สรรหาดีดีบินไทยจะลงเอยอย่างไร..?

0
278

LT Society Jun

นิตยสาร LOGISTICS TIME  ฉบับประจำเดือนมิถุนายน 2560  …กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่า.ขึ้นในการสรรหา “ดีดีบินไทย” คนใหม่   หลังจากการสรรหาดีดีการบินไทยยืดเยื้อมานาน 8 เดือน จากผู้สมัคร 9 คน เหลือผ่านคุณสมบัติเพียง 4 คนชิงคำดีดีบินไทย  ประกอบด้วย “ดนุช-วิสิฐ-ธีรวิทย์–ยงสิทธิ์”   ถึงวันนี้ก็งวดใกล้จบทุกที จะเข้าบอร์ดสรุปสองวันนี้แล้ว  …  แต่จะจบอย่างไร เพราะข่าววงในว่าจะไม่เอาใครเลย ก็คือ “ล็อกสเป๊กช์”  ตั้งแต่ต้นจะเอาดีอี ณรงค์ชัย  ว่องธนะวิโมกษ์ เป็นให้ได้ เพื่อเป็นทายาทสืบทอดตำแหน่ง(หรือผลประโยชน์) การสรรหาก็แค่ปาหี่  หลอกให้คนมาสมัคร  แต่ดันติดปัญหาคุณสมบัติ (ผลประโยชน์ทับซ้อน) เพราะ ณรงค์ชัย ออกจากที่เก่าคือแบงก์ CIMB ที่มีธุรกรรมกับการบินไทย ยังไม่เกิน 3 ปี ที่ผ่านมา  ก็เลยลากยาวร่วมครึ่งปี  เพื่อช่วยแก้ พอแก้ไม่ได้ ก็เลยจะล้ม ให้มีรักษาการไปจนกลางปีหน้า ปี 61 ครบ 3 ปี  ค่อยเปิดสรรหาใหม่ ให้ ณรงค์ชัย เป็นขนาดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดยังเล่นพรรคเล่นพวกแบบนี้   ถ้ามาเป็นจะปกครองคนได้ไหม จะว่าพนักงานหรือผู้บริหารคนอื่นใช้เส้นเล่นพวกได้หรือ   แถมอาจถูกร้องเรียนต่อต้าน งานยิ่งเสียไปอีก วันนี้เป็นแค่ดีอี คนการบินไทยก็เหม็นเบื่อแย่อยู่แล้ว

…การบินไทยเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ต้องรับผิดชอบผลกำไร มูลค่าที่ทำให้ผู้ถือหุ้น ที่ผ่านมา การแข่งขันก็หนักขาดทุนสะสม  หนี้สินล้นพ้นตัว ยิ่งต้องมีธรรมาภิบาล  เอามืออาชีพมาแก้ปัญหา    ที่มาสมัครและสัมภาษณ์ไป ก็มีอดีตหัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใหญ่ถึง 3 คน บารมีเป็นดีดีได้ทุกคน   ทำไมไม่เลือก ลากไปปีหน้า ก็ไม่แน่นอนว่าจะมีผู้มีคุณสมบัติและบารมีพออีก เพราะสมัยสรรหา จรัมพโชติกเสถียร มีคนสมัคร 4 คน ผ่านคุณสมบัติแค่ 2 คน แล้วเล่นพรรคเล่นพวกกันแบบนี้    คนเก่งๆไหนจะมาสมัคร  สรุปคือ เอาทั้งบริษัทมารอคนนี้คนเดียว ก็ไม่รู้เก่งมาจากไหน ผลงานยอดเยี่ยมอย่างไร ทั้งประเทศไม่มีคนเก่งคนดีกว่านี้แล้วหรือ..

.ปัญหานี้ก็เกิดจากบอร์ดและคลังชุดนี้แหละบริหารมา 3 ปี เจ๊งเละเทะ  ทั้งที่คู่แข่งทั้งโตทั้งกำไร แต่กลับบิดเบือนโอ้อวดว่าดีขึ้น    แล้วยังจะสืบทอดอำนาจ ทั้งที่ทายาทนี้ก็มีแต่ปัญหา ไม่รู้จะดันทุรังไปทำไม คนพวกนี้ก็ไม่อยู่ตลอดไปหรอก  ตอนนี้ทำเจ๊ง.. แล้วก็แยกย้ายไป แต่บริษัทและพนักงานต้องอยู่ทนรับความเสียหายไป   ก็ไม่รู้ว่าวันไหนหมดอำนาจ แล้ว น่าจะโดนเช็กบิล อาจเดือดร้อนตอนแก่กัน สถานการณ์การบินไทยวันนี้ต้องการความโปร่งใสและธรรมาภิบาลมากที่สุด    เพราะจะมีแผนดี คนดี สถานการณ์ดียังไง    แต่ผู้มีอำนาจตาบอดหรือมีวาระแอบแฝง ก็ทำเจ๊งได้ ถึงเวลาแล้วที่คนการบินไทยต้องแสดงพลัง ต้องปกป้องบริษัท   ไม่ยอมให้มีพฤติกรรมที่สร้างปัญหาแบบนี้อีก

..ชะแว้บไปดูทิศทางเดินหน้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กันบ้าง  เหตุเกิดในระหว่างการประชุมเร่งเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม   สมดิค จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกฯ ถึงกับออกอากาศยัวะ ควันออกหูไม่พอใจเรื่องผลการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของ ร.ฟ.ท. ล่าช้าอย่างมาก    แถมยังจะขอเสนอปรับแผนอีก  รองนายกฯสมคิด ถึงกับยกหูสายตรงถึง รักษาการการรถไฟฯ สั่งการเฉียบห้ามแผนอีก  งบประมาณลงทุนของ ร.ฟ.ท. 5.69 หมื่นล้านบาท แต่ผ่านมา 7 เดือนปรากฎว่าเพิ่งเบิกงบประมาณไปเพียง 1.4   หมื่นล้านบาท หรือแค่ 24%  โครงการรถไฟทางคุ่ 5 สายทางงบลงทุน 5.69 หมื่นล้านบาท มันจะไม่อึดได้อย่างไร ก็รักษาการผู้ว่าการรถไฟฯ ต้องวิ่งรอกทำงานไม่มีเวลาทำงาน วันวันจึงต้องรอแต่เสนอปรับแผน  จนงานเข้า..  ถ้าจะให้รื่นไหลมันต้องล้างบาง เอามืออาชีพมานั่งทำงานแล้ว…

… ช็อตวงการสื่อกันอีกระลอก  “ไทยรัฐทีวี ” ประกาศให้พนักงานลาออกสมัครใจ  ตั้งเป้าลดพนักงานร้อยละ 15 จากจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 700 คน รายงานข่าวจาก บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด เจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยรัฐทีวี ทีวีดิจิตอลระบบความคมชัดสูง (HD) ช่อง 32 ได้ประกาศโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ  ก่อนหน้านี้ เครือเนชั่น เครือมติชน และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย หรือ ไทยพีบีเอส ได้จัดโครงการลาออกด้วยความสมัครใจ หรือ เออลีรีไทร์ไปแล้ว  ..ในยามธุรกิจสื่อเจอกับมรสุมเศรษฐกิจ สื่อยักษ์ใหญ่ยังประกาศลดพนักงาน  ยิ่งทำให้มองเห็นภาพสะท้อนถึงฝีมือผลงาน 3 ปีรัฐบาล คสช. ไม่สามารถคืนสุขให้กับประชาชนคนในชาติ   .สวนทางกับเพลงที่รัฐบาล คสช.เปิดให้ประชาชนรับฟังกันเป็นประจำ  “ เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน  แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา  เราจะทำอย่างซื่อตรง   ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา   แผ่นดินจะดีในไม่ช้า  ขอคืนความสุขให้เธอประชาชน”  ฟังแล้วก็ได้แค่เคลิ้มๆ สักพักเท่านั้นเองหรือ.

.. วกดูข่าวดีดีกันบ้าง ไอเดียกระฉูดบริษัทนครชัยแอร์  จำกัด  ที่เปิดทางให้นำ “ทุเรียน” ขึ้นรถโดยสารได้ เป็นการให้ความร่วมมือส่งเสริมตลาดผลไม้ไทย  สอดรับฤดูทุเรียนกำลังออกสู่ตลาดพอดี    เครือวัลย์  วงศ์รักมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท นครชัยแอร์ บอกว่า  ยินดีต้องรับทุเรียน  เพียงแต่การนำทุเรียนขึ้นรถนั้นขอให้แจ้งล่วงหน้าก่อนเท่านั้น โดยให้แจ้งก่อนทางเราจะจัดเป็นสัมภาระในการเดินทาง  หรือจัดส่งแบบพัสดุก็ได้  บริษัทเปิดบริการให้บรรจุหีบก่อนตามเจ้าที่หน้าแนะนำ  เพราะทุเรียนได้ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่มีทั้งรูปลักษณ์ และกลิ่นที่มีเอกลักษณ์    อินทราภรณ์  ขอชื่นชมและสนับสนุนไอเดียดีๆอย่างนี้  บริษัทรถโดยสารรายอื่นๆ จะเอาแบบอย่างบ้างก็ไม่ว่ากัน

และอีกข่าวเกี่ยวกับปากท้องขาช็อปในยามเศรษฐกิจขาลง   จังหวัดระยอง ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ชวนชาวระยองร่วมโครงการ “คาราวานซีพีเอฟ ปีที่9” ช้อปสินค้าอุปโภค-บริโภคมากกว่า 200 รายการ ราคาลดพิเศษกว่าปกติ 20-40% ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนตอบสนองนโยบายรัฐบาล และส่งเสริมการเข้าถึงอาหารที่ผลิตตามมาตรฐานระดับสากล มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการแก่ชาวไทย   งานนี้  อดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ  บอกว่า ซีพีเอฟ ตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของคนไทยทั่วประเทศในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน   บริษัท จึงร่วมมือกับภาครัฐและภาคีเครือข่ายเดินสายจัดคาราวานซีพีเอฟ ด้วยการนำผลิตภัณฑ์อาหารแบรนด์ ซีพี โดยปี 2560 นี้บริษัทตั้งเป้าเดินสายจัดโครงการใน 6 จังหวัดทั่วประเทศ
…ปิดท้ายด้วยความคิดเห็นบุคคลในแวดวงโลจิสติกศ์ รศ.ดร. .สมพงศ์  ศิรีโสภณศิลป์  รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัวบอกว่า  ปัญหาเทคโนโลยีของเราอยู่ที่ Hard Science ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เขตเศรษฐกิจ EEC  รัฐบาลมีสารพัดแผนและรายละเอียดต่างๆว่า จะสร้างอะไร ด้วยงบประมาณมหาศาล และให้สิทธิประโยชน์อะไร เพื่อดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน   แต่เรากลับไม่เคยมีรายละเอียดและไม่ได้มีการตกผลึกทางความคิดจริงๆเลยว่า เราจะใช้ประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติในการวางรากฐานขีดความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับคนรุ่นใหม่ของไทยได้อย่างไร  บทเรียนมีแล้ว แต่ไม่นำมาเรียนรู้ … เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์มาเป็นสิบๆปีแล้ว  คนของเรา ผู้ประกอบการของเรา มีองค์ความรู้เชิงลึกและความสามารถด้าน Hard science ขั้นก้าวหน้าเกี่ยวกับรถยนต์อะไรบ้าง? ถ้าไม่เลิกอาศัยการพึ่งต่างชาติหายใจแต่เพียงอย่างเดียว แล้วมาพึ่งตนเองบ้าง  หันมาวางกลยุทธ์ในการสร้าง technology และ  transfer technology ด้าน Hard science อย่างจริงจังและอย่างเป็นระบบ โอกาสที่คนรุ่นหลังของไทยจะก้าวทันเทคโนโลยีที่เป็น disruptive technology ก็จะหดถอยไปเรื่อยๆ ในที่สุด เราก็จะกลายเป็นผู้ถูก disrupted หรือ ถูกล่า  .. พบกันใหม่ฉบับหน้า