กุ้งปี 61 ลดเหลือ 2.9 แสนตัน คาดปีหมู..สดใสเพิ่ม 3 แสนตัน

0
377

ปี 2562 ราคากุ้งจะพุ่งสูงขึ้น ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะมีเพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยตลาดกุ้งเป็นหลักจะชี้ขาด ”

อุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งดำเนินการกันแพร่หลายทั่วโลกทั้งจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกแข่งขันในตลาดโลก   อาทิ  จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย  และ อินเดีย   ไม่ต่างไปจากประเทศไทยที่มีเกษตรกรเลี้ยงกุ้งครอบคลุมหลายจังหวัด  ผลผลิตกุ้งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ  2-3  แสนตันต่อปี

ขณะเดียวกัน การเลี้ยงกุ้งไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องเผชิญกับชะตากรรมต่างๆ  มากมาย อาทิ  โรคตายด่วน (EMS)   ปัญหาตลาดสหภาพยุโรป (EU) ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี( GSP ) เป็นต้น  กับคำถามถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งปี 2561 ที่ผ่านมา เป็นอย่างไร รวมถึงแนวโน้มปี 2562 นี้สดใสหรือไม่

ดร.สมศักดิ์   ปณีตัธยาศัย   นายกสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยกับ “ LOGISTICS TIME ”  ว่า ภาพรวมสถานการณ์ของผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งปี 61ว่า  ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2561 โดยรวมอยู่ที่ประมาณ  290,000  ตัน ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 3 คาดปี 2562 จะผลิตกุ้งได้ 310,000-320,000 ตัน
ประมาณการผลผลิตกุ้งไทย ปี 2561 อยู่ที่ 290,000 ตัน (โดยร้อยละ 33 เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 29  จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ  24  จากภาคตะวันออก และร้อยละ 14  จากภาคกลาง ตามลำดับ) เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งผลิตกุ้งได้ 300,000 ตัน ถือว่าผลิตได้ลดลงเล็กน้อย

ทั้งนี้  เป็นผลพ่วงมาจากสภาพอากาศแปรปรวน ปัญหาโรค และราคากุ้งที่ไม่จูงใจ/ต่ำ  ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ  3.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15   ถือเป็นปีที่หลายประเทศ เช่น เอกวาดอร์  เวียดนาม  อินโดนีเซีย ฯลฯ ผลิตกุ้งได้เพิ่มมากขึ้น อินเดียครึ่งปีแรกผลผลิตทะลักออกมามาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้ากุ้งในประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปี 61 ถือว่าค่อยข้างเหนื่อย  เพราะเกิดปัญหาโรคกุ้ง กระทบกับผลผลิต และยังลุกลามถึงยอดการส่งออกกุ้งไปตลาดต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสงครามทางการค้าสหรัฐ – จีน ที่มีผลกระทบกับตลาดกุ้งของไทย   เนื่องจากสหรัฐเป็นตลาดใหญ่ส่งออกกุ้งของไทย  ขณะเดียวกัน โรคกุ้งตายด่วนหรือ EMS ไม่ผลกระทบน้อยมาก 15 % เท่านั่น แต่กลับมีโรคที่ส่งผลกระทบกลับเข้า เรียกว่า  “โรคตัวแดงดวงขวา” มีผลกระทบถึง 48% และโรคประจำพื้นที่หรือโรคตัวแดงหัวเหลือง ส่งผลกระทบ 17% ดังนั้น ผลผลิตกุ้งที่คาดว่าเพิ่มขึ้น 10% หรืออยู่ที่ 3.3 แสนตัน แต่เอาเข้าจริงลดต่ำอยู่ที่ 2.9 แสนตัน  ส่วนสนนราคาจำน่ายกุ้งปี 2561 เปรียบเทียบกับปี 2560 ราคาปี 2561จะต่ำกว่า 15% กลายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้ผลผลิตไม่คืบหน้า

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งของไทยส่งออกมากถึง 90%  แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าปริมาณส่งออกลดลงอยู่ที่ 85% เพราะมีการบริโภคเพิ่มขึ้นภายในประเทศของนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาจำนวนมากและชอบบริโภคกุ้งไทยมากที่สุด   เนื่องจากกุ้งไทยมีคุณภาพสูง สุขอนามัยดี แถมมีความสดใหม่อร่อย  สำคัญสุดสนนราคาถูกกว่ากุ้งที่ขายในจีนอีกด้วย  ”

สรุปตัวเลขส่งออกกุ้งไทยประจำปี 2561 ( สถิติช่วง 10 เดือน) ส่งออกตลาดสหรัฐ 4 หมื่นตัน ญี่ปุ่น 3.4 หมื่นตัน จีน 1.4 หมื่นตัน กลุ่มประเทศอียู 5.5 พันตัน ในส่วนของตลาดอียู  หากย้อนหลังไปอดีตการส่งออกกุ้งไปตลาดอียู เรามีปัญหา GSP ตอนที่ไม่ถูกตันสิทธิพิเศษหรือ GSP เราส่งออกไปตลาดอียู 7 หมื่นตันเทียบกับปัจจุบันถูกตัด GSP ทำให้ยอดส่งออกลดลงหลายหมื่นตัน  แต่การถูกตัด GSP ทางแก้ไขก็อยู่ที่การเจรจา FTA เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลงการเจราจา FTA หยุดชะงักหลายปีแล้ว

นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวต่ออีกว่า  ปัจจัยสำคัญการเลี้ยงกุ้งต้องบอกว่า การเลี้ยงกุ้งไทยมีประสิทธิภาพการเลี้ยงลูกพันธุ์กุ้งดีเด่นเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศดีกว่าทั้งเวียดนาม อินเดีย พิสูจน์ได้จาการส่งออกไปสหรัฐ ยุโรป สินค้ากุ้งไทยมีประสิทธิภาพไม่มีตีกลับ การเลี้ยงกุ้งเราตัวขนาดใหญ่ ระดับพรีเมี่ยม ประเทศไทยเราเน้นเรื่องนี้มาก   แต่ก็ยอมรับว่าประเด็นราคากุ้งอาจจะมีส่วนทำให้เกิดข้อจำกัดอย่างหนึ่งต่อผลผลิตการเลี้ยง แต่ขณะเดียวกัน ประสิ ทธิการเลี้ยงก็อาจจะเพิ่มผลผลิตกุ้งได้ เช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงกุ้งของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม

“ แต่กระนั้นก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันราคากุ้งไทยจะต่ำ แต่ยังสามารถขายได้เกษตรกรผู้เลี้ยงอยู่ได้ เพราะตลาดส่งออกกุ้งไทยเป็นตลาดพรีเมี่ยม ”

 ชี้ปัจจัยสู่ความสำเร็จคุมต้นทุน รัฐส่งเสริมทุน -สร้างภาพลักษณ์

แนวโน้มปี 2562 เกษตรกรผู้เลี้ยงตระหนักเรื่องนี้ดีมีการแนะนำให้ความรู้กับผู้เลี้ยงกุ้งว่า ควรเลี้ยงกุ้งขนาดใหญ่  ปลอดสารเคมีต่างๆเจือปน ควบคุมต้นทุนการผลผลิต ภาครัฐบาลก็ไม่ได้สนับสนุนต้นทุน ค่าไฟค่อนข้างสูง สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยคือ ช่วยภาพลักษณ์กุ้งไทย หมายถึง การส่งเสริมภาพลักษณ์ในลักษณะไม่ต่างไปจากการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย “เที่ยวไทย สะดวกสบาย”  ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมกุ้งไทย ก็น่าจะบอกว่า กุ้งไทยเป็นเอกลักษณ์

“ที่ผ่านมาประเทศไทยเลี้ยงกุ้งติดอันดับโลก  ติดอันดับโลกมานับ 10 ปีแล้ว  เพิ่งมาประสบปัญหา EMS เมื่อปี 2556 ทำให้เสียแชมป์โลกในช่วงหลังนี้เท่านั้น  ก่อนหน้านั้นไทยเราเป็นแชมป์โลกเลี้ยงกุ้ง  ทางการจีนยังเคยเชิญนายกสมาคมกุ้งไทยไปให้ความรู้การเลี้ยวกุ้งไทยทุกปี  เพราะมองเห็นศักยภาพการเลี้ยงกุ้งได้ปริมาณมาก แม้เป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กๆกว่าจีน”

ปัจจัยถัดมารัฐบาลควรส่งเสริมผู้เลี้ยงรายย่อยให้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งให้เกษตรกรผุ้เลี้ยงกุ้งสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุกได้ เพราะขณะนี้การกู้เงินธนาคารมีปัญหามาก  ขณะที่ประเทศเวียดนามรัฐบาลส่งเสริมเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อพัฒนาแหล่งการเลี้ยงกุ้ง  หากเปรียบเทียบเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราตกเป็นรองเวียดนาม  นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้น  การเลี้ยงกุ้งของไทยยังมีการเลี้ยงที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้าเราถูกกล่าวหาทำลายสภาพแวดล้อม แต่ความจริงไม่ใช่ เราดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

“ ทุกวันนี้แม้ปริมาณการเลี้ยงจะลดลงก็ตาม อันเนื่องจากราคาลดต่ำ  แต่หวังว่าปี 2562 ราคากุ้งจะพุ่งสูงขึ้น ผู้ประกอบการหรือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจะมีเพิ่มปริมาณการเลี้ยงมากยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยตลาดกุ้งเป็นหลักจะชี้ขาด   ”ดร.สมศักดิ์ กล่าวในที่สุด