บ้านปูฯ แถลงผลประกอบการไตรมาส 3 เติบโตแข็งแกร่ง สู่ผู้นำธุรกิจพลังงานยุคใหม่ครบวงจรเต็มรูปแบบ

0
318

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านธุรกิจพลังงานแห่งเอเชีย รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/2560 ของกลุ่มบริษัท โดยมีรายได้จากการขายรวม 720 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 24,674 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 134 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4,592 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา (EBITDA) คิดเป็น 263 ล้านเหรียญสหรัฐ  (ประมาณ 9,013 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิรวม 61 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,090 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 65 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ด้วยแรงหนุนจากราคาตลาดถ่านหินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าลงทุนตามกลยุทธ์ Banpu Greener & Smarter มุ่งมั่นนำพาองค์กรสู่ธุรกิจพลังงานยุคใหม่

นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในไตรมาส 3/2560 การดำเนินงานของธุรกิจถ่านหินเติบโตจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าหงสาและ BLCP เป็นไปตามแผน  นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าลงทุนใน 3 ธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ตามแผนกลยุทธ์ Banpu Greener & Smarter ที่วางไว้ ได้แก่ การขยายกำลังการผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น  การวางระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรในประเทศไทยของ บ้านปู อินฟิเนอร์จี ภายใต้แนวคิด Go Green Together ที่เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้  รวมทั้ง การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในซันซีป กรุ๊ป ผู้นำด้านการให้บริการพลังงานสะอาดแบบครบวงจรรายใหญ่ในสิงคโปร์ และการลงทุนเพิ่มเติมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งที่ 5”

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของกลุ่มบ้านปู สามารถจำแนกตามประเภทธุรกิจได้ดังนี้

ธุรกิจถ่านหิน มีรายได้จากการขาย 664 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 22,755 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จาก
ไตรมาสก่อนหน้า และ มี EBITDA 225 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 7,710 ล้านบาท)  โดยราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของไตรมาสนี้ เท่ากับ 73.83 เหรียญสหรัฐต่อตัน เปรียบเทียบกับราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 50.79 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 23.04 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ซึ่งเป็นผลจากราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจถ่านหินในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีปริมาณขายถ่านหินจำนวน 5.34 ล้านตันใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากสภาวะการผลิตที่ไม่เอื้ออำนวยจากฤดูฝนที่ยาวนานกว่าปกติในช่วงปีนี้

ธุรกิจถ่านหินในประเทศออสเตรเลีย มีผลการดำเนินงานที่ดี ปริมาณขายถ่านหินปรับสูงขึ้นเป็น 3.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 จากไตรมาสก่อนหน้าและลดลงร้อยละ 6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธุรกิจถ่านหินในสาธารณรัฐประชาชนจีน มีผลประกอบการที่สะท้อนสภาวะราคาถ่านหินในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยส่วนแบ่งกำไรจากเหมืองเกาเหอและเฮ่อปี้รวมคิดเป็น 31 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,062 ล้านบาท) ปรับสูงขึ้นร้อยละ 49 จากไตรมาสก่อนหน้า

ธุรกิจไฟฟ้า มีรายได้จากการขายจากธุรกิจ ไฟฟ้า ไอน้ำ และอื่นๆ รวม 48 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,644
ล้านบาท) โดยในไตรมาสนี้ โรงไฟฟ้า BLCP  และโรงไฟฟ้าหงสามีช่วงหยุดซ่อมบำรุงตามแผนที่วางไว้ ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมในจีนรายงานกำไรสุทธิลดลงจากต้นทุนราคาถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจไฟฟ้ามี EBITDA 32 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,096 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 45 จากไตรมาสก่อนหน้า

ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ  มีรายได้จากการขาย และ EBITDA ทรงตัวเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 274 ล้านบาท) และ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 205 ล้านบาท) ตามลำดับ

นอกจากนี้ ด้วยปัจจัยอุปสงค์และอุปทานของก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา บ้านปูฯ จึงลงทุนเพิ่มเติมเป็นแหล่งที่ 5 (NEPA หรือ Northeast Pennsylvania) ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus shale ในมลรัฐเพลซิลเวเนีย ด้วยจำนวนเงิน 210 ล้านเหรียญสหรัฐ  (ประมาณ 7,196 ล้านบาท)  โดยการลงทุนครั้งนี้เป็นการถือครองผลประโยชน์ในฐานะผู้ดำเนินการผลิต และเป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สร้างกระแสเงินสดอยู่แล้ว มีกำไรที่รับรู้ได้ทันที มีความเสี่ยงต่ำ จึงเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มระยะยาวให้แก่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปูฯ ให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

“บ้านปูฯ กำลังเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานแบบครบวงจร ภายใต้กลยุทธ์ Banpu Greener & Smarter การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างชาญฉลาดคุ้มค่า ทั้งในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และแหล่งพลังงานใหม่ๆ) ธุรกิจกลางน้ำ (การบริหารจัดการซัพพลายเชน) และธุรกิจปลายน้ำ (โรงไฟฟ้า) รวมถึงพลังงานทดแทนล่าสุดจากบ้านปู อินฟิเนอร์จี  เรายังคงมองหาโอกาสทางธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ดังกล่าว เพื่อเป็นผู้ให้บริการธุรกิจพลังงานยุคใหม่อย่างเต็มรูปแบบตามไลฟสไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคดิจิตอล ที่ผ่านมา เราดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรด้วยทักษะและวัฒนธรรมการทำงานที่สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของบริษัทฯ ควบคู่กับการสร้างกระแสเงินสดให้แข็งแกร่ง เพื่อมุ่งสร้างการลงทุนแบบยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน” นางสมฤดี กล่าวปิดท้าย