สแกนเนีย G 460 กับสมรรถนะสุดแกร่ง!ลากคานวิ่งรถไฟฟ้า Monorail ยาว 30 ม. นน.80ตัน

0
1124

รุ่งแจ้งแสงตะวันรำไรโผล่ทักทายคนกรุงวันนี้(30 มิ.ย.)วันที่ท้องนภาคลื้มฟ้าคลื้มฝน หากใครผ่านมาผ่านไปแถวแยกซอยสามัคคี ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี คงได้เห็นประจักษ์สายตากันแล้วสำหรับคานทางวิ่ง หรือ Guideway Beam 2 ชิ้นแรกของประเทศไทย

ที่ถูกลำเลียงจากโรงหล่อคอนกรีตสำเร็จรูปนนทบุรีด้วยรถหัวลากสแกนเนีย G460 CA6X4HSZ รถใหญ่สายพันธุ์ยุโรปสุดแกร่งเกรดพรีเมี่ยมจากสวีเดน แม้น้ำหนักคานวิ่งรถไฟฟ้า Monorail แต่ละคานจะหนักถึง 80 ตันก็ตาม

ทว่า ด้วยสมรรถนะรถหัวลากสแกนเนีย G460 ที่มีขุมพลัง 460 แรงม้า หนุนให้พลังลากจูงไปถึงจุดหมายสบายๆเหลือๆโดยเป็นการขนส่งเพื่อทำการติดตั้งในพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เมื่อค่ำคืนที่ผ่านมา

ซึ่งขั้นตอนการติดตั้งคานทางวิ่ง (Guideway Beam) ในพื้นที่ปฏิบัติงานเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น เริ่มดำเนินการจากการปิดเบี่ยงจราจรชั่วคราวเพิ่มเติม 1 ช่องทางซ้าย (ชิดพื้นที่ปฏิบัติงาน) ฝั่งขาเข้าและขาออก ตั้งแต่บริเวณแยกสามัคคี ถึงบริเวณคลองบางตลาดในเวลา 22.00 น. และเข้าสู่ขั้นตอนการนำขบวนขนส่งคานทางวิ่งเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานตามลำดับ

ทั้งนี้ ทางผู้รับเหมาก่อสร้าง Steconได้ประกาศตั้งแต่เดือนมิ.ย.62 –มิ.ย.64 เวลา 21.00 -04.00 น.จะมีการดำเนินการขนส่งคานวิ่ง (Guideway Beam) ขนาดความยาว 30 ม.สูง 3.865 ม.จากโรงหล่อคอนกรีตสำเร็จรูปนนทบุรีไปติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

สำหรับคานวิ่งนี้จะเป็นคานวิ่งคู่แรกของรถไฟฟ้า Monorail สายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี ซึ่งเมื่อนับรวมสายสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงแล้ว ก็จะเป็นรถไฟฟ้า 2 สายแรกของเมืองไทย ที่บริษัท BSR (BTS+Shino Thai+ราชบุรีโฮลดิ้ง) ประมูลได้ในรูปแบบร่วมทุนกับรัฐบาล (PPP) และกำลังก่อนสร้างอยู่ในเวลานี้

โดยรถไฟฟ้า Monorail เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคล่อมราง (Straddle Monorail)โครงสร้างยกระดับตลอดสาย มีทางเดินสำหรับการอพยพกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน (Emergency Walkway) ตลอดทางแนวเส้นทาง โดยเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (Feeder Line) ที่จะกระจายความหนาแน่นการระบขนส่งมวลในตัวเมือง และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนหลัก(Main Line) ให้เป็นโครงข่ายอย่างเป็นระบบ

หลายคนคงสงสัยว่าแล้วรถไฟฟ้า Monorail นี้มันโดดเด่นจาก BTS ที่มีการเดินรถอยู่ ซึ่งเป็น Heavy Rail อย่างไร?

รถไฟฟ้า Monorail แม้จะเป็นรอง BTS ในด้านความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารก็ตาม แต่โดดเด่นด้านระยะการก่อสร้างที่เสร็จเร็วกว่ามาก ซึ่งทั้ง 2 สายกำหนดให้เสร็จภายใน 3 ปี 3 เดือน ตามแผนแรกหากไม่ติดขัดปัญหาดราม่าอย่างการส่งมอบพื้นที่แล้วล่ะก็

เร็วสุดปลายปี 64 หรือเผื่อใจช้าอีกนิดหน่อยต้นปี 65 ก็จะใช้บริการรถไฟฟ้า Monorail กันแล้ว!

ทว่า ช่วงการก่อสร้างนี้ผู้สัญจรไป-มาตามสายทาง 2 รถไฟฟ้านี้อาจหงุดหงิดใจกับปัญหาการจราจรติดขัด ก็ขอให้อดทนอีกนิดเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตในเดินทางที่ดีกว่า

คิดซะว่า “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”ล่ะกันครับพี่น้องชาวไทย!

:ขันธ์ธีร์

Cr.ภาพประกอบเพจ โครงสร้างพื้นฐานประเทศไทย