ท่าอากาศยานดอนเมืองจัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม

ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังในท่าอากาศยานและส่งผลกระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินและผู้โดยสาร

0
190

ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมขังในท่าอากาศยานและส่งผลกระทบต่อการให้บริการเที่ยวบินและผู้โดยสาร
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2560 เป็นช่วงที่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทย ทำให้ในบางช่วงเวลามีฝนตกหนัก และมีปริมาณน้ำฝนมากจนเกิดเป็นน้ำท่วมขังภายใน ทดม. ซึ่งตามปกติ ทดม. สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้ 80 มิลลิเมตร ในชั่วโมงแรก และชั่วโมงต่อไปประมาณชั่วโมงละ 12 มิลลิเมตร โดย ทอท. ได้จัดทำแผนป้องกันน้ำท่วมภายในท่าอากาศยานไว้แล้ว ดังนี้
1. เตรียมความพร้อมของสถานีสูบระบายน้ำทั้งสถานีสูบน้ำของ ทดม. จำนวน 12 สถานี มีความสามารถระบายน้ำ 48,840 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และกองทัพอากาศ (ทอ.) จำนวน 2 สถานี มีความสามารถในการสูบระบายน้ำ 26,500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง รวมอัตราระบายน้ำ 75,340 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง โดยแบ่งพื้นที่การระบายน้ำเป็น 3 ทิศทาง ได้แก่
– ทิศเหนือ ระบายน้ำจากเขตการบิน (Airside) ผ่านระบบระบายน้ำขนานทางวิ่ง ระบายออกโดยโรงสูบน้ำลงสู่บ่อรับน้ำทางด้านเหนือ และระบายลงสู่คลองเปรมประชากรผ่านท่อลอดถนนวิภาวดีทางด้านเหนือ
– ทิศตะวันออก ระบายน้ำด้านทิศตะวันออกของ ทดม. ลงสู่คลองถนน โดยใช้สถานีสูบน้ำ 11, 12, 13, 14 และโรงสูบน้ำ ทอ.
– ทิศตะวันตก ระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร ผ่านสถานีสูบน้ำ 2 และ 5 ระบายลงสู่ลำรางระบายน้ำข้างถนนวิภาวดีรังสิต โดยใช้โรงสูบ 1 และ 2
2. ประสานงานกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ก่อสร้างท่อระบายน้ำความยาว 900 เมตร จากสถานีสูบน้ำเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองเปรมประชากร โดยดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 ซึ่งช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนเชิดวุฒากาศ
3. ได้ประสานผู้ประกอบการร้านค้าภายในท่าอากาศยาน เพื่อขอความร่วมมือในการกำจัดขยะและเศษวัสดุอย่างระมัดระวัง
4. จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังปริมาณน้ำฝน เพื่อรายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนให้ทราบและสามารถดำเนินการระบายน้ำได้ทันท่วงที ตลอดจนกำจัดเศษวัสดุที่ไหลไปรวมกันบริเวณท่อระบายน้ำ
5. ประสานงานกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อติดตามสถานการณ์สภาวะอากาศและปริมาณน้ำฝน รวมทั้งประสานกับสำนักงานเขตดอนเมืองและกรมทางหลวงในเรื่องการระบายน้ำ เพื่อไม่ให้กระทบต่อชุมชนโดยรอบท่าอากาศยาน
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ทอท. ได้คำนึงถึงการบริหารจัดการการสูบระบายน้ำให้มีความสมดุล โดยไม่สูบระบายน้ำออกมากจนส่งผลกระทบแก่ชุมชนโดยรอบ และไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการให้บริการผู้โดยสารและเที่ยวบินของ ทดม.
สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพน้ำท่วมขังบริเวณลานจอดใน ทดม. ขณะที่มีฝนตกหนัก เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 นั้น บริเวณดังกล่าวเป็นหลุมจอดที่อยู่ระดับต่ำกว่าทางวิ่งประมาณ 65 เซนติเมตร ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการขึ้น – ลงของอากาศยาน เนื่องจากเป็นเพียงน้ำท่วมบริเวณพื้นผิวประมาณ 10 เซนติเมตร โดย ทดม. ใช้ระยะเวลาการระบายน้ำประมาณ 15 – 20 นาที นอกจากนั้น ในช่วงเวลาปกติที่ไม่มีฝนตก ทดม. ได้พร่องน้ำบางส่วนออกนอกท่าอากาศยานล่วงหน้า เพื่อให้เกิดพื้นที่ว่างในการรองรับปริมาณน้ำฝน ตลอดจนกำจัดเศษขยะบริเวณท่อระบายน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น