“แอร์พอร์ตลิงก์”แจงกรณีการให้ข้อมูลในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรางรถไฟ้ฟ้า “คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง”

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงและระบุถึงระบบการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าบริเวณโค้งลาดกระบัง

0
238

บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) กระทรวงคมนาคม ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวพาดพิงและระบุถึงระบบการซ่อมบำรุงรางรถไฟฟ้าบริเวณโค้งลาดกระบัง ทำให้มีการชะลอความเร็วจาก 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็น 30 และ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากแผ่นเหล็กประกบรางหรือเหล็กรองรับรางเคลื่อนตัว น็อตยึดแผ่นเหล็กหลุด เพราะตัวพุกที่ใช้ยึดไม่ยึดติดกับคอนกรีต จึงจำเป็นต้องลดความเร็วลง หากไม่ลดความเร็วลงอาจทำให้รถไฟฟ้าตกรางได้ และตามรายงานของฝ่ายซ่อมบำรุงรักษาระบุว่า จะต้องซ่อมบำรุงแผ่นเหล็กประกบรางถึง 159 จุด แบ่งเป็นจุดวิกฤต 59 จุด ไม่วิกฤต 100 จุด โดยนายสามารถฯ ระบุอีกว่า รฟฟท. ไม่มีการซ่อมบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอจนทำให้เกิดปัญหาขึ้น สาเหตุที่เกิดปัญหาเป็นเพราะว่าผู้บริหารบางคนต้องการว่าจ้างเอกชนรายหนึ่งทำการซ่อมบำรุงรักษาโดยไม่มีการประมูลหรือไม่มีการแข่งขัน ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน และเอกชนรายนั้นไม่มีประสบการณ์ในการซ่อมบำรุงรักษารถไฟฟ้า เมื่อเอกชนรายนั้นได้รับงานแล้วไปว่าจ้างต่อ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อออนไลน์นั้น
รฟฟท. ขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนและขอชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. รฟฟท. มีการซ่อมบำรุงรักษาหรือที่เรียกว่า ซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน (Preventive Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ มีการตรวจสอบและประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) ทุก 4 เดือน และทำการตรวจสอบซ่อมบำรุงตามคู่มือซ่อมบำรุง (Overall Project Management หรือ OPM – 0070) ที่ระบุว่า ชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางจะต้องมีการเปลี่ยนทุก 10 ปี ซึ่ง รฟฟท. ได้ติดตั้งชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง มาเป็นระยะเวลา 9 ปี อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางทั้งระบบรถไฟฟ้า ระยะทาง 28 กิโลเมตร มีประมาณ 400,000 ตัว สำหรับบริเวณทางโค้งลาดกระบัง ระยะทาง 3 กิโลเมตร มีประมาณ 20,000 ตัว เพื่อความปลอดภัยในการเดินรถไฟฟ้า รฟฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางบริเวณทางโค้งลาดกระบัง จำนวน 160 จุด
ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 – พฤษภาคม 2559 โดย รฟฟท. ได้เสริมกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่มเติมในวิศวกรรมระบบราง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เพื่อเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบและประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) จากเดิมทุก 4 เดือนเป็นทุก 1 เดือน
2. รฟฟท. คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสาร จึงได้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบทุก 1 เดือน ทำให้ตรวจพบในเดือนกันยายน 2559 ว่า จะต้องมีการซ่อมบำรุงแก้ไข จำนวน 159 จุด ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในแผน การซ่อมบำรุงรักษาตามวาระแล้ว ต่อมาในเดือนธันวาคม 2559 รฟฟท. ได้ทำการตรวจสอบและประเมินด้วยสายตา (Visual Inspection) พบว่า มีจุดที่ต้องดำเนินการซ่อมบำรุงแก้ไขทันที 50 จุด ตามเอกสารประเมินความเสี่ยง (Risk Assetment) ซึ่ง รฟฟท. ต้องดำเนินการแก้ไขทันที เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการ
3. บริษัทเอกชนที่เข้ามาดำเนินการซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวรางนั้น เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ ในการซ่อมบำรุงรางให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ชนะการสอบราคาของ รฟฟท. ในโครงการจ้างตัดต่อรางบริเวณรอยเชื่อมบนทางประธาน และทำการตรวจสอบวิเคราะห์สภาพความทนทานต่อการใช้งาน และทดสอบความแข็งแรงรอยเชื่อมแบบ Thermit ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในงานซ่อมบำรุง และมูลค่างานในการจ้างซ่อมชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวราง มีมูลค่า 250,000 บาท
ทั้งนี้ ในการซ่อมบำรุงชุดอุปกรณ์เครื่องยึดเหนี่ยวรางในจุดที่ต้องดำเนินการแก้ไขทันที 50 จุด นั้น รฟฟท. ได้ดำเนินการแก้ไขและคณะประเมินความเสี่ยงได้ประเมินความปลอดภัยเรียบร้อยแล้ว สำหรับรูปภาพที่ปรากฏในเฟซบุ๊กของนายสามารถฯ และสื่อออนไลน์นั้น เป็นรูปภาพของอุปกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่โรงล้างรถไฟฟ้าภายในศูนย์ซ่อมบำรุง และอยู่ในแผนงานซ่อมบำรุงตามวาระของ รฟฟท.