ้า และขยายไปรถบรรทุกขนาดใหญ่ ทำให้ช่วยลดปัญหามลพิษได้ดีมาก ที่สำคัญเป็นการรเพิ่มปริมาณการใช้แบตเตอรี่ได้มาก จึงเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่อย่างรวดเร็ว”

“บางจาก”คิดการณ์ไหลเล็งตั้งโรงงานในยุโรป

CEO บางจาก สะท้อนมุมคิดถึงการวางแผนรองรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงและความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ว่า บางจาก จึงได้ร่วมลงทุนเหมืองแร่ลิเทียมกับต่างชาติในสัดส่วน 18.5% ซึ่งมีเหมืองอยู่ที่อาเจนตินาและรัฐเนวาด้า ประเทศสหรัฐ โดยกำลังก่อสร้างและโรงงานผลิตแร่ริเทียมบริสุทธิ์จะเสร็จปลายปี 2563 ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ บางจากจะมีสิทธิ์ซื้อแร่ลิเทียมคุณภาพสูงได้ปีละ 6 พันตันในระยะแรก หรือเทียบเท่ากับการผลิตแบตเตอรี่ 3 กิกะวัตต์ชั่วโมง ใช้ในรถยนต์อีวีได้ 1.5 แสนคัน ใช้ในมือถือได้กว่า 200 ล้านเครื่อง

“หลังจากนี้จะลงนามเอ็มโอยูกับผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของยุโรป และร่วมมือกับพาทเนอร์จากจีนพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับลิเทียมตามที่ไทยต้องการ หากผลการเจรจาร่วมลงทุนสำเร็จคาดว่าระยะแรกจะตั้งโรงงานแบตเตอรี่ในยุโรปก่อน คาดใช้เงินลงทุน 200-300 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากมีความต้องการสูง โดยจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เสร็จในปี 2567 ห้วงเวลานี้ยังสอดรับกับเทคโนโลยีแบตเตอรีจะเริ่มนิ่งในปี 2566 -2567 ปรระจวบเหมาะปี 2568 ในยุโรปจะผลิตรถยนต์อีวี 3-4 ล้านคัน และของไทย 7.5 แสนคันในปี 2573 และคาดว่าในปี 2567 จะกำหนดมาตรฐานแบตเตอรีรถอีวีทำให้ทุกค่ายรถยนต์ใช้มาตรฐานเดียยวกัน และตลาดแบตเตอรีขยายตัวอย่างรวดเร็ว”

นายชัยวัฒน์ กล่าวย้ำว่าการที่จะตั้งโรงงานผลิตแบตอตเรี่ลิเทียมไอออนในไทยได้ต้องมีความต้องการภายในประเทศสูงกว่านี้ โดยรัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้รถยนต์สาธารณะในไทยหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยเริ่มจากให้วินมอเตอร์ไซด์ใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าก่อน ซึ่งประเทศไทยซื้อรถจักรยานยนต์ใหม่ปีละ 2 ล้านคัน และมีวินมอเตอร์ไซด์รับจ้างหลายแสนคัน

“หากกลุ่มนี้ใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มความต้องการแบตอตเรี่ได้มาก จากนั้นควรขยายไปกลุ่มรถสองแถว รถเมล์ รถราชการ ซึ่งรถเหล่านี้มีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน ทำให้สร้างสถานีชาร์ตได้เหมาะสม หากทำได้ตามนี้ก็จะเพิ่มความต้องการใช้แบตเตอรี่เพียงพอต่อการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่”

ผู้เชี่ยวชาญเทศชี้เทรนด์แบตเตอรี่โลกโตก้าวกระโดด

ด้านนายอาลี อิซาดี นาจาฟาอาดีหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี้ ไฟแนนซ์ สะท้อนมุมมองว่าเทรนด์แบตเตอรี่ของโลกกำลังพัฒนาก้าวไปอย่างรวดเร็วสู่ระบบกักเก็บที่เน้นใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบแบตเตอรี่ลิเธียมเน้นการลดขนาด 40% แต่เพิ่มศักยภาพชาร์จเร็วขึ้น 10 เท่า และให้พลังงานมากขึ้น 10กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง

นายดีน แฟรงเคิล เจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์ของโซลิด พาวเวอร์ บริษัทสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเป็นพันธมิตรของบางจาก กล่าวว่า โซลิดพาวเวอร์ตั้งใจพัฒนาโซลิด สเตทถือเป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในเจเนเรชั่นถัดไปสำหรับตลาดแบตเตอรี่เคลื่อนที่ โดยปัจจุบันมีอุปสงค์มากขึ้นจากตลาดอื่น เช่น แหล่งกักเก็บพลังงานแบบติดตั้งอยู่กับที่ ทำให้โซลิดพาวเวอร์พัฒนาให้โซลิด สเตทตอบโจทย์การใช้งานด้านอื่นด้วย แต่ยังเน้นการเพิ่มศักยภาพลดขั้นตอนการผลิตสู่การเป็นมัลติเพลเยอร์เพื่อช่วยประหยัดต้นทุนมุ่งเพิ่มกำไรและความปลอดภัย

“โซลิด สเตทเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งที่นำไปสู่การพัฒนาแบตเตอรี่ขั้นสูงขึ้น ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่มใหญ่น่าสนใจ ได้แก่ โซลิดอิเล็กโทรไลต์และโซลิดสเตทพาสฟอร์มที่ให้พลังงานสูงกว่าถ้าเทียบกับแบตเตอรี่ชนิดอื่น เพราะใช้ซิลิคอนอาร์โหนดแทนกราไฟท์ และยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลงหลายเท่าตัว”

นายโรเบิร์ต เอ.แรงโก้ CEO เอเนอร์เวท คอร์ปอเรชั่น พันมิตรด้านพลังงานแบตเตอรี่ของบางจาก กล่าวว่า เป้าหมายหลักของเทคโนโลยีเอเนอร์เวทเน้นพัฒนาแบตเตอรีที่หลากหลายใช้ในหุ่นยนต์ รถยนต์อีวี และรถบรรทุกเพื่อการขนส่งสินค้าเชื่อว่า แบตเตอรี่ไฟฟ้าที่มีศักยภาพทางธุรกิจ จะช่วยลดต้นทุนการผลิต 20% และประหยัดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 20% ในขั้นตอนการผลิต

“เทคโนโลยีเอเนอร์เวทมีความโดดเด่นในเรื่องการช่วยลดต้นทุนในทุกด้าน ซึ่งสามารถชาร์จแบตเตอรี่ได้อย่างเร็วภายใน 5 นาที เทียบเท่ากับการใช้เวลาเพื่อเติมน้ำมัน สามารถใช้ในอากาศที่หนาวเย็น ทนทานกว่าแบตเตอรี่รถอีวีที่ใช้ในปัจจุบันมากถึง 30%”

ผู้ปรับตัวก่อนยืนหยัดอยู่ได้ หากไม่ปรับตัวผู้สูญเสียตลาดนี้ไป

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทคโนโลยีแบตเตอรี่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากเดิมที่เป็นผู้ซื้อไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวมาเป็นทั้งผู้ใช้และขายไฟฟ้า ซึ่งเมื่อรวมกับเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้เกิดการดีสรัปชั่นในธุรกิจพลังงาน จะทำให้พลังงานสะอาดราคาถูกลง และเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดการพลังงานในรูปแบบใหม่

ด้านรศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ก่อตั้ง-อดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)คนแรก สะท้อนมุมคิดว่าการใช้แบตเตอรี่กับยานยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เพิ่งมีไม่กี่ปีนี้ มันเกิดขึ้นพร้อมกับเครื่องยนต์เมื่อเกือบ 100  ปีที่แล้ว เวลานี้เราเริ่มมีการนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามจำหน่ายในไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยหลายรายก็มีการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้เองบ้างแล้ว ถามว่าทำอย่างไรอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยจะเติบโตในการแข่งขันสอดรับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงพลังงานโลก อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญอย่างหนักในเวลานี้

“ภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดนโยบายและแผนต้องเข้าใจในจุดนี้ให้ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาด และผู้เล่นรายใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเล่นในตลาดได้เห็นภาพกว้างได้ชัดจากแรงสนับสนุนจากภาครัฐ เมื่อเป็นเช่นนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร่าจะเกิดการแข่งขันอย่างมาก สร้างประโยชน์และความแข็งแกร่งให้กับไทยตอกย้ำบทบาทฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกได้เป็นอย่างดี”

รศ.ดร.ยศพงษ์ สรุปปิดท้ายว่าเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คาดว่าช่วงปี ค.ศ. 2025-2030 ตลาดของยานยนต์ไฟฟ้าจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 30 %  และแน่นอนในตลาดแห่งการแข่งขัน ผู้ปรับตัวได้ก่อนจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ เเละผู้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันย่อมอาจจะต้องเป็นผู้สูญเสียตลาดนี้ไป

“ตลาดแข่งขันเราก็จะพบผู้เล่นใหม่ในตลาดมากขึ้น อีกทั้งในอนาคตยานยนต์สมัยใหม่จะไม่ได้มีเเค่เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า เเต่จะมีเรื่องการขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อสื่อสารกับภายนอก เเละเกิดรูปแบบธุรกิจยานยนต์ใหม่ เช่น การเเบ่งปัน (Mobility Sharing ) เรื่องนี้เป็นแนวโน้มของยานยนต์สมัยใหม่ ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ทั้งหมดแต่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องพร้อมปรับตัวและก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้”

เทรนด์การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของทุกประเทศในโลกนี้ หากใครขยับตัวได้ก่อนก็ถือความได้เปรียบก่อนใคร หากใครไม่ปรับตัวเลยก็เตรียมตัวตกขบวนเทรนด์โลกได้เลย ขณะที่ประเทศไทยเราได้เห็นภาคเอกชนที่มีศักยภาพหลายรายได้เดินหน้าไปหลายก้าวแล้ว ขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐแม้เนื้องานจะมีการขยับไปบ้างแล้วในหลายหน่วย

ทว่า องคาพยพโดยรวมยังซ้ำซ้อนในกระบวนและการบริการจัดการช้าไม่ทันใจภาคเอกชน ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วกว่านี้ เพราะไม่ใช่เช่นนั้นอาจจะสูญเสียโอกาสที่ไม่ควรจะเสียไป!