สถาปนิกดัง “ดวงฤทธิ์” โพสต์จวกปมรถไฟไทย-จีน “อย่ามักง่ายกับประเทศไทย”

0
213

หลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.งัดม.44 ผ่าทางตันรถโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-โคราช ส่งแรงกระเพื่อมให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนักสนั่นโลกโซเชียลโดยเฉพาะประเด็นร้อนการเปิดท่างให้”วิศวกร-สถาปนิกจีน” ไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติ พ.ร.บ.วิศวกร และ พ.ร.บ.สถาปนิก ของไทย 

ล่าสุด ( 18 มิ.ย.) นายดวงฤทธิ์ บญนาค สถานปนิกชื่อดัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัวถึงประเด็นร้อนดังกล่าวว่า

อยากจะกราบเรียนท่านนายกฯที่เคารพว่า ไม่เคยคิดจะขวางเรื่องรถไฟความเร็วสูงปานกลางของท่านเลยนะครับ

แต่จะทำทั้งที ก็ต้องให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ท่านจะลงทุนกันทั้งทีใช้เงินหลายแสนล้านบาท ครม.ก็อย่าทำงานกันแบบข้าราชการชุ่ย ต้องคิดกันให้รอบคอบจากประสบการณ์

รถไฟเส้นนี้และทุกเส้น ต้องเป็น’เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ครับ การขนส่งจากต้นทางไปปลายทาง ต้องคิดเลยว่าจะขน’ใคร’และ’อะไร’บ้างที่จะทำให้เศรษฐกิจเราดีขึ้น การยกที่ดินสองข้างทางรถไฟให้ทางจีนไปพัฒนา เป็นการตกลงที่ขาดสำนึกเรื่องเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง แทนที่คนไทยจะทำมาหากินจากเส้นทางเศรษฐกิจนี้ได้ กลับต้องยกดินแดนให้ต่างชาติไปทำมาหากิน มันเรื่องอะไร เสียเงินให้เขาทำรถไฟ แล้วยังมาเสียดินแดนให้เขาไปอีก เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง

เงินที่ลงทุนทำรถไฟ ก็ไม่ควรมาจากประเทศไทยอย่างเดียว ควรจะเป็นการร่วมลงทุนกัน และไม่ใช่การให้สิทธิผูกขาดในการดำเนินการของบริษัทจีนยาวนานถึง 30 ปี เงินที่ประเทศเราลงไป ไม่มีทางได้คืนมาเลยใน 30 ปีนั้น ผมไม่ได้เกลียดอะไรประเทศจีนเลยนะครับ ผมว่าประเทศเขายอดเยี่ยมมาก มีเงินเยอะ และโครงการแบบนี้สมควรที่เขาจะช่วยเอาเงินมาลงกับเราบ้าง เพิ่อแบ่งเบาภาระของประเทศเล็กๆที่ยากจนอย่างเราบ้าง

การดำเนินการออกแบบและก่อสร้าง จริงอยู่ที่เราทำระบบรถไฟไม่เก่ง แต่เรื่องอาคารและโครงสร้างที่รองรับระบบ ผมเชื่อว่าสถาปนิกวิศวกรไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก ควรจะให้งานออกแบบก่อสร้างแยกเป็นสองส่วน ส่วนไหนเราทำไม่เป็นก็ให้เขาทำไป ส่วนไหนเราทำได้ ก็ใช้กรอบ Local Collaboration ที่สภาสถาปนิกมีอยู่แล้วกับ ASEAN เข้ามาประยุกต์ใช้ก็ได้ ก็สามารถจะทำงานร่วมกับสถาปนิกจีนได้โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี่ (Technology Transfer) ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่จีนใช้พัฒนาประเทศเขาเช่นกัน สามารถทำได้ทันทีไม่ต้องมาสอบอะไร

หรือจะให้สถาปนิกจีน เข้ามาเปิดบริษัทสถาปนิกในไทยเลยก็ได้ พรบ.สถาปนิก เปิดช่องให้สถาปนิกจากทุกชาติเข้ามาทำงานในไทยได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องสอบอะไรเลย แค่เข้ามาเปิดบริษัทในไทย ร่วมงานกับคนไทย ซึ่งถ้าเขาจะมาบริหารระบบรถไฟฟ้านี้ไปอีก 30 ปี วิธีนี้ก็น่าจะเหมาะสมดี ถ้าไม่อยากเข้ามาขอรับใบอนุญาตแบบ ‘ภาคีสถาปนิกพิเศษ’ แบบที่ผมเคยบอกไป และคนไทยเองก็ได้การถ่ายทอดเทคโนโลยี่ที่ว่านี้ไปพร้อมกัน เราจะได้ออกแบบทำกันได้เองซักวันนึง

จะลงทุนจ่ายค่าแบบเขาเป็นหมื่นล้าน*
ก็น่าจะทำให้มันได้ประโยชน์กลับมาที่คนไทยบ้างนะครับ

ท่านนายกฯ อย่าอนุญาตให้ ครม.ของท่านทำงานโดยมักง่ายกับประเทศนี้ โดยใช้อำนาจในฐานะหัวหน้าคสช.ของท่านสั่งการ โดยการฉีกกฎหมาย ข้อตกลงต่างๆที่มีการเจรจาเพื่อผลประโยชน์คนไทยทั้งประเทศมายาวนานหลายปี เพราะคนที่อยู่รอบตัวของท่านโง่ ชุ่ย และขี้เกียจ อีกต่อไปเลยนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นท่านนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบการกระทำทุกๆอย่างที่เกิดขึ้น

ด้วยความเคารพ

*อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ทางคุณไกร สภาวิศวกรนะครับ