กรมรางฯเปิดหวูดปล่อยขบวนรถไฟขนส่งทุเรียนไปจีนเส้นทาง มาบตาพุด–หนองคาย–จีน ระยะทางกว่า 1,750 กม.ย้ำขนส่งทางรางตอบโจทย์ด้านต้นทุน ความน่าเชื่อถือด้านเวลา ปริมาณการขนส่งต่อเที่ยว และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คาดปี 2568 ผลผลิตทุเรียนปีนี้เพิ่มขึ้นกว่า 37% คิดเป็น 1.767 ล้านตัน
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยหลังเป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งทุเรียนไปจีน ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด ว่ากิจกรรมในวันนี้ถือเป็นการต่อยอดจาก “โครงการศึกษาและจัดทำมาตรการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดมลภาวะทางอากาศในภาคขนส่งทางราง” ที่กรมการขนส่งทางรางได้ดำเนินการขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลการศึกษาจากโครงการมาประยุกต์ใช้จริงในเชิงนโยบายและปฏิบัติการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบรางในฐานะทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับการขนส่งสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาในมิติด้านต้นทุน ความน่าเชื่อถือด้านเวลา ปริมาณการขนส่งต่อเที่ยว และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“ทุเรียนถือเป็นผลไม้ส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทยและเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 97% โดยในปี 2567 มีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งรวมกว่า 157,506 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนสดที่มีมูลค่าสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 37% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณรวมราว 1.767 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตหลักอยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อ GDP ภาคเกษตรและการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานทุเรียน โดยที่ผ่านมานั้นการขนส่งทุเรียนของไทยได้พึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทั้งที่การขนส่งทางถนนนั้นมีข้อจำกัดด้านต้นทุน เวลา และความเสี่ยงต่อคุณภาพของผลไม้”
อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ระบุเพิ่มเติมว่าระยะหลังประเทศไทยหันมาปรับเปลี่ยนการขนส่งผลไม้และทุเรียนผ่านทางรางแทนการขนส่งทางถนนให้มากยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 ปริมาณขนส่งผลไม้ทางรางระหว่างไทยไปยัง สปป.ลาว มีปริมาณการขนส่งมากถึง 708 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 17,700 ตัน และในปี 2567 มีปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางจำนวน 1,108 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 27,700 ตัน ซึ่งถือได้ว่าปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางนั้นเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี โดยมีเส้นทางหลักในการขนส่งผลไม้ทางราง คือ เส้นทางจากมาบตาพุด – หนองคาย – ผ่าน สปป.ลาว ไปยังประเทศจีน
“การขนส่งทางรางเส้นทางนี้นับเป็นก้าวแรกของการพัฒนาระบบรางให้รองรับผลไม้ไทยมูลค่าสูงอย่างเป็นระบบ ประกอบกับศักยภาพของเส้นทางนี้ซึ่งมีระยะทางรวมกว่า 1,750 กิโลเมตรที่สามารถเชื่อมต่อโดยตรงสู่ตลาดจีนตอนใต้ เส้นทางรถไฟสายนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเชิงกลยุทธ์สำหรับผลไม้ไทย ไม่เพียงทุเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึง มังคุด ลองกอง ลำไย และผลไม้เน่าเสียง่ายอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบรางในการลดระยะเวลาการขนส่งและรักษาคุณภาพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
นอกจากนี้ ในส่วนการขนส่งทางรางจากการศึกษาเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งสินค้าทางถนนและทางราง พบว่าการขนส่งสินค้าทางถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 2.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่การขนส่งทางรางปล่อยเพียง 0.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลงได้มากกว่า 64.6% ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบรางเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ดร.พิเชฐ ย้ำว่ากิจกรรมครั้งนี้ยังนับเป็นเวทีสำคัญในการสื่อสารผลสัมฤทธิ์ของการบูรณาการงานวิจัยกับการกำหนดนโยบายสาธารณะ และเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่ดีของการส่งเสริม Green Logistics อย่างเป็นรูปธรรม โดยกรมการขนส่งทางรางจะดำเนินการติดตาม ประเมินผล และรวบรวมข้อมูลจากการดำเนินงาน เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบการขนส่งทางรางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจัดทำมาตรการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งทางรางให้เป็นมาตรฐานในระยะยาว และกรมฯยืนยันว่าจะเดินหน้าผลักดันระบบรางให้เป็นหัวใจสำคัญของการขนส่งที่ยั่งยืนในประเทศ และพร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวของไทยและภูมิภาคอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง