คุ้มค่า!ครบ 1 ปีอุโมงค์เชื่อมผืนป่ามรดกโลก นานาสัตว์ป่าข้ามไป-มาเพียบ

0
568

ทล.เผยกว่า 1 ปีหลังเปิดใช้อุโมงค์เชื่อมผืนป่ามรดกโลกพบรอยเท้า-มูลนานาสัตว์เพียบข้ามไป-มา 2 ผืนป่า ชี้บนอุโมงค์-ใต้ทางยกระดับเชื่อมผืนป่าออกแบบรองรับระบบนิเวศน์ทั้งปลูกหญ้า เถาวัลย์ ทำโป่งเทียม และบ่อน้ำให้สัตว์ป่าได้หากิน ลั่นคุ้มค่าเป็นต้นแบบนำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศในอนาคต

น.ส.ธัญญาภรณ์ ทันโตภาส ผู้อำนวยการกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักแผนงานกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ผลสำเร็จจากการเปิดใช้ทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย (โครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลก) ในส่วนของอุโมงค์และทางยกระดับเชื่อมผืนป่าตั้งแต่ 9 มี.ค.62 ถึงปัจจุบันผ่านไป1ปีกว่าพบว่า บริเวณหลังคาอุโมงค์และใต้ทางยกระดับพบรอยเท้าและมูลสัตว์ป่าข้ามไป-มาทั้งสองผืนป่าระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานจำนวนมากและหลากหลายชนิด

“บนหลังคาอุโมงค์พบรอยเท้าและมูลสัตว์อาทิ หมีควาย กวางป่า เก้ง เลียงผา แมวดาว กระทิงหมาจิ้งจอก อีเห็นธรรมดา หมูหริ่ง หนูหวาย และตัวเงินตัวทอง ส่วนใต้ทางยกระดับเชื่อมผืนป่าพบนกเขาชวา ลิงกัง พังพอนธรรมดา พังพอนเล็ก เม่นใหญ่ หมูป่า และหมาจิ้งจอก เนื่องจากบนอุโมงค์และใต้ทางยกระดับเชื่อมผืนป่าได้ออกแบบรองรับระบบนิเวศน์ทั้งการปลูกหญ้า เถาวัลย์ ทำโป่งเทียม และบ่อน้ำให้สัตว์ป่าได้หากินรวมถึงอุปกรณ์ความปลอดภัยให้สัตว์ป่าเช่น ตาข่ายกั้น มนุษย์ไม่ให้รบกวนสัตว์ป่าทำให้สัตว์เกิดความไว้วางใจ”

น.ส.ธัญญาภรณ์ กล่าวอีกว่า ทล. กับทางอุทยานฯได้ร่วมกันบูรณาการทำงานและติดตามประเมินผลโครงการเชื่อมผืนป่าอย่างต่อเนื่องทั้งด้านประโยชน์ที่สัตว์ใช้งานได้จริง ความคุ้มค่าในการก่อสร้าง ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นต้องปรับปรุงแก้ไขทันที ติดตามประเภทของสัตว์ป่าที่มาใช้ประโยชน์ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน รวมถึงการกระจายตัวในแต่ละพื้นที่

“เบื้องต้นถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับดีทำให้อุโมงค์และทางยกระดับเป็นต้นแบบที่จะนำไปพัฒนาและใช้ประโยชน์ในงานทางของ ทล.เพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศในอนาคต”