มหากาพย์ประมูลรถเมล์เอ็นจีวี… เมื่อ “เบสท์ริน กรุ๊ป” ซิ่งย้อนศร

0
379

เป็นโครงการสุดอาถรรพ์ ยิ่งกว่าศุกร์ 13 ฝันหวาน Friday the 13th  เสียอีก!…

กับโครงการจัดหารถเมล์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ หรือรถเมล์ NGV จำนวน 4,000 คัน วงเงิน 69,000 ล้านบาทขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 5-6 รัฐบาล ผ่านมือนายกฯ และรัฐมนตรีคมนาคม ไม่รู้กี่สิบคนในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอดโครงการนี้ก็ยัง “ต้องอาถรรพ์” ยักแย่ยักยันไม่ไปไหน!

ย้อนรอยมหากาพย์รถเมล์เอ็นจีวี 

จากจุดเริ่มต้นการดำเนินโครงการในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะให้ยกเครื่องรถเมล์ ขสมก.ด้วยการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เข้ามาให้บริการ ผ่านมายังรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช  และโดยเฉพาะในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ เป็นรมว.คมนาคมนั้น มีความพยายามจะ “กระเตง” โครงการเมล์เอ็นจีวีนี้เข้า ครม. ถึง 2-3 รอบแต่ก็ถูกกระตุกเบรกหัวทิ่มหน้าคะมำอยู่หน้า ครม. นั่นแหล่ะ ผ่านสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ยังผลักดันกันไม่สำเร็จอีก

นัยว่าเพราะเคลียร์หน้าเสื่อผลประโยชน์กันไม่ลงตัว แถมยังไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่สังคมได้ว่าเหตุใดแค่ประมูลจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีเข้ามาให้บริการทดแทนรถเมล์เก่า  แต่ไม่รู้ ขสมก.ไปทำอีท่าไหนถึงได้อัดใส่เทคโนโลยีสุดไฮเทคเข้าไปราวกับจัดหารถ “เจมส์บอนด์” จนทำให้สนนราคารถเมล์เอ็นจีวีพุ่งกระฉูดไปถึงคันละกว่า 20 ล้าน แทบจะกลายเป็น “รถเมล์ฝังเพชร” ทั้งที่ราคารถปกติเขาซื้อขายกันแค่คันละ 5-6 ล้านบาทเท่านั้น

ตกมาถึงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศกร้าวจะไม่ยอมให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ได้โครงการนี้ได้ถูก “ล้างไพ่” ยกเลิกการจัดหาแบบบิ๊กล็อตที่ใส่พานกันเอาไว้ก่อนหน้าลงมาเหลืออยู่แค่ 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท แต่ท้ายที่สุดก็ยังจัดซื้อไม่ได้อีก

ก่อนที่รัฐบาลจะจัดทำโครงการนำร่องจัดซื้อรถเมล์เอนจีวี 489 คัน มาใช้ก่อนโดยอ้างความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อทดแทนรถโดยสารเดิมที่ชำรุดเสื่อมสภาพ พร้อมจัดหารถเมล์ไฟฟ้าอีก 200 คัน และปรับปรุงรถเมล์ ขสมก. เก่าอีก 672 คัน ภายใต้งบประมาณดำเนินการ 4,300 ล้านบาทแทน

โครงการเดินหน้าไปอย่างราบรื่น หลังจากประมูลเมื่อปลายปี 2558 ซึ่งผลปรากฏว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC  ชนะประมูลเฉือนบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป ไปเฉียดฉิวแค่ 10 ล้านบาท แต่ก็ถูกบริษัทเบสท์ริน ยื่นฟ้องไปทั่วทิศอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประมูล จนกระทั่งคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การจัดทำเงื่อนไขทีโออาร์เดิมของ ขสมก. อาจสร้างความไม่เป็นธรรมในการประมูลจริง เพราะมีการแยกจัดซื้อตัวรถและระบบซ่อมบำรุงออกจากกัน อาจทำให้โครงการเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ทำให้ที่สุด ขสมก. ต้องล้มการประมูลไป (มติบอร์ด ขสม. 18 พ.ย. 2558) และดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขทีโออาร์ใหม่ รวมการจัดซื้อตัวรถและการซ่อมบำรุงเข้าด้วยกันไปทั้งแพ็คเกจ

หนนี้ปรากฏว่า บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป เป็นผู้ชนะประมูลในวงเงิน 3,389 ล้านบาท ต่ำกว่าราคาประมูลครั้งก่อนกว่า 600 ล้านบาท จน “เสธ.ไก่อู – พลโทสรรเสริญ แก้วกำเนิด” เอาไปตีปี๊บว่า เป็นความสำเร็จอันยิ่งยวดของรัฐบาล คสช. ชุดนี้ที่เข้ามาล้างอาถรรพ์โครงการนี้ได้สำเร็จ แถมราคาที่ประมูลได้ยังต่ำติดดิน และรัฐบาลเตรียมจะเปิดให้บริการเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชนอีกด้วย

15355786_1455871627763999_5156639165346116554_n

จ่อต้องเผชิญ “อาถรรพ์” อีกหน! 

แต่ล่าสุดโครงการนี้จ่อจะต้องอาถรรพ์ล้มลุกคลุกคลานกลับไปนับ 1 ใหม่กันอีกหน หลังบริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูลต้องเผชิญปัญหารถเมล์ที่นำเข้ามาเพื่อเตรียมส่งมอบแก่ ขสมก. ตามสัญญากลับเจอปัญหาใหญ่ เมื่อรถเมล์ที่นำเข้ามาจากมาเลเซียถูกสำนักงานศุลกากรแหลมฉบังอายัดไว้ยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อตรวจสอบใบรับรองถิ่นกำเนิด (Form D) หลังตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รถเมล์ที่บริษัทสำแดงว่านำเข้ามาจากมาเลเซียเพื่อขอใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีนำเข้าจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้น ไม่ได้นำเข้ามาจากมาเลเซียจริง แต่เป็นการนำเข้ามาจากประเทศจีน ที่ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าและแวตในอัตรา 40% ของราคารถ ไม่รวมเงินค่าปรับที่จะเกิดขึ้นอีกพะเรอเกวียน หากผลตรวจสอบพบว่า มีการสำแดงเท็จใบรับรองถิ่นกำเนิด Form D ที่ว่านี้อีก

ทั้งนี้ คุณชัยยุทธ คำคูณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกศุลกากร ระบุว่า จากการตรวจสอบเอกสารที่บริษัทนำแสดงต่อสำนักงานศุลกากรแหลมฉบัง พบว่า การนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวี 100 คันดังกล่าว ไม่เป็นไปตามข้อตกลงสนธิสัญญาเขตการค้าเสรีอาเซียน เพราะไม่ได้ผลิตหรือประกอบที่ต้องใช้ชิ้นส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ในสัดส่วนมากกว่า 40% แต่เป็นการนำเข้ารถเมล์ทั้งคันจากประเทศจีน ผ่านมาเลเซียและนำเข้ามายังประเทศไทยโดยตรง แทบจะไม่มีการเปิดตู้สินค้า ทำให้กรมศุลกากรสงสัยเอกสารที่บริษัทผู้นำเข้าคือ บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า  สำแดงต่อกรมศุลกากรนั้นอาจเป็นเอกสารปลอม จึงได้ทำการอายัดสินค้าไว้เพื่อดำเนินการตรวจสอบ

ขณะที่ นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา  ประธาน เบสท์ริน กรุ๊ป ออกมาตีลูกชิ่ง อ้างไม่รู้ไม่เห็นต่อเอกสารรับรองถิ่นกำเนิด (Form D) ที่ว่านี้ โดยอ้างว่าเป็นเพียงผู้ซื้อรถเมล์จากบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด จากมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งบริษัทก็มีเอกสารยืนยันว่า รถเมล์เอ็นจีวีดังกล่าวต่อและประกอบขึ้นที่มาเลเซีย และมีเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดรับรองส่วนบริษัทจะประกอบจริงหรือไปนำเข้ารถเมล์ทั้งคันจากจีนหรือไม่อย่างไรนั้น บริษัทไม่อาจจะล่วงรู้ได้ พร้อมทั้งยังระบุว่า ก่อนหน้านี้ บริษัทก็เคยยื่นเอกสารชิ้นเดียวกันนี้ให้กรมเพื่ออกของมาแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร  จึงไม่เข้าใจว่าทำไมครั้งนี้ถึงได้เกิดมีปัญหาขึ้น

พร้อมกันนี้ ฝ่ายบริหารเบสท์ริน กรุ๊ป ได้เสนอทางออกโดยบริษัทขอนำรถเมล์ดังกล่าวออกจากท่าเรือเพื่อทำการส่งมอบให้แก่ ขสมก.ไปก่อนเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามนโยบายนายกฯ  หากกรมศุลกากรเห็นว่าบริษัทจะต้องชำระภาษีนำเข้าและแวตเพิ่มเติมก็สามารถหักเงินค้ำประกันที่บริษัทวางไว้กับ ขสมก. 330 ล้านบาท  และหากไม่พอยังมีเงินอีก 3,300 ล้านบาท ที่กระทรวงการคลังจะต้องจ่ายเป็นค่ารถเมล์เอ็นจีวีล็อตนี้อยู่อีก โดยกระทรวงการคลังในฐานะต้นสังกัดกรมศุลกากรสามารถหักเงินจำนวนดังกล่าวได้ แต่หากจะให้บริษัทชำระภาษีหรือวางหลักประกันทางการเงินเพิ่มเติมจำนวน 500 ล้านบาทเศษนั้น ยืนยันว่าทำไม่ได้ เพราะเกินความสามารถที่จะดำเนินการ

“กระทรวงการคลังมีเงินของบริษัทอยู่ในมือ 3,300 ล้านบาท ถ้าบริษัทผิดจริงก็ยึดไปได้เลย ไม่ต้องมีแบงก์การันตีเพิ่มก็ได้  แต่ถ้าบริษัทไม่ผิดก็ต้องคืนเงินเงินมา บริษัทยืนยันว่า ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบว่ารถที่รับมาจากมาเลเซียที่บริษัททำสัญญานั้นผลิตที่ไหนจะไปซื้อมาจากไหนบริษัทไม่ทราบ เพียงแต่ดูว่าตรงตามสเป็คที่กำหนดไว้หรือไม่เท่านั้น” 

 

img_1310เมื่อ “เบสท์ริน กรุ๊ป” ถูกย้อนศร!

ฟังบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารเบสท์ริน กรุ๊ป แล้วก็ยิ่งให้กังขา บริษัทเข้าประมูลราคาโครงการระดับพันล้านหมื่นล้าน แต่กลับอ้างว่า ไม่ได้ตรวจสอบว่าโรงงานที่ไปว่าจ้างให้ผลิตรถเมล์ส่งมอบให้นั้นมีตัวตนจริงหรือไม่อย่างไร

ยิ่งกับข้อเสนอหนทางแก้ไขปัญหา โดยบริษัทจะขอนำรถเมล์ออกจากท่าเรือไปส่งมอบให้แก่ ขสมก. ก่อนเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา และหากภายหลังผลการตรวจสอบพบว่า เอกสารฟอร์มดีที่บริษัทสำแดงไปเป็นเท็จต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าและค่าปรับเพิ่มก็ให้ไปหักเอาจากวงเงินค้ำประกันโครงการ และวงเงินที่รัฐต้องจ่ายค่าสินค้าหรือรถเมล์ให้แก่บริษัทอยู่แล้วแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว เพราะไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของรัฐที่จะไปแก้ไขปัญหาให้ใคร

แม้กระทรวงการคลังจะเป็นเจ้าของเงิน แต่โครงการนี้เป็นโครงการของ ขสมก. รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่หากท้ายที่สุดบริษัทไม่สามารถดำเนินการส่งมอบรถเมล์ได้ตามสัญญาไม่เพียงต้องถูกริบหลักประกัน 330 ล้านตามสัญญาแล้ว ยังต้องถูกขึ้นบัญชีดำในการประมูลงานรัฐ ทั้งในอนาคตหาก ขสมก. ต้องประมูลจัดหารถเมล์เอ็นจีวีล็อตนี้ใหม่ในราคาที่แพงขึ้นไปอีกเป็น 100 ล้านหรือ 1,000 ล้านบาท ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนั้นภาครัฐ หรือ ขสมก. ยังต้องมาฟ้องไล่เบี้ยเอาจากบริษัทอีกด้วย! 

หนทางที่เหมาะสมสำหรับเบสท์ริน กรุ๊ป วันนี้ หากบริษัทบริสุทธิ์ใจจริงและไม่ต้องการเผชิญกับปัญหาอันยุ่งยากในอนาคต จึงควรหาทางวางแบงก์การันตีเพิ่มเติมเป็นค่าภาษีลอยไว้กับกรมศุลกากรเพื่อขอนำรถออกไปก่อน เพราะหากผลตรวจสอบพบว่า  บริษัทไม่ผิดกรมศุลกากรต้องคืนแบงก์การันตีส่วนนี้ให้แก่บริษัทอยู่แล้ว แต่หากผิดจริงแม้ในส่วนของบริษัทจะถูกริบภาษีในส่วนนี้ หรือต้องถูกปรับเพิ่มเติม  แต่กระนั้นบริษัทยังคงได้รับเงินจากการส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้แก่ ขสมก. ตามสัญญา 3,300 ล้านบาทนี้ ที่เพียงจะทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มเติมจากภาษีที่ไม่ได้คำนวณไว้นี้เท่านั้น 

และหากรัฐดำเนินการเปิดประมูลโครงการในส่วนที่เหลืออีก  3,183 คัน บริษัทก็ยังมีโอกาสที่จะไปถอนทุนคืนเอาจากโครงการได้กล่าวได้อยู่ แต่หากต้องถูกบอกเลิกสัญญาและขั้นบัญชีดำแล้ว ความเสียหายที่บริษัทจะได้รับนั้นจะร้ายแรงเหลือคณานับ มากกว่านี้หลายเท่าตัว! 

อย่าลืมว่า โครงการเมล์เอ็นจีวีล็อตนี้ แทบจะเรียกได้ว่า  “เบสท์ริน กรุ๊ป” นั้น แทบจะไปแย่งเนื้อออกจากปากเสือ คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าเจวีซีซี (JVCC) ที่ชนะประมูลครั้งก่อน และเฉือนชนะเบสท์ริน กรุ๊ป ไปอย่างเฉียดฉิว10 ล้านบาทเศษเท่านั้น ก่อนที่ ขสมก. จะล้มประมูล และเปิดประมูลใหม่ที่ผลประมูลพลิกล็อก กลายเป็นเบสท์ริน กรุ๊ป เฉือนเอาชนะกลุ่มกิจการร่วมค้า JVCC ไปร่วม 600 ล้าน

หรือว่าเงิน 600 ล้านที่บริษัทเฉือนเอาชนะคู่แข่งมาได้น้ันคือเงินภาษีส่วนที่กำลังมีปัญหาอยู่นี้?!!!