“ไปรษณีย์ไทย-มิตซูบิชิ มอเตอร์ฯ-โออาร์”นำร่องใช้รถยนต์ไฟฟ้า BEV ขนส่งพัสดุใน 2 ที่ทำการฯ

0
84

ไปรษณีย์ไทย ร่วมมือ มิตซูบิชิ มอเตอร์สฯ-โออาร์ นำร่องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicles หรือ BEV) เพื่อการพาณิชย์ด้วยรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ขนส่งพัสดุเพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ที่จะขยายการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในไทย มุ่งลดปริมาณปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัทต่างๆในทุกภาคอุตสาหกรรม ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และส่งเสริมการจัดส่งสินค้าเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายกำพุธ อยู่คง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานระบบไปรษณีย์ และปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท)  กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ไปรษณีย์ไทยไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการบริการจัดส่งพัสดุให้กับลูกค้าเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพด้วย เนื่องจากที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ ตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์ราชการ ซึ่งมีการจราจรหนาแน่นเกือบตลอดเวลา เราจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าว ในขณะที่ที่ทำการไปรษณีย์คลองหลวง ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตเมืองหลวง ครอบคลุมพื้นที่บริการจัดส่งขนาดใหญ่ และตั้งอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราจึงสามารถแสดงความเป็นผู้นำด้านการบริการของเราให้แก่คนรุ่นใหม่ได้เห็นด้วยการนำรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง มิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ มาใช้ในบริการจัดส่งไปรษณีย์และพัสดุ ซึ่งเชื่อมั่นว่า จะสามารถช่วยประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไปพร้อมกัน

มร.เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผมขอขอบคุณ ไปรษณีย์ไทย และ โออาร์  สำหรับความร่วมมือครั้งสำคัญนี้ เพื่อการสำรวจศักยภาพการใช้งานเชิงพาณิชย์ของยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้า โครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของวาระการส่งเสริมยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เรากำลังเดินหน้าพัฒนาตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นความต้องการในหมู่ผู้บริโภคและขับเคลื่อนตลาดนี้ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งเรายังวางแผนที่จะขยายสู่ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า สำหรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) นอกเหนือไปจากรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) ซึ่งมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ถือเป็นบริษัทผู้บุกเบิกตลาดระดับโลกที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่เพื่อการจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ เรากำลังพิจารณาหลากหลายทางเลือก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การศึกษาวัตถุประสงค์การใช้งานเชิงพาณิชย์”

ภายใต้บันทึกความเข้าใจดังกล่าว ไปรษณีย์ไทยจะใช้รถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ในการขนส่งพัสดุให้แก่ลูกค้า โดยเลือกที่ทำการไปรษณีย์นำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ ที่ทำการไปรษณีย์หลักสี่ กรุงเทพฯ และ ที่ทำการไปรษณีย์คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อเริ่มการศึกษาดังกล่าว โดยแต่ละสาขานำร่อง โออาร์จะติดตั้งสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพื่อชาร์จไฟรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ด้วยการชาร์จไฟแบบปกติ (AC) อีกทั้งไปรษณีย์ไทยจะทำการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จากการใช้งานรถมิตซูบิชิ มินิแค็บ มีฟ ตลอดจนร่วมกันจัดการฝึกอบรมและลงพื้นที่เพื่อให้พนักงานของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ไปรษณีย์ไทย และ โออาร์  ได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคนิคร่วมกัน

ด้าน นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเป้าหมายปี 2030 (พ.ศ. 2573) ของ โออาร์ คือการมุ่งสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาด ตลอดจนวิธีการอื่น ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ความร่วมมือในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่สอคคล้องกับเป้าหมายดังกล่าวแต่ยังเป็นไปตามหนึ่งในพันธกิจในด้านการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจพลังงานแบบผสมผสานเพื่อการเคลื่อนที่อย่างไร้รอยต่อ (Seamless mobility) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดและเป็นแนวทางการใช้พลังงานในอนาคต โดยในปีนี้ โออาร์ มีแผนเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟ EV Station PluZ เพิ่มขึ้นอีก 350 แห่ง ทั้งภายในและภายนอก พีทีที สเตชั่น เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับ ไปรษณีย์ไทย แล ะ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการขนส่งพัสดุและด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการยกระดับการขนส่งพัสดุให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม