“รถไฟพลังไฮโดรเจน”คันแรกโลก! ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ เปิดให้บริการแล้วที่เยอรมัน

0
755

เลาะระเบียงข่าวบนโลกออนไลน์จนเหลือบเห็นข่าวความเคลื่อนไหวระบบขนส่งทางรางจากดินแดนอันไกลโพ้นอย่างเยอรมันมหาอำนาจโลกด้านยนตรกรรมที่ทั่วโลกซูฮกศักยภาพกันดี สิงห์ตะวันเพลิง ใคร่นำเสนอเผื่อเป็นนจุดประกายมุมอยากรู้เห็นอยากเห็นของคนเสพข่าวในยุคโซเซียลยึดครองเมืองมนุษย์แบบเบ็ดเสร็จ

และหวังลึกๆจะเป็นสะกิดต่อมการพัฒนาขององค์ม้าเหล็กไทยไม่ว่าจะโดยปัญญาวิถีใดๆก้ตาม!

ยากที่จะปฏฺิเสธว่านับวันภาวะโลกร้อนตับแตกยิ่งแผ่องศาร้อนปกคลุมเมืองมนุษย์อย่างสาหัสสากรรจ์ ผนวกกับมหาภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆก็ผนึกมิติแห่งความนฤโหดเล่นงานมนุษย์หนักหน่วงขึ้นทุกขณะ เป็นต้นว่าจากพายุธรรมดาก็แปลงร่างเป็นมหาพายุอันน่าสะพรึง ประหนึ่งว่าธรรมชาติกำลังจะเอาคืนมนุษย์อย่างสาสมเหมือนอย่างที่มนุษย์เคยทำลายพวกเขาชนิดไม่เหลือซากเช่นกัน

ปมปัญหาหนักอกอย่างหนึ่งที่ยากยิ่งนักต่อการแก้ไข นั่นก็คือการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ที่มวลมนุษย์ปล่อยออกสู่บรรยากาศมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาจากการผลิตพลังงานและการขนส่งเป็นหลัก ส่งผลให้ทั่วโลกเพรียกหาพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างที่ยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์ทั่วโลกกำลังลุยเต็มพิกัดในเวลานี้

ขณะที่มหาอำนาจโลกด้านยานยนต์อย่างเยอรมันที่ล่าสุดได้เปิดตัว‘รถไฟพลังไฮโดรเจน เพื่อทดแทน ‘รถไฟดีเซลราง’ ว่ากันว่าเป็น “รถไฟพลังไฮโดรเจนคันแรกของโลก” ที่โดดเด่นด้านการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์

ความสำเร็จจากพัฒนาของมหาอำนาจโลกด้านยานยนต์อย่างเยอรมันในครั้งนี้ มาพร้อมกับคอนเซ็ปต์หลักคือ เป็นรถไฟที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero-emissions) โดยพลังงานหลักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนไฮโดรเจนและออกซิเจนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า และกักเก็บพลังงานเอาไว้ในแบตเตอรีลิเทียม-อิออน

รถไฟพลังงานไฮโดรเจน หรือที่ถูกตั้งชื่อว่า Coradia iLint คันนี้ สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ผู้บริหารของ Alstom เชื่อกันว่าความสำเร็จครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และพาเราวิ่งเข้าสู่ยุคใหม่ที่ระบบขนส่งมวลชนจะเป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น และอยากให้มันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยจุดประกายให้ภาครัฐของประเทศต่างๆทั่วโลก สามารถเลือกใช้ได้เพื่อพัฒนาระบบขนส่งของตัวเองนอกเหนือไปจากระบบดีเซลราง

นอกจากวิ่งในเยอรมันแล้ว Alstom ยังอยากให้บริการรถไฟไฮโดรเจนอย่างเต็มรูปแบบมากขึ้น รวมถึงขยายการบริการไปในประเทศอื่นๆ ของยุโรป เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ อิตาลี รวมถึงฝรั่งเศสภายในปี 2022 อีกด้วย

เห็นความคืบหน้าของเยอรมันยักษ์ใหญ่ด้านยานยนต์โลกแล้ว ก็อดไม่ได้ที่ย้อนดูองค์กรม้าเหล็กไทยยังย่ำอยู่กับที่และภาคภูมิใจกับคำล้อเลียนของผู้ใช้บริการที่ว่า “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” พร้อมด้วยหนี้สินท่วมหัว
…กับดับปัญหาอยู่ที่ไหน เชื่อว่าคนรถไฟเองก็น่าจะรู้อยู่เต็มอก
!