‘หอการค้าไทย’ แนะคลังทบทวนภาษีที่ดิน

0
152
หอการค้าไทย เสนอความเห็นสมาชิกทั่วประเทศ 1 แสนคน ให้คลังทบทวนใหม่ ลั่นถ้าจัดเก็บอตราสูง ธุรกิจเตรียมตัวตายหมู่  ภาคปชช.มีหวังอ่วมถ้วนหน้า หวั่นมหาลัยเอกชนขึ้นค่าเทอม -ผู้ประกอบการดาหน้าขึ้นค่าบริการ   
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รวบรวมความคิดเห็นของสมาชิกหอการค้าไทยประมาณ 100,000 ราย ต่อร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ให้กระทรวงการคลังทบทวน เพื่อลดความเดือดร้อนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี), สนามกอล์ฟ, ร้านอาหาร, โรงแรม, มหาวิทยาลัยเอกชน และโรงพยาบาล ที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่มีมูลค่าสูง เพราะหากอัตราภาษีที่ดินใหม่กำหนดในระดับสูง จะเป็นภาระจนทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดกิจการ หรืออาจปรับเพิ่มค่าบริการสูงขึ้น เพื่อความอยู่รอด  เช่น มหาวิทยาลัยเอกชนต้องปรับขึ้นค่าหน่วยกิต ซึ่งจะกระทบต่อนักศึกษา และผู้ปกครองได้
ทั้งนี้ สมาชิกหอการค้าไทยมีข้อกังวลว่า หากฐานภาษี และการกำหนดอัตราภาษีที่ดินฉบับใหม่ มีอัตราการจัดเก็บสูงกว่าฉบับเดิมมาก อาจทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า และเห็นว่าเพื่อความเป็นธรรมควรจะประเมินราคาทุนทรัพย์ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างตามสภาวะเศรษฐกิจ และประเมินราคาที่ดินใหม่ทุก 4 ปี รวมทั้งมีความกังวลถึงความรอบคอบในการออกพ.ร.บ.ฉบับนี้
“ตอนนี้ ได้หารือกับนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เพื่อขอให้ทบทวนร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน ซึ่งรมช.คลังก็ได้รับทราบแล้ว และยินดีที่จะทบทวนให้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมากนัก คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยเห็นด้วยกับโครงสร้างภาษีดังกล่าว แต่ไม่ควรกำหนดเพดานการจัดเก็บในอัตราที่สูงเกินไปจนกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทย ในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว มีอ 15 ข้อ เช่น ควรพิจารณาทบทวนการเก็บภาษีกรณีใช้ประโยชน์ทรัพย์สินเป็นที่อยู่อาศัย ให้ได้รับการยกเว้นภาษี โดยมูลค่ารวมของทรัพย์สินไม่เกิน 50 ล้าน ไม่ต้องเสียภาษี,  พิจารณาขอบเขตอำนาจในการกำหนดอัตราภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ชัดเจน และต้องไม่ให้เป็นภาระประชาชนมากเกินไป,  ควรลดอัตราภาษีให้กับทรัพย์สินที่ผู้เสียภาษีได้รับมาจากมรดก เช่น ทรัพย์สินประเภทโรงพยาบาล  โรงเรียน สวนสัตว์ สถานที่ท่องเที่ยว ฯลฯ เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรพิจารณายกเว้นหรือลดหย่อนภาษีให้กับสถานศึกษา โรงพยาบาล องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร พร้อมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ,  ควรกำหนดเพดานมูลค่าภาษีวงเงินขั้นสูงในการเก็บภาษีแต่ละประเภทให้ชัดเจน, ที่ดินรกร้างว่างเปล่า ควรกำหนดพื้นที่ขั้นต่ำในการให้เก็บภาษี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ภายในปีนี้น่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว และมีแนวโน้มเริ่มใช้กฎหมายใหม่ได้ในปี 62 จากเดิมที่กำหนดไว้จะเริ่มใช้ในปี 61 เพราะระบบยังไม่พร้อม รวมถึงยังมีข้อกังวลในประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น การยกเว้นภาษีที่ดินเพื่ออยู่อาศัยบ้านหลังแรกที่มีมูลค่า 50 ล้านบาท ซึ่งมองว่าสูงเกินไป และการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางส่วนให้กับการดำเนินกิจการบางประเภท เช่น โรงเรียน สถานศึกษา และสนามกีฬา เพื่อลดการผลักดันภาระไปสู่ประชาชน