“อธิรัฐ”เผยความคืบหน้าก่อสร้างท่าเทียบเรือ“ท่าเรือสาทร”พร้อมเปิดบริการเม.ย.นี้

0
144

อธิรัฐ รัตนเศรษฐลงพื้นที่ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยสาร “ท่าเรือสาทร” เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เชื่อมโยงระบบขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ ชี้คืบหน้าแล้ว 70% ลั่นรองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,000 คน/วัน คาดแล้วเสร็จภายในมี.ค.65 และพร้อมเปิดให้บริการเม.ย.65  

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ารัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมีนโยบายสำคัญในการพัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับการขนส่งทางน้ำให้มีมาตรฐาน ซึ่งกรมเจ้าท่า (จท.) ได้พัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างต่อเนื่อง สำหรับท่าเรือสาทรให้บริการทั้งท่าเรือโดยสาร ท่าเรือข้ามฟาก และท่าเรือท่องเที่ยว มีพื้นที่ประมาณ 1,088 ตารางเมตร ผู้ใช้บริการเฉลี่ย 15,236 คน/วัน รองรับเที่ยวเรือ 281 เที่ยว/วัน ส่งผลให้ท่าเรือเดิมมีขนาดเล็กและแออัด จท. จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือโดยสาร “ท่าเรือสาทร” ด้วยการขยายพื้นที่ท่าเทียบเรือและพื้นที่โดยรอบ ประมาณ 1,364 ตารางเมตร โป๊ะเทียบเรือขนาด 6×12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน  4 โป๊ะ และโป๊ะเทียบเรือขนาด 9 x17 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 1 โป๊ะ ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานคิดเป็น ร้อยละ 70 อยู่ระหว่างการก่อสร้างทางลาดด้านหน้าท่าเรือ และปรับปรุงโป๊ะ ขนาด 6×12 เมตร พร้อมสะพานปรับระดับ จำนวน 2 โป๊ะ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม พร้อมเปิดให้บริการได้ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งจะสามารถรองรับผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20,000 คน/วัน เป็นการยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ และช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก

ทั้งนี้ จท.ได้ยกระดับพัฒนาท่าเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัย พร้อมเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก และขยายพื้นที่หลังท่ารองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทางน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก ลดระยะเวลาในการเดินทาง รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารทางเรือและทางบก เพิ่มศักยภาพการโดยสารเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สามารถเชื่อมต่อระบบ รถ ราง เรือ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น