ลุ้นส่งออก 61 ทะยานโต 9%

0
108

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่า 21,780 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 16 ที่ 8.2% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) การส่งออกในรูปเงินบาทเท่ากับ 694,113 ล้านบาท ขยายตัว 0.8% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้าในเดือนมิถุนายน 2561 มีมูลค่า 20,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) และการนำเข้าในรูปของเงินบาทมีมูลค่า 652,583 ล้านบาท ขยายตัว 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) ส่งผลให้ เดือนมิถุนายน 2561 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,579 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 41,530 ล้านบาท

การส่งออกของไทยในเดือนมิถุนายน ปี2561 ยังคงสามารถกระจายการขยายตัวได้ดีในเกือบทุกตลาดสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งตลาดหลัก, ตลาดรอง และตลาดศักยภาพ อาทิ สหภาพยุโรป(15), ญี่ปุ่น, จีน, อินเดีย และ CLMV โดยเฉพาะ ตลาดสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายตัวสูงสุดในประวัติการณ์ ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากสงครามการค้าในช่วงที่ผ่านมา จากความกังวลถึงการส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ยกเว้น ตลาดตะวันออกกลาง ที่มีการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบทางภูมิรัฐศาสตร์

ส่งผลให้ ในเดือนมิถุนายน กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายตัวที่ 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย ข้าว, ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป, ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เป็นกลุ่มสินค้าที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และน้ำตาลทราย ที่กลับมาขยายตัวหลังจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องจากอุปทานล้นตลาด ยกเว้น กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป และยางพารา ที่มีการหดตัวในเกือบทุกตลาด เนื่องจากการลดลงของราคายางอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ยังคงขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ที่ 8.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน (YoY) โดย กลุ่มสินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, น้ำมันสำเร็จรูป, เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าที่มีการหดตัวได้แก่ กลุ่มอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด และโซลาเซลล์ และกลุ่ม ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง และส่วนประกอบ

สภาผู้ส่งออก ยังคงคาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 2561 เติบโต 8-9% บนสมมติฐานค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.0 (± 0.5) บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 ส.ค. 61 – 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ) และมีปัจจัยบวกสำคัญประกอบไปด้วย อุปสงค์ที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจคู่ค้าโดยเฉพาะตลาดศักยภาพสูง การขาดดุลการค้าจากการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบอย่างต่อเนื่อง ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ระดับ 66.0 เพิ่มขึ้นจากระดับ 55.5 ในเดือนที่ผ่านมา การส่งออกของไทยมีแนวโน้มกระจายตลาดการส่งออกในตลาดใหม่มากขึ้น ผลกระทบเชิงบวกจากสถานการณ์สงครามการค้า ที่ไทยเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าไทยไปทดแทนกลุ่มสินค้าที่มีการดำเนินการกีดกันการค้า และแนวโน้มทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลาร์สหรัฐฯ เป็นการเพิ่มความความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย และเป็นการเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการไทยในรูปเงินบาท

ขณะที่ ความเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 201 – Safeguard Measure ที่ส่งผลกระทบต่อยอดการส่งออกเครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ ความผันผวนของตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ราคาน้ำมันและราคาแก็สหุงต้มปรับตัวขึ้น อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าวัตถุดิบมาเพื่อผลิต เผชิญปัญหาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสินค้าเกษตรบางรายการยังคงเผชิญสภาวะราคาตกต่ำ โดยเฉพาะยางพารา