“บินไทย” ปี 61 ขาดทุนยับ 1.1 หมื่นล้าน

0
94

“บินไทย”แจงผลการดำเนินงานประจำปี 61 ของกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงาน รวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กลุ่มบริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2561 บริษัทการบินไทยฯ ได้รับมอบเครื่องบินใหม่ จำนวน 5 ลำ และปลดระวางเครื่องบินแบบโบอิ้ง B737-400 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบินของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีจำนวน 103 ลำ สูงกว่า ณ สิ้นปีก่อน 3 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบิน 12.0 ชั่วโมง เท่ากับปีก่อน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 2.9% ปริมาณขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 1.0% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.6% ต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยที่ 79.2% โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.3 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 1.0%

ปีนี้ บริษัทฯ มีการเปลี่ยนแปลงทางบัญชี ได้แก่ การเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ จากเดิมร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 6 ของมูลค่าต้นทุนเริ่มแรก ทำให้ค่าเสื่อมราคาของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่ในปี 2561 เพิ่มขึ้น จำนวน 3,129 ล้านบาท และการทบทวนระยะเวลาการรับรู้บัตรโดยสารที่จำหน่ายแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้บริการ จากเดิมรับรู้เป็นรายได้เมื่อบัตรโดยสารมีอายุเกินกว่า 24 เดือน เป็น 15 เดือน นับจากวันที่ออกบัตรโดยสาร ทำให้รายได้ค่าโดยสารสำหรับปี 2561 เพิ่มขึ้น 1,028 ล้านบาท

ปี 2561 การแข่งขันอุตสาหกรรมการบินยังคงรุนแรง ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมจำนวน 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท (3.9%) ทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้ค่าระวางขนส่งไปรษณียภัณฑ์ รายได้จากการบริการอื่นๆ และรายได้อื่นๆ แต่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยมีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 208,558 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19,468 ล้านบาท (10.3%) เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 9,881 ล้านบาท (19.7%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 30.1% อย่างไรก็ตาม มีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 9,802 ล้านบาท (7.3%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยาน ค่าเช่าเครื่องบิน และค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ประกอบกับปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิลดลง 215 ล้านบาท (4.7%) จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2561 ขาดทุนจากการดำเนินงาน 9,058 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 2,856 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจากการรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 3,459 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 911 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 11,569 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 11,625 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.33 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท