ขณะที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมกำลังตีปี๊บให้ปี 2560 เป็น  “ปีทอง” แห่งการลงทุน  ตามแผนปฏิบัติการโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ   พร้อมขีดเส้นตีกรอบโครงการระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2560 (Action Plan)ที่จะดำเนินการ 

โดย นายอาคม   เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด“คิกออฟ”โครงการลงทุนต่าง ๆ ที่จะต้องเร่งดำเนินการในช่วงปี 2560-61 นี้ด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 8.95 แสนล้านบาท 36 โครงการ  ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟชานเมือง  รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์  ตลอดจนโครงการพัฒนาขนส่งทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก

ย้อนปูมหลังไปเมื่อปี 2547 ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการยกระดับโลจิสติกส์  ระหว่างวันที่ 21-22 สิงหาคม 2547 ณ โรงแรมฮิลตัน หัวหินรีสอร์ท จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยมี นายสมคิด  จาตุศรีพิทักษ์  รมว.คลังในขณะนั้นเป็นประธานการประชุม

ในครั้งนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมลงนามในปฏิญญาการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ และประกาศ“วาระแห่งชาติโลจิสกติกส์”  โดยมีสาระสำคัญที่มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆไปจัดทำแผนแม่บทที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ  4  คณะคือ

 1.คณะทำงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน  จัดทำแผนงานโครงการเพื่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศโดยมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการขนส่งทางบก  กระทรวงคมนาคม มุ่งเน้นการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพให้เกิดความสะดวกรวดเร็วสามารถลดต้นทุนค่าการขนส่งของประเทศ

 2 .คณะทำงานด้านการเชื่อมต่อฐานข้อมูลภาครัฐ เป็นหน้าที่ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงดิจิทัลในปัจจุบันร่วมกับกรมศุลกากร โดยมุ่งพัฒนา เชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นไปลักษณะ G to G  , G to  B   และ B to B

  1. คณะทำงานด้านฐานข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ดูแลการจัดทำข้อมูลต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP การไหลของสินค้าและข้อมูลด้านบุคลากร รวมทั้งทำการสำรวจภาพรวมที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์
  2.   คณะทำงานด้านการพัฒนาบุคลากร ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสมาคมขนส่งสินค้าทางเรือ (สรท.) จัดทำโครงการแผนงานการพัฒนาบุคลกรทั้งภาครัฐ  นักเรียน  นักศึกษา  ภาคธุรกิจ และผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บท และสร้างมาตรฐานของโลจิสติกส์ของประเทศไทย อันเป็นที่มาของแผนการพัฒนาโลจิสก์แห่งชาติ  ฉบับที่ 1 ( ปี 2548 -2555 ) จนถึงปัจจุบันกำลังที่อยู่ระหว่างแผนพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ ฉบับที่ 2  (2555 2560 )

 10  ขวบปีของ “วาระแห่งชาติด้านโลจิสติกส์”  ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาหลายรัฐบาลมีความคืบหน้าไปถึงไหน แต่ละแผนงาน แต่ละยุทธศาสตร์คืบหน้าอย่างไร และก่อนที่รัฐบาลปฏิรูป คสช.จะก้าวข้ามไปกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้านั้น 

เราควรจะหันมา Monitor ยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสิตกส์ของประเทศที่ปลุกปั้นกันมากว่า10 ปีนี้ก่อนหรือไม่?  ผศ.ดร.พงษ์ ชัย    อธิคมรัตนกุล   ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ในฐานะที่ปรึกษากรรมการพัฒนายุทธศาสตร์โลจิสติกส์แห่งชาติฉบับที่ 3 (ปี 2560-2564) สภาพัฒน์ ได้สะท้อนเส้นทางการพัฒนาวาระแห่งชาติด้านโลจิสติกส์ของประเทศข้างต้น กับ  “ LOGISTICS TIME ” ดังนี้ :

“ Shift Mode” ยังไม่เกิด  ชี้แผน 3 เน้น Cost Border 

   “ การดำเนินงานที่ผ่านมาตามแผนพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 และฉบับที่ 2  (ปี2556 -2560 ) ล้วนพุ่งเป้าหมายไปที่เรื่อง “การลดต้นทุนโลจิสติกส์” เป็นหลัก โดยปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศมีสัดส่วนอยู่ที่ 14.1 % ต่อ GDP สะท้อนสิ่งที่ดำเนินการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เป็นอย่างดี”  ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ เริ่มต้นบทสนทนากับเรา โดยระบุว่า หากจะสรุปเส้นทางการพัฒนาโลจิสติกส์ตามแผนแม่บทของประเทศนั้น สรุปได้ดังนี้   

เรื่องแรก  โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างทางเลือกอื่นๆ เพิ่มขึ้นจากเดิมใช้การขนส่งทางถนนเป็นหลักที่ส่งผลต่อต้นทุนโลจิสติกส์สูงมากนั้น ผลงานภายใต้แผนพัฒนาทั้ง  2 ฉบับมาจนถึงปัจจุบันนั้น กล่าวได้ว่า รูปแบบการทำงานก็เหมือนๆ กันหมดนั่นคือ เน้นหนักการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทางรางและทางน้ำหรือการ  “ Shift  Mode ” แต่ผลงานความคืบหน้ากลับยังไม่มีความชัดเจน

  “กล่าวได้ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาโลจิกสติกส์ของประเทศยังไม่เกิดผลให้เห็นเป็นรูปธรรม การ Shift Mode ยังไม่เห็นผลที่พอมองเห็นอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นการพัฒนาท่าเรือเป็นส่วนใหญ่  แต่การขนส่งสินค้าท่าเรือชายฝั่งก็ยังไม่เป็นรูปธรรมอาจจะมีบ้างก็มีบริษัทเอกชนบางรายพยายามดำเนินการเช่น  บริษัท ไทยเวฟ เวอร์เรจ  จำกัด(มหาชนบริษัท SCG จำกัด (มหาชน)  และ บริษัท SCG กรุ๊ป จำกัด”

ขณะที่รัฐบาล คสช. ที่กำลังมุ่งเน้นการลงทุนด้านคมนาคมขนส่งเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เช่นโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) เชื่อมด่านชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น จะมุ่งเน้นเรื่อง Cost Border  การค้าชายแดน โลติสติกส์ข้ามชายแดน ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อย่างโครงการขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2  เพื่อรองรับผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต การปรับปรุงท่าเรือกรุงเทพ ท่าเรือแหลมฉบัง ที่เริ่มมองเห็นเป็นรูปร่างขึ้นมาบ้างแล้ว

 Single Window ทำได้แค่ G to G              

เรื่องที่สอง สิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า พบว่า ยังไม่คืบหน้ามากนัก สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายระเบียบ กฎเกฎฑ์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตเพื่อการนำเข้า – ส่งออก ที่เกี่ยวโยงถึง 36 หน่วยงาน การยกระดับการพัฒนาขั้นตอนการออกใบอนุญาตไปสู่ e – Logistics เป็นระบบ Single Window ในลักษณะ G to G  , G to  B   และ B to B  นั้น

ผลงานการดำเนินงานผลปรากฎว่า มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีความคืบความหน้า โดยในส่วนของกรมศุลกากรคืบหน้าในลักษณะ  G to G   หรือ การส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ การนำเข้า – ส่งออก ของส่วนราชการด้วยกันทั้ง 36 หน่วยงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่มีความก้าวหน้ามาก

 “ยกตัวอย่าง  ประเทศฮ่องกงการธุรกรรมด้านนี้ก้าวหน้ามาไปถึงคงขั้น B to G  และ B to C    แต่บ้านเราความจริงแล้วก็น่าจะดำเนินการเรื่องนี้เสร็จตั้งเริ่มต้นแผนพัฒนาโลจิสติกส์ แห่งชาติ ฉบับที่ 1 เมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา    แต่อย่างไรก็ดีคงจะต้องดำเนินการต่อไป” 

ปั๊มบุคลากรโลจิสติกส์ที่ “เกาไม่ถูกที่คัน” 

เรื่องที่สาม การสร้างศักยภาพบุคลากรด้านโลจิสติกส์ของประเทศซึ่งที่ผ่านมา มีการพัฒนาบุคคลากรด้านนี้กันมาก โดยจากการเช็กตัวเลขกับกระทรวงศึกษาธิการล่าสุดนั้น เฉพาะหลักสูตรในระดับปริญญาตรี มีนักศึกษาที่จบด้านโลจิสติกส์ปีละประมาณ  4,700 คน

แต่สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชาโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ทั้งสถาบันราชภักฎ สถาบันราชมงคล ที่มีเกือบ 100  แห่งนั้นพบว่าส่วนใหญ่กว่า 80% เน้นหลักสูตรด้านการบริหารจัดการ  ( Management Logistics ) มากกว่า ทั้งที่เกินความต้องการของตลาดแรงงานแล้ว แต่กับบุคคลากรหรือแรงงานที่เราต้องการคือแรงงานประเภทช่างเทคนิค  เพราะประเทศกำลังเดินหน้า โครงการรถไฟทางคู่ และการขนส่งทางอากาศ กำลังสร้างศูนย์ซ่อมเครื่องบิน

ฉะนั้น ตลาดแรงงานที่ต้องการมากคือคนที่ดูแลรถไฟ ช่างซ่อมบำรุง คนควบคุมระบบอาณัติสัญญาณรถไฟ รวมถึง การบริหารจัดการเกี่ยวกับรถไฟ และเครื่องบิน เป็นต้น การจะพึ่งพาสถาบันการศึกษาของรัฐวิสาหกิจเองอย่าง โรงเรียนวิศวกรรถไฟ ก็ไม่สามารถพัฒนาได้ทันหรือต่อเนื่อง    “ วันนี้ไม่มีใครพูดถึงบุคลากรด้านรถไฟ และอากาศยานเครื่องบิน  ขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 สายทางในเฟสแรกและที่จะตามมาในเฟส 2 อีกนับสิบสายทาง  เราจำเป็นต้องมีบุคลากรด้านนี้รองรับคือ แรงงานประเภทช่างซ่อมบำรุงรถไฟ   ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ช่างช่อมบำรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ มิฉะนั้นก็ต้องลงเอยด้วยการนำเข้าบุคลากรจากต่างประเทศอีก” 

พัฒนาธุรกิจโลจิกส์ SME ยังน่าห่วง

  1. เรื่องการพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ ภาคการผลิต ที่ประกอบด้วยโลจิสติกส์เพื่อการเกษตร Logistics Supply chain และผู้ประกอบการตัวแทน Logistics Service  Provider : LSP นั้นที่ผ่านมา ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมพยายามเดินหน้าขับเคลื่อน แต่ได้รับจัดสรรงบประมาณน้อย   ทำให้การพัฒนาจึงออกไปในรูปการจัดสัมมนา การดูงานเสียเป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นขณะนี้จะต้องนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนา ตลอดช่วงของ Supply chain ให้มากยิ่งขึ้น กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ที่แบ่งออกเป็น  2 กลุ่มคือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กหรือ SME  ซึ่งในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง บริษัท  SCG,ปตท., มิตรผล นั้นเราไม่ห่วง ธุรกิจเหล่านี้ใช้หลักการบริหารจัดการโลจิสติกส์สมัยใหม่  ใช้ซอฟต์แวร์ มีการลงทุนในศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ เป็นต้น

“อย่างSCG นั้นในอดีต 10 ก่อนศูนย์กระจายสินค้าจะจ้างบริษัทต่างชาติ TNT Express  มาบริหารจัดการศูนย์กระจายสินค้าให้แต่ปัจจุบันน  SCG ดำเนินการบริหารจัดการเองทั้งหมดไปแล้ว แต่ในกลุ่มธุรกิจ SME  ยังน่าเป็นกังวล เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนและยังขาดศักยภาพที่จะดำเนินการเองทั้งหมด ส่วนนี้เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องหาทางพัฒนาศักยภาพของ SME ต่อไป”   

ส่วนเรื่องที่ 5. เรื่องฐานข้อมูลโลจิสติกส์  แม้เราจะมีคณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ หรือ กบส. เปรียบเหมือนเป็นครม. ซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการยังมีอยู่โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการประชุม เวลาประชุมกันทีก็มักพูดแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานมากว่าด้านอื่นๆ ทั้งที่คณะกรรมการพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาตินั้นควรเป็นกลไกเป็นฟันเฟืองให้อนุกรรมการชุดต่าง ๆไปดำเนินการแล้วทำหน้าที่ Monitor แต่ในข้อเท็จจริงนั้นที่ผ่านมากลับปล่อยให้เป็นเรื่องที่แต่ละกระทรวงไปดำเนินการกันเอง ทำให้ท้ายที่สุดแล้วข้อมูลด้านนี้จึงไม่มีการบูรณาการร่วมกัน แต่เป็นไปลักษณะต่างคนต่างทำ

แผนฯ 3 ปรับโจทย์ใหม่ “ทำธุรกิจไทยได้ผลประโยชน์มากที่สุด”

“ ดังนั้นในอนาคตเราต้องปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศเสียใหม่ แผนการพัฒนาโลจิสติกส์แห่งชาติ ฉบับที่ 3 จะมุ่งเน้น “การสร้างรายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์ ”  เพราะประเทศลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์มากมายมหาศาล ธุรกิจภาคบริการสาขาโลจิสติกส์ปัจจุบันเป็นธุรกิจที่ทำรายได้สูงมากประมาณ  8-9 % ของ GDP เราต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจคนไทยได้ประโยชน์มากที่สุด ไม่ใช่ต่างชาติได้ประโยชน์ไป”

ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศฯ กล่าวว่าที่ผ่านมา แม้ภาพรวมของการส้รางความรู้ความเข้าใจด้านโลจิสติกส์ของประเทศจะดีข้ึน เข้าใจความสำคัญของการนำองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์มาใช้กับการพัฒนาองค์กรมากขึ้น แต่การนำองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์มาใช้ ยังคงคงมีช่องว่างระหว่างบริษัทใหญ่และเล็ก กิจการ SME ไม่สามารถจะดำเนินการได้รวดเร็วอย่างที่เราคิดอ่าน ดังนั้นธุรกิจโลจิสติกส์ไทยโดยเฉพาะกิจการ SME นั้นยังน่ากังวล

ประกอบกับการเปิดเสรีทางการค้าตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC) ซึ่งเปิดช่องประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนถือหุ้นไม่เกิน 70 %ก็ไหลบ่าเข้ามาเร็ว ในขณะที่ประเทศยังไม่ได้พัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์อย่างเต็มรูปแบบ  ดังนั้นจึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งปรับตัว

 “เราจะเป็น Hub of  Logistics แต่กลับยังไม่พัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศคงไม่ได้  เม็ดเงินในธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีประมาณ 12 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการโลจิสติกส์  2 หมื่นกว่าบริษัท และมีการจ้างงานประมาณ 8 แสน- 1 ล้านคนนั้นถือซึ่งเป็น Sector ที่ใหญ่มากที่จะต้องเร่งปรับตัวไม่งั้นเราจะถูกเพื่อนบ้านรุกเข้ามาชิงตลาดส่วนนี้ไป”    

 ทั้งนี้ วิธีคิดจึงต้องวางกลยุทธ์ใหม่ ไม่ใช่สร้างโครงการพื้นฐานไว้ แต่เอื้อให้ต่างชาติได้ประโยชน์ไป แต่ต้องคิดให้ได้ว่า จะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจโลจิสติกส์ของประเทศได้อย่างไร

 คำตอบน่าจะขึ้นอยู่กับกาลเวลา แต่สิ่งสำคัญที่สุด ขึ้นอยู่กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไล่ไปตั้งแต่ ผู้นำรัฐบาล  คณะรัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวงต่างๆ  ตลอดจนหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องพร้อมลงมือปฏิบัติและเอาจริงเอาจังกับกลยุทธ์ที่วางไว้ตามแผนมากน้อยแค่ไหน” ผอ.ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านโลจิสติกส์ กล่าวในท้ายที่สุด