แหวกม่านฟ้าตลาดรถใหญ่ยุโรปปี 61 ควบแรงม้า “วิ่งสู้ฟัด”!

0
384

สมรภูมิรถใหญ่เมืองไทยหลังแหวกม่านปีศักราชใหม่ 2561 น่าจับตาพิเศษถึงกลยุทธ์การตลาด ทิศทางและแนวโน้มการตลาด การปล่อยโปรดักศ์ใหม่ ตลอดถึงการคลอดโปรโมชั่นพิเศษที่แต่ละค่ายรถใหญ่ทั้งสายพันธุ์ญี่ปุ่น จีน และยุโรป จะงัดเป็นหมัดเด็ดหวังดูดกำลังซื้อจากลูกค้าและพุ่งชนยอดขายที่ละค่ายตั้งเอาไว้ ตลอดถึงเป็นการช่วงชิงสัดส่วนตลาดที่เปรียบเสมือนเค้กก้อนโตกองไว้เบื้องหน้าให้ทุกค่ายได้ช่วงชิง

อัตราการเติบโตของตลาดรถใหญ่เมืองไทยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องทุกปี จะพุ่งทะยาน ทรงตัว และหดตัวก็ต้องขึ้นอยู่กับอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในแต่ละปี อันจะเป็นปัจจัยช่วยค้ำจุนให้มียอดขายพุ่งกระฉุด หรือไม่ก็เป็นตัวฉุดรั้งเกิดการทรงตัวเมื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชะลอตัว หากเศรษฐกิจดีที่เป็นผลดีอันเกิดมาจากเครื่องจักรด้านการลงทุนภาครัฐ การส่งออก การลงทุนภาคเอกชน สินค้าภาคเกษตร และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน

ภายใต้ยุทธภูมิเดือดตลาดรถใหญ่เมืองไทยในเซกเม้นต์ตลาดรถสายพันธุ์ญี่ปุ่นคงหนีไม่พ้น 2 มหาอำนาจจากแดนซามูไรอย่าง “อีซูซุและฮีโน่” ช่วงชิงความเป็นแชมป์ยอดขายในแต่ละปี นอกนั้นก็แบ่งสัดส่วนให้ “ยูดีทรัคส์และฟูโซ่”ไล่เบียดแย่งชิงพอหอมปากหอมคอ ขณะที่ค่ายรถบรรทุกจากแดนมังกรที่ระยะหลังไม่หวือหวาเหมือนในอดีต ฟากฝั่งค่ายรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปที่ถูกยกให้เป็นตลาดบนที่แม้จะยอดขายในแต่ละปีไม่มากนักแตะระดับพันคันต้นๆหากวัดกับค่ายรถญี่ปุ่นที่โกยยอดขายไปปีละกว่า 2 หมื่นคัน

ถึงกระนั้น ตลาดรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปก็เป็นหนึ่งสมรภูมิที่นับวันจะเพิ่มดีกรีความดุเดือดขึ้นทุกปี!

“ตลาดรถใหญ่เมืองไทยในเซกเม้นต์รถยุโรปในระยะหลังดุเดือดเข้มข้นขึ้นทุกปี แต่ก่อนมีเพียง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างวอลโว่และสแกนเนียที่เปิดศึกห้ำหั่นกันในแต่ละปี แต่ระยะหลัง 3-4 ปีมานี้มีหลากหลายค่ายกระโดดเข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วย เมื่อในตลาดมีผู้เล่นหลายรายอัตราการแข่งขันก็สูงขึ้นตามไปด้วย คู่แข่งในตลาดจะไม่ใช่แค่ 2 รายอีกต่อไป ดังนั้น การกำหนดกลยุทธ์การตลาดในทุกมิติต้องเห็นเป็นรูปธรรมและโดดเด่น สามารถสร้างแรงจูงใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อที่จะได้ประโยชน์และตอบโจทย์ของลูกค้าได้มากที่สุด เป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดปรากฏการณ์การทำตลาดแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”ปรารภแรกที่ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบรรทุกแห่งอาเซียน (ATF) ยู เจียรยืนยงพงศ์ ประมุขสิบล้ออาเซียนที่จัดได้เป็น “กูรูขนส่งเมืองไทย” อีกท่านหนึ่ง ที่ได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับภาพรวมตลาดรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรป

วอลโว่ VS สแกนเนีย “มวยถูกคู่”

ประเด็นการขับเคี่ยวระหว่าง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่จากสวีเดนอย่างวอลโว่และสแกนเนียนั้น ประมุขขนส่งอาเซียน “ยู เจียรยืนยงพงศ์” สะท้อนมุมมองว่าต้องยอมรับว่าทั้ง 2 ค่ายนี้เข้ามาทำตลาดและอยู่คู่กับสังคมขนส่งเมืองไทยนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว เรียกได้ว่านานกว่าทุกค่ายรถยุโรปที่มีอยู่ในตลาดเวลานี้ เคยผ่านร้อนผ่านหนาวตามห้วงเวลาและวงล้อธุรกิจขนส่งไทยมาอย่างโชกโชน หากจะบอกว่าทั้ง 2 ค่ายรู้ไส้รู้พุงก็อาจจะไม่ผิดเพี้ยนเท่าไหร่นัก และหากเปรียบเป็นมวยก็เป็นมวยที่ถูกคู่กันมาก

“ทั้ง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้มีความได้เปรียบกว่าค่ายอื่นๆ เพราะการเข้าตะบันธุรกิจในเมืองไทยกว่า 30 ปีนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน ย่อมมีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งฐานลูกค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง ศูนย์บริการที่มีครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และที่สำคัญมีโรงงานประกอบในประเทศไทยอีกด้วย ดังนั้น คู่แข่งรายอื่นๆอยากจะเร่งแรงม้าสู่กับทั้ง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่นี้ก็ต้องย้อนกลับถามตัวเองแหล่ะว่ามีดีและความพร้อมทัดเทียมพอกับพวกเขาแล้วหรือยัง จึงไม่แปลกหรอกว่าแต่ละปีทั้ง 2 ค่ายนี้จะช่วงชิงการตลาดกันได้อย่างสูสี ใครจะเข้าป้ายในฐานะแชมป์ยอดขายแต่ละปีก็ต้องขึ้นอยู่ใครจะมีหมัดเด็ดปล่อยไปแล้วโดนเต็มๆ ส่วนค่ายอื่นๆคงต้องใช้เวลาพอสมควรก่อนที่เบียดแข่งกับทั้ง 2 ค่ายนี้ได้”

MAN VS ดาวสามแฉก เบียดแย่งชิง “เบอร์สาม”

ส่วนอีก 2 ค่ายยักษ์ใหญ่จากเยอรมันอย่าง MAN และเมอร์เซเดส-เบนซ์ นั้น ประมุขสิบล้ออาเซียนยู ให้ความเห็นว่า ทั้ง 2 ค่ายหลังนี้มีความเหมือนกันอยู่หลายอย่าง อย่างแรกเป็นค่ายรถใหญ่สายพันธุ์แกร่งจากเยอรมันด้วยกันทั้งคู่ อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยได้ไม่นานมากนัก องค์ประกอบและความพร้อมจึงไม่ค่อยหนีห่างกันเท่าไหร่เช่นกัน จึงเป็นอีกหนึ่งคู่แข่งที่จะเบียดแย่งเป็นค่ายเบอร์สามในเมืองไทย
“หากอยู่ในภาคพื้นยุโรปก็ยากที่ใครปฏิเสธความยิ่งใหญ่ของ 2 ค่ายมหาอำนาจรถใหญ่นี้ได้ ทั้งสมรรถนะ ความแข็งแกร่ง ทนทาน ใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ และอุดมด้วยเทคโนโลยีสูงตามอัตลักษณ์ของความเป็นแบรนด์ยุโรป ที่มีแฟนพันธุ์แท้อยู่ทั่วโลกให้การยอมรับ แต่การเข้าทำตลาดในไทยต้องอาศัยระยะเวลาที่การบ่มเพาะ แม้ยี่ห้อเมอร์เซเดส-เบนซ์จะเข้าบุกตลาดเมืองไทยโดย บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และได้แต่งตั้งให้“เอเชียทรัค” เป็นตัวแทนจำหน่ายและศูนย์บริการแบบครบวงจรของเมอร์เซเดส-เบนซ์ทรัคและบัสแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ขณะที่ค่าย MAN เป็นการทำตลาดโดย MCVT ในเครือตันจง กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์จากสิงคโปร์”

พลังกลยุทธ์การตลาดและบริการหลังการขาย ดัชนีชี้วัด“ดูดกำลังซื้อ”

นอกจากนี้ ประมุขสิบล้ออาเซียนยู ระบุอีกว่ามุมมองส่วนตัวผมแล้วยังมองว่าทั้ง 2 ค่ายยังต้องสร้างความแข็งแกร่งในหลายๆด้านด้วยกันทั้งในด้านวัฒนธรรมองค์กร ฐานลูกค้า และศูนย์บริการ ตลอดถึงโรงงานประกอบ  แต่จุดแข็งของทั้ง 2 ค่ายมีแม่ทัพที่มากด้วยประสบการณ์ในแวดวงรถบรรทุก ย่อมรู้รากเหง้าและธรรมชาติตลาดรถบรรทุกเมืองไทยเป็นอย่างดี อาศัยซุปเปอร์คอนเนคชั่นที่มีอยู่ในมือ บวกกับสไตล์การทำตลาด แบบถึงลูกแบบฉบับคนสิบล้อพันธุ์แท้ เข้าถึงลูกค้าได้ง่าย อย่าลืมว่าเถ้าแก่ขนส่งเมืองไทยบางคนซื้อรถบรรทุกเพราะชื่นชอบและสนิทชิดเชื้อกับผู้ขายเป็นหลัก

“เมื่อการตลาดเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคการตลาดดิจิทัล ทำให้เห็นหลายค่ายงัดกลยุทธ์การตลาดดิจิทัลมากขึ้น สื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นแบรนด์ผ่านโลกโชเชียลมากขึ้น เพราะลูกค้าสามารถเข้าได้ถึงสะดวกรวดเร็ว และเมื่อมีผู้เล่นมากขึ้นในตลาดย่อมส่งผลให้มีการแข่งขันสูงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เริ่มมีเห็นหลายค่ายทำการตลาดแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อย่างเช่น การปล่อยแคมเปญพิเศษดาวน์ 0 % ซึ่งเป็นแนวทางการตลาดที่ไม่ค่อยได้เห็นในกลุ่มตลาดรถพรีเมี่ยมมาก่อน สะท้อนว่าตลาดรถใหญ่ยุโรปเริ่มระอุขึ้นทุกปี”ประมุขสิบล้ออาเซียนยู สรุปปิดท้าย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่ายรถใหญ่ยุโรปในเมืองไทยจะพุ่งชนความยิ่งใหญ่มากน้อยแตกต่างกันภายใต้ห้วงเวลาที่เป็นตัวบ่มเพาะ แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ชัดเมื่อผู้เล่นในตลาดมากหน้าหลายตา ย่อมเกิดแรงเหวี่ยงให้สมรภูมิรถใหญ่จากดินแดนอันไกลโพ้นยุโรปทวีความดุเดือดแน่นอน

ปีนี้ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปีแห่งการเร่งเครื่องควบแรงม้า “วิ่งสู้ฟัด”วัดกึ๋นการตลาดของค่ายรถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปอย่างแท้จริง!